กฤษฎีกาตีความห้ามสมาชิกสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.นั่งควบกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
แม้พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือเรียกง่ายๆ ว่า พ.ร.บ.ศอ.บต. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมารองรับอำนาจและการทำหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ จึงยังมีประเด็นที่เป็นข้อข้องใจในการปฏิบัติตามกฎหมายอยู่หลายประเด็น
โดยเฉพาะเรื่องการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในแง่ของสถานภาพ การอยู่ในวาระ และสิทธิการเสนอชื่อเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.
เมื่อไม่นานมานี้ ศอ.บต.ได้มีหนังสือสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.ในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาของผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดย “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อเป็น “กรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต.และการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมาตรา 19 (1) (2) และ (5)
ห้ามสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯนั่งควบกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้มีบันทึกเรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ส่งพร้อมหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0901/1009 ลงวันที่ 16 ส.ค.2554 ลงนามโดย นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อตอบข้อหารือของ ศอ.บต.ใน 2 ประเด็น กล่าวคือ
ประเด็นที่หนึ่ง สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต.ไม่สามารถเป็นผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต. ถูกต้องหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต.ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) โดยให้ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละหนึ่งคนซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยผู้แทนภาคประชาชนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปีและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว แต่มิได้กำหนดให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรรมการ หรือให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้คัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรรมการแต่อย่างใด
จึงเห็นได้ว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้คัดเลือกผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากบุคคลอื่นที่มิใช่สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ กพต. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งถือเป็นตัวแทนของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว
ดังนั้น จึงเห็นว่าสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถเป็นผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
“ผู้บริหารท้องถิ่น-ครู”นั่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาต่อได้แม้พ้นตำแหน่งหลัก
ประเด็นที่สอง สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมาตรา 19 (1) (2) และ (5) แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต.ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าราชการครู เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือเกษียณอายุราชการแล้ว ยังคงเป็นผู้แทนสมาชิกในประเภทของตนและสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ถูกต้องหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต.ได้กำหนดให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมาตรา 19 (1) (2) และ (5) ได้กำหนดให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาจากผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดละหนึ่งคน ผู้แทนกำนันและผู้ใหญ่บ้านจังหวัดละหนึ่งคน และผู้แทนผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติจังหวัดละหนึ่งคน โดยให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้มาจากการเลือกกันเองหรือในแต่ละกลุ่มอาจเลือกบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นผู้แทนสมาชิกในประเภทของตนได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกตามระเบียบ ศอ.บต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ.2554
จึงเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้จำกัดให้การเลือกผู้แทนจากกลุ่มต่างๆ ตามมาตรา 19 (1) (2) และ (5) ต้องเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเท่านั้น แต่สามารถเลือกบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นผู้แทนสมาชิกในประเภทของตนได้ การดำรงตำแหน่งดังกล่าวจึงมิใช่คุณสมบัติที่จะให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเลือก
ดังนั้นในกรณีที่บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าราชการครู ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ต่อมาขณะอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิก บุคคลดังกล่าวได้พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าราชการครู ด้วยเหตุครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือเกษียณอายุราชการแล้วแต่กรณี จึงไม่เป็นเหตุให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายหน้าสำนักงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่เพิ่งจัดทำใหม่ โดยเพิ่มภาษามลายูเข้าไปด้วย นับเป็นมิติใหม่ที่ปรับปรุงหลังกฎหมาย ศอ.บต.มีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรกนับจากมีองค์กรนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 และถูกยุบเลิกไปในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่การตีความกฎหมายเพื่อความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการเดินหน้าทำงานของ ศอ.บต.เช่นกัน (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)