จับทิศทาง! นโยบาย ครม. พล.อ.ประยุทธ์ เน้น 3 เรื่องใหญ่
เปิดทิศทางนโยบาย ครม.พล.อ.ประยุทธ์ เน้นปรัชญา ศก.พอเพียง ป้องกันคอร์รัปชั่น- สร้างความปรองดอง แถลง สนช.ศุกร์ 12 ก.ย.นี้
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เตรียมนำคณะคณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในวันศุกร์ที่ 12 กันยายนนี้
“ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมครม.นัดแรกอย่างไม่เป็นทางการ 9 กันยายน ว่า นโยบายที่จะแถลงต่อสนช.ศุกร์นี้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายกฯ และรัฐมนตรี กำลังตรวจแก้รายละเอียดรอบสุดท้าย ก่อนจะส่งเข้าโรงพิมพ์ภายในวันนี้ และแจกจ่ายให้สนช.อ่านในวันที่ 10 กันยายนนี้
“ดร.วิษณุ” แจงรายละเอียดว่า นโยบายของรัฐบาลจะครอบคลุม 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.การบริหารราชการแผ่นดิน 2. การดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย และ3. สร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์
สำหรับ “การบริหารราชการแผ่นดิน” จะครอบคลุมทุกปัญหาต่างๆ ของประเทศ 11 ด้าน เช่น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการศึกษา การทำนุบำรุงศาสนา การดูแลศิลปวัฒนธรรม ความมั่นคง ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อาเซียน ต่างประเทศ การสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
“ท่านนายกฯได้ให้แนวว่าใน 11 ปัญหานี้ ต้องพูดให้ได้ว่าอะไรคือเรื่องที่จะต้องทำเร่งด่วน โดยระยะกลางต้องทำต่อจากระยะแรก และต้องทำให้เสร็จใน 1 ปี ส่วนระยะยาวอาจจะเห็นผลภายใน 5-10 ปีข้างหน้า เช่น รถไฟทางคู่ สิ่งเหล่านี้ แม้จะเป็นเรื่องในอนาคต แต่รัฐบาลจะวางรากฐานเอาไว้ให้รัฐบาลต่อไปมารับช่วงพิจารณาดำเนินการ นอกจากนี้ท่านนายกฯยังย้ำในนโยบายด้วยว่า สิ่งที่ท่านเคยพูดมาแล้วอาจจะถือเป็นคำขวัญของรัฐบาลนี้ประจำรัฐบาลนี้ คือ ทำก่อน ทำจริง ทำทันที โดยหวังผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน”
ส่วน 'นโยบายการปฏิรูป' รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเป็นสถาปนิกหลักของประเทศ ให้คิดว่าจะออกแบบประเทศอย่างไร แต่รัฐบาลจะให้ความร่วมมือกับสภาปฏิรูปอย่างเต็มที่ โดยสั่งและกำชับให้ข้าราชการทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ และประสานงานกับสภาปฏิรูปฯอย่างใกล้ชิด แต่ไม่แทรกแซง
ที่สำคัญ รัฐบาลจะเปิดเวทีสำหรับการปฏิรูปเพิ่มขึ้น โดยมีสปช.เป็นเวทีทางการของคน 250 คน แต่หากมีคนอื่นที่ยังมีความคิดดีและอยากเสนอความเห็นในการออกแบบประเทศ จะต้องทำให้คนเหล่านี้มีเวที มีพื้นที่สำหรับแสดงความเห็น
เป็นความตั้งใจของรัฐบาลอยู่แล้วว่า 7,300 คนที่สมัครมา สุดท้ายจะมี 250 คนเข้าไปนั่งในสภาปฏิรูปฯ แต่จะมีที่เข้ารอบสุดท้ายประมาณ 550 คน ซึ่งไม่ควรทิ้งขว้างให้เสียเปล่า พวกที่เข้ารอบสุดท้าย รัฐบาลจะส่งเสริมให้สามารถมีที่ยืนในสังคมสำหรับแสดงความเห็นได้ แม้จะไม่ติดสปช.ก็ตาม เช่น ประสานให้คนเหล่านี้ไปเป็นกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษาของสปช.
“กระทั่งคนที่ไม่ได้ถูกคัดเข้าไปในรอบการแก้ไขปัญหา 11 ด้าน คนเหล่านี้ควรจะต้องมีที่ยืนในสังคม หากยังสมัครใจ ไม่เบื่อ มีความคิด ก็จะให้ต้องมีเวทีให้คนเหล่านี้ สำหรับแสดงความเห็น” ดร.วิษณุ ระบุ
สำหรับ “การสร้างความปรองดองสมานฉันท์” รัฐบาลจะรับช่วงมาทำต่อไป หลังจากก่อนหน้านี้ คสช.มอบหมายให้กองทัพ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ศูนย์ดำรงธรรม ทำไปก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการสร้างความปรองดองคือ การขจัดเงื่อนไขความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคม ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ รายได้ จนถึงการอำนวยความยุติธรรม ที่ยังมีคนรู้สึกว่าสองมาตรฐาน รัฐบาลจะพยายามแก้ไขสิ่งเหล่านี้ให้ได้
“ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหานโยบายที่จะใช้แถลง ที่มีหัวใจอยู่ที่การบริหารงานราชการแผ่นดิน 11 ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่แตกรายละเอียดครอบคลุมละเอียดทุกด้าน ทั้งด้านการค้า การทำธุรกิจอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว” รองนายกฯกล่าว
ดร.วิษณุ ยังระบุว่า นโยบายรัฐบาลยึดหลักที่มาจาก 5 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1.นโยบายตามแนวพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งยุทธศาสตร์นี้แทรกซึมไปในนโยบายทุกข้อ
2. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นความพอดี พอควร มีเหตุมีผลและการมีภูมิคุ้มกัน สะท้อนให้เห็นในนโยบายเกือบทุกข้อ
3. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 4. โรดแมปคสช. 3 ระยะ และ5. ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
“ โรดแมปคสช. 3 ระยะ จะอยู่ในนโยบายที่จะแถลงในวันศุกร์นี้อย่างชัดเจน ส่วนความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะในช่วง 3-4เดือนที่ผ่านมาว่าคนส่วนใหญ่ต้องการอะไร เรียกร้องอะไร อยากเห็นอะไร ท่านนายกฯได้เน้นเป็นพิเศษ และให้ใส่ไว้ในนโยบายด้วย”
“ฉะนั้นนโยบายต้องตอบคำถามที่ค้างคาใจของคนให้ได้ เช่น ต้องเกิดความชัดเจนว่าที่อยู่อาศัยของประชาชนจะถูกเวรคืนหรือไม่ ที่ดินจะจัดอยู่ในโซนพื้นที่สีอะไร พื้นที่เกษตรหรืออุตสาหกรรม หรือแม้แต่เรื่องผังเมือง นี่คือตัวอย่างที่ท่านนายกฯได้ระบุขึ้นและต้องการให้มีคำตอบ” ดร.วิษณุ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายกฯยังได้ให้แทรกและปรับปรุงเรื่องป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่นและการปฏิรูปเข้าไปในนโยบายทุกเรื่อง รวมทั้งการเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อทุกอย่างมาถึงจุดหนึ่งเรียบร้อยแล้ว
“ประชาธิปไตย การปฏิรูป และการขจัดการทุจรติคอร์ชั่น จะเป็นวาระแห่งชาติที่แทรกไปอยู่ในนโยบายรัฐบาลทุกหัวข้อ”
ดร.วิษณุ ระบุทิ้งท้ายว่า ท่านนายกฯกำชับว่า ในสัปดาห์หน้าจะประชุมปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติแต่ละกระทรวงเข้าใจ และให้แต่ละกระทรวงทำแผนปฏิบัติการ หรือ Action plan ว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร งบประมาณเท่าใด ใช้เงินจากไหน และจะเกิดผลสำเร็จภายในเวลาเท่าใด โดยทั้ง 20 กระทรวง ต้องทำแบบนี้ในการปฏิบัติราชการ ให้ครอบคลุม 1 ปี แล้วตีพิมพ์เป็นคู่มือในการติดตามงาน การตรวจราชการ เมื่อสิ้นปีจะประมวลผลและทำรายงานประจำปี เพื่อตอบสภาฯต่อไป
ทั้งหมดนี้ คือหัวใจของนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์!