ดีเอสไอขอหมายจับ 7 จนท.รัฐ-เอกชนคดีเช่าที่ดินรถไฟสถานีบ้านไผ่
ดีเอสไอขอศาลหมายจับ 7 ผู้เกี่ยวข้องคดีทุจริตเช่าที่ดินบริเวณสถานีบ้านไผ่ จ.ขอนเเก่น สร้างความเสียหายการรถไฟฯ ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
สืบเนื่องจากในช่วงต้นปี 2553 นายประเสริฐ เหล่าโสภาพันธ์ เข้ามาร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ดำเนินคดีกับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย กรณีทุจริตเช่าที่ดินบริเวณสถานีบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จนเป็นเหตุให้ นายกมล เหล่าโสภาพันธุ์ พี่ชายของผู้ร้องหายตัวไป ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับกรณีการหายตัวไปของนายกมล ฯเป็นคดีพิเศษ ที่ 70/2552 และได้รับกรณีทุจริตที่ดินบริเวณสถานีบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เป็นคดีพิเศษที่ 10/2553 และได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นว่ามีพนักงานการรถไฟซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวข้องในการกระทำผิด จึงชี้มูลความผิดส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ปปช. ดำเนินการตามกฎหมายกำหนด
ต่อมา ในวันที่ 17 ส.ค. 2554 ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องกลับคืนมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตาม ป.วิอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงรับกรณีทุจริตที่ดินบริเวณสถานีบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เป็นคดีที่ 32/2555 และดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พบพฤติการณ์ดังนี้
พฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยสรุป คดีพิเศษที่ 32/2555
กรณี ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ทำการสอบสวนดำเนินคดีอาญาการทุจริตในการเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไฟ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 นาย น. มีหนังสือถึงผู้ตรวจการรถไฟ 2
เพื่อขอเช่าที่ดินของการรถไฟย่านสถานีบ้านไผ่ เพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ จำนวน 15 คูหา ในพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณเดียวกับที่ นายถาวร วรรณวิเชษฐ์ ผู้เช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ย่านสถานีบ้านไผ่ ตามสัญญาเช่าที่ดินเลขที่ 2/01/44/2090 เช่าอยู่ ต่อมาผู้ตรวจการรถไฟ 2 ได้มีบันทึกสั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาพื้นที่ตามที่ นาย น. ขอเช่า หากไม่ติดขัดหรือขัดข้องให้จัดทำ ทด.3 (ทะเบียนตรวจสอบที่ดิน)รายงานเพื่อประกอบการพิจารณาออกประกาศเชิญชวน โดยมีคณะกรรมการตรวจร่วมพื้นที่ประกอบด้วย
1.นาย ช. สบข.ขอ.ปฏิบัติการแทน สบท.ขอ.
2.นาย ป. ช.สรจ.รส ปฏิบัติการแทน สรจ.รส.
3.นาย ม. สดช.รส.ปฏิบัตติการแทน สดร
4.นาย ปร. นดส.ขอ.ปฏิบัติการแทน สสญ.ขอ.
5.นาย อ. นสน.บผ.
6.นาย น. ผู้ขอเช่าที่ดิน
คณะกรรมการตรวจร่วมพื้นที่ได้รายงานและจัดทำบันทึกการตรวจร่วมว่าไม่ขัดข้อง จึงเห็นควรให้ใช้ที่ดินดังกล่าว และเพิ่มพื้นที่ขอเช่าให้มากกว่าเดิม รวมพื้นที่จำนวน 1,680 ตารางเมตร ซึ่งในรายงานบันทึกการตรวจร่วม (ทด.3) ไม่มีรายงานข้อมูลการบุกรุกและการเช่าที่ดินพื้นที่ดังกล่าว และนาย ส.ได้รายงานต่อไปยังผู้ตรวจการรถไฟว่า สภาพพื้นที่เช่ามีอาคารไม้สภาพเก่า จำนวน 1 แถว 6 ห้อง ทั้งที่ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาเช่าที่ดินอยู่กับการรถไฟฯแต่อย่างใด
ผู้ว่าการรถไฟฯ โดยผู้ตรวจการรถไฟ 2 จึงได้ออกประกาศเชิญชวนเสนอราคาค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ในที่ดินเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของการรถไฟย่านสถานีบ้านไผ่ และได้นำประกาศเชิญชวนดังกล่าวมอบให้กองจัดการเดินรถเขต 2 (นครราชสีมา) จัดทำหนังสือส่งและปิดประกาศเชิญชวนให้เป็นไปตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 129 ว่าด้วยการจัดประโยชน์ในทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) ข้อ 7(7) โดยกำหนดให้ยื่นซองเสนอราคาผลการยื่นซองเสนอราคา ซึ่งนาย น. เป็นผู้เสนอราคาตอบแทนสูงสุด
ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 นาย ส. ผู้ตรวจการรถไฟ 2 ปฏิบัติการแทน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงนามในหนังสือที่ ตกฟ.2/7/2548 แจ้ง นาย น. อนุญาตให้เป็นผู้มีสิทธิเช่าที่ดินตามประกาศเชิญชวนพร้อมให้มาชำระค่าเช่าและทำสัญญา ซึ่งก่อนหน้านี้ นาย น. ได้นำหนังสือฉบับเลขที่ ท.561/3 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 ลงนามโดย นาย ส. ผู้ตรวจการรถไฟ 2 ปฏิบัติการแทนผู้ว่าการรถไฟ ซึ่งเป็นหนังสือแจ้งให้ นาย น. ทราบว่า การรถไฟพิจารณาแล้วอนุญาตให้เป็นผู้มีสิทธิเช่าที่ดินตามที่ประกาศเชิญชวนฯ และให้ไปชำระค่าเช่าภายใน 15 วัน และให้ไปติดต่อรับพื้นที่เช่าจากวิศวกรบำรุงทางเขตขอนแก่น ซึ่ง นาย น.ได้นำหนังสือราชการดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมไปใช้แสดงกับนาง ช. เพื่อขอเงินจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อไปชำระค่าเช่าต่อการรถไฟ (เนื่องจากฉบับจริงคือฉบับที่ ตกฟ.2/7/2548 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 วันที่ 8 ธันวาคม2548 นายส. ผู้ตรวจการรถไฟ 2 ปฏิบัติการแทนผู้ว่าฯ ลงนามในสัญญาเช่าที่ดิน กับนาย น. ผู้เช่า ตามสัญญาเช่าเลขที่ ตกฟ.2/201/005/2548 เพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ ย่านสถานีบ้านไผ่ พื้นที่ 1,680 ตารางเมตร ตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว กำหนดเวลาตามสัญญาเช่าที่ดิน 2 ปี โดยนาย น. ใช้สัญญาค้ำประกันธนาคารกสิกรไทย สาขาบ้านไผ่ เป็นหลักประกันสัญญา
วันที่ 15 ธันวาคม 2548 นาย ถ. ผู้เช่าที่ดิน(รายเดิม) ซึ่งได้ชำระค่าเช่าที่ดิน ระหว่างปี 2544-2548 ตามสัญญาเช่าเลขที่2/01/44/2090 บริเวณสถานีบ้านไผ่ ได้ทำหนังสือ ถึงผู้ตรวจการรถไฟ 2 เพื่อให้พิจารณาแก้ไขกรณีที่การรถไฟอนุญาตให้นาย น.เป็นผู้มีสิทธิ์เช่าเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 15 ห้อง เนื่องจากทับซ้อนกับที่ดินที่ตนเองเช่าอยู่ แต่ไม่ได้รับการพิจารณา
วันที่ 16 มีนาคม 2549 นาย ถ. ผู้เช่าที่ดินการรถไฟบริเวณสถานบ้านไผ่ตามสัญญาเช่าเลขที่2/01/44/2090 มีหนังสือถึงผู้ตรวจการรถไฟ 2 เพื่อขอต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินเพื่อกองไม้ชั่วคราว ตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการพิจารณา
วันที่ 20 มีนาคม 2549 นาย ส. ผู้ตรวจการรถไฟ 2 ได้มีข้อสั่งการท้ายหนังสือขอต่อสัญญาเช่าแจ้งให้ จดข.2 และ ศอฉ.ดำเนินการตรวจสอบ และยืนยันเพื่อนำผลเข้าพิจารณา ในคณะทำงาน ในประเด็นว่า 1.มีการเก็บเงินตามสัญญาเช่าถึงปี 2548 เหตุใดไม่ต่อสัญญาเช่าที่ดินให้นายถาวรฯ 2.พื้นที่ดังกล่าวนั้นมีการทำประโยชน์อยู่หรือไม่ เพราะนาย น. ได้ทำสัญญาเพื่อปลูกสร้างอาคารกับการรถไฟฯแล้ว
วันที่ 10 พฤษภาคม 2549 คณะกรรมการผู้ร่วมพิจารณาตรวจสอบพื้นที่กรณีนายถาวรฯขอต่อสัญญาเช่าที่ดินร่วมกันตรวจสอบพื้นที่และทำบันทึกตรวจร่วมรายงานว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์อยู่ แปลงที่ 1.มีรั้วสังกะสีรอบล้อม เก็บกองวัสดุเก่าบางส่วน พื้นที่ 300 ตารางเมตร แปลงที่ 2.มีการปลูกสร้างเป็นโกดังเก็บกองวัสดุก่อสร้าง พื้นที่ 380 ตารางเมตร รวมพื้นที่ 680 ตารางเมตร พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในบริเวณพื้นที่เช่าเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ ของนาย น. ตามสัญญาเช่าเลขที่ ตกฟ.2/201/005/2548 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2548 และได้รายงานผลการตรวจให้ผู้ตรวจการรถไฟ 2 ผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น
จากการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุพบว่ารายงานบันทึกการตรวจร่วม(ทด.3)ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงกับพื้นที่ ที่ได้รับสั่งการให้ไปตรวจร่วมโดยคณะกรรมการตรวจร่วมไม่ลงรายละเอียดข้อเท็จจริงที่ตรวจพบในพื้นที่โดยมีการซ่อนเร้นปกปิดข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือ นาย น. ให้ได้เช่าพื้นที่ของการรถไฟฯซึ่งข้อเท็จจริงพื้นที่ ที่ขอเช่านั้นมีผู้เช่ารายเดิมขอเช่าอยู่ก่อน
คณะกรรมการตรวจร่วมทราบข้อมูลดังกล่าวดีอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุให้ผู้ตรวจการรถไฟ 2 ปฏิบัติการแทนผู้ว่าฯได้ออกประกาศเชิญชวนฯโดยไม่ทราบเรื่องว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้อง(ผู้เช่ารายเดิม)จึงไม่ได้ส่งประกาศเชิญชวนดังกล่าวให้ นาย ถ.ผู้เช่ารายเดิมทราบเป็นเหตุให้ นาย ถ. ไม่ทราบเรื่องและกำหนดการต่างๆตามประกาศเชิญชวน เสียโอกาสเข้าร่วมเสนอราคาในการประมูลครั้งนี้ ได้รับความเสียหาย ประกอบกับ นาย ส.ในฐานะเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณา หรือการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการเสนอราคาตามประกาศเชิญชวน(ผู้ลงนามในสัญญา)รู้หรือมีพฤติการณ์ตามที่กล่าวมาแล้วแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาดังกล่าวมีการกระทำผิดขึ้นแล้ว แต่ละเว้นไม่ยอมดำเนินการให้มีการยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินของการรถไฟฯที่เกิดจากการประกาศเชิญชวนดังกล่าวหรือรายงานเหตุดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาชั้นถัดไปเพื่อพิจารณาสั่งการแต่อย่างใด แต่กลับเชิญคู่กรณี (นาย น. กับนาง ช.ตัวแทนนาย ถ. ผู้เช่าเดิม)มาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ซึ่งต้องกระทำ
คณะพนักงานสอบสวนได้มีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 เพื่อพิจารณาพยานหลักฐานตามที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษผู้รับผิดชอบรวบรวมได้เพื่อพิจารณาว่ามีผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับกรณีคดีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติกล่าวหาผู้กระทำความผิดจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย เอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานความผิดความผิดฐานร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณา หรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10
ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิ์ ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อ ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมาตรา 267
นอกจากนี้ยังมีความเห็นให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้พิจารณาออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 7 ดังกล่าวมาแล้วนั้น เนื่องจากน่าจะได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงตลอดชีวิต และเกรงว่าน่าจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่ออันตรายประการอื่น ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษผู้รับผิดชอบ ที่ได้รับมอบหมายให้ไปยื่นคำร้องขอออกหมายจับ ได้ดำเนินการตามที่ประชุมฯมีมติและศาลอาญาได้อนุมัติให้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 7 คนดังกล่าวแล้ว ตามหมายจับเลขที่
1535/2557,1540/2557,1541/2557,1542/2557,1543/2557,1544/2557และ1545/2557 ลงวันที่ 3 กันยายน 2557 ตามฐานความผิดต่างๆรายละเอียดตามหมายจับดังกล่าวมาแล้ว โดยทำให้การรถไฟฯเสียหายในครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
ภาพประกอบ:www.thaimtb.com