เปิดผลประชุม นบข.สอบโกดังผิดปกติ 16%-จ่อระบายข้าว 18 ล.ตัน 3 ปี
เปิดผลประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2557 สรุปเรื่องการตรวจสอบข้าว-ระบายข้าว พบปกติ 82 % ผิดปกติ 16 % หลังสอบแล้วกว่า 77 % ข้าวเหลือวันที่ 31 พ.ค. 57 อื้อเต็มคลังสินค้า/ไซโล กำหนดระบายข้าว 18 ตันใน 3 ปี 5 แสนตัน/เดือน แย้มอาจใช้ G to G หรือเปิดประมูล - ขายข้าวให้กรมพินิจ-กรมราชทัณฑ์ด้วย
ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมต่างให้ความสำคัญ ไม่แพ้เรื่อง 3 แม่น้ำ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั่นก็คือเรื่องการบริหารจัดการข้าว
โดยภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อวางยุทธศาสตร์การตรวจสอบข้าว และระบายข้าว ขณะเดียวกัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงโกดังข้าว ระบุว่า เตรียมเผยผลสอบข้าวในวันที่ 15 กันยายน 2557 นั้น
อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ได้สรุปผลการประชุมครั้งที่ 2/2557 มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐรวมอยู่ด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org หยิบยกประเด็นดังกล่าวมานำเสนอ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยการตรวจสอบข้อเท็จจริงโกดังข้าวแบบสมบูรณ์ ดังนี้
ผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ
รับทราบผลการดำเนินงานของคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว จำนวน 100 ชุด ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว โดยได้ตรวจสอบทั้งเอกสาร/บัญชีรับ-จ่ายข้าว และตรวจนับปริมาณข้าวในโกดัง/ไซโล รวมทั้งเก็ตตัวอย่างข้าว ในระหว่างวันที่ 3 – 24 กรกฎาคม 2557 โดยได้เข้าตรวจสอบปริมาณข้าวแล้ว จำนวน 1,376 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 77 จากจำนวนคลังสินค้า/โกดัง ทั้งหมด 1,787 แห่ง มีปริมาณข้าวรวมทุกชนิดข้าว ตามบัญชี ณ หน้าโกดัง จำนวน 13,744 ล้านตัน และที่ตรวจนับได้ จำนวน 13,526 ล้านตัน คงเหลือคลังสินค้า/โกดัง ที่ยังไม่ตรวจสอบ จำนวน 411 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 23
สำหรับการตรวจสอบสภาพทางกายภาพของข้าวคงเหลือในคลังสินค้า/โกดัง ที่ตรวจนับเสร็จแล้ว จำนวน 1,290 แห่ง ในเบื้องต้นพบว่ามีสภาพปกติจำนวน 1,065 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82.56 มีสภาพผิดปกติ จำนวน 209 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 16.60 และไม่สามารถระบุสภาพข้าวได้ จำนวน 16 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.24
ส่วนการวิเคราะห์คุณภาพข้าว ได้ส่งไปวิเคราะห์ ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2557 จำนวน 2,765 ตัวอย่าง จำแนกเป็น ทางกายภาพ จำนวน 2,518 ตัวอย่าง ทาง DNA จำนวน 247 ตัวอย่าง โดยมีผลการตรวจวิเคราะห์ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2557
ตัวอย่างข้าวผ่านการตรวจสอบคุณภาพทั้งทางกายภาพ และ DNA จำนวน 186 ตัวอย่าง ไม่ผ่าน 973 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 1,159 ตัวอย่าง
รายงานปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐบาล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557
1.รับทราบปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐบาล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2557 มีคลังสินค้า/ไซโล/คลังสินค้าระบบควบคุมบรรยากาศที่เก็บสต็อกข้าว จำนวน 1,651 คลัง 136 ไซโล/คลังสินค้าระบบควบคุมฯ จำนวน 18,631,655 ตัน แยกเป็น องค์การคลังสินค้า (อคส.) จำนวน 1,192 คลัง 136 ไซโล/คลังสินค้าควบคุมฯ จำนวน 14,115,425 ตัน องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) จำนวน 459 คลัง 4,516,227 ตัน
และหลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 มีการเปิดคลังเพิ่มเพื่อรับมอบข้าว จำนวน 6 คลัง ปริมาณ 166,341 กระสอบ จำแนกเป็น อคส. 4 คลัง จำนวน 130,896 กระสอบ อ.ต.ก. 2 คลัง จำนวน 35,445 กระสอบ
2.รับทราบปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐบาล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีไซโล/คลังสินค้าระบบควบคุมฯ จำนวน 1,668 คลัง 138 ไซโล/คลังสินค้าระบบควบคุมฯ จำนวน 18,862,510 ตัน แยกเป็น อคส. จำนวน 1,208 คลัง 138 ไซโล/คลังสินค้าระบบควบคุมฯ จำนวน 14,291,162 ตัน อ.ต.ก. จำนวน 460 คลัง จำนวน 4,571,348 ตัน
ยุทธศาสตร์ แนวทาง เป้าหมาย แผน และวิธีการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ
1.เป้าหมาย ระบายข้าวในสต็อกของรัฐ จำนวน 18 ล้านตัน ภายในระยะเวลา 3 ปี (เดือนสิงหาคม 2557 – กรกฎาคม 2560)
2.แผนการระบายข้าว ระบายข้าวในปริมาณโดยเฉลี่ย 500,000 ตัน/เดือน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องตามสถานการณ์ข้าวภายในประเทศและต่างประเทศ
3.วิธีการระบายข้าว ให้ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว นำเสนอประธาน นบข. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
3.1 การขายข้าวเพื่อส่งออกต่างประเทศ โดย 1)การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้เจรจาและลงนามทำสัญญาซื้อขายข้าวในนามรัฐบาลไทย 2)ให้กรมการค้าต่างประเทศร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ อคส. และ อ.ต.ก. ขายข้าวให้ลูกค้าต่างประเทศ (G+P) และ 3)ขายให้ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ อคส. และ อ.ต.ก. ที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ
3.2 การประกาศเปิดประมูลขายข้าวเป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการ
3.3 การขายข้าวในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET)
3.4 การบริจาคข้าวในกรณีที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยพิบัติ หรือการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม
การขยายระยะเวลากำหนดวงเงินดำเนินโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร
เห็นชอบในหลักการให้ขยายระยะเวลากำหนดวงเงินดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรคงค้างทั้งหมดที่ให้อยู่ภายในกรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 410,000 ล้านบาท และเงินทุน ธ.ก.ส. ไม่เกิน 90,000 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก เพื่อไม่ให้การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลเกิดการเร่งรีบ จนส่งผลกระทบต่อราคาข้าวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศโดยรวม
ขอรับการสนับสนุนในการจัดซื้อข้าวสารสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขังประจำงบประมาณ พ.ศ.2558
1.เห็นชอบให้จำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ได้แก่ ข้าวสารชนิด 5 % จำนวน 1,714.8 ตัน ในราคาตันละ 10,000 บาท และข้าวสารเหนียว 10 % จำนวน 102.9 ตัน ในราคาตันละ 7,000 บาท
และจำหน่ายให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้แก่ ข้าวสารชนิด 5 % จำนวน 37,000 ตัน ในราคาตันละ 10,000 บาท และข้าวสารเหนียว 10 % จำนวน 12,000 ตัน ในราคาตันละ 7,000 บาท ทั้งนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน จะต้องชำระราคาค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ อคส. ในราคาตันละ 2,100 บาท ด้วย
2.เห็นชอบให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ไปตั้งงบประมาณชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาที่ขอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2557 (ข้าวสารชนิด 5 % ต้องชดเชยตันละ 2,350 บาท ข้าวสารเหนียว 10 % เมล็ดสั้น ต้องชดเชยตันละ 10,950 บาท) เพื่อให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 และส่งคืน อคส. ต่อไป
ทั้งหมดนี้เป็นข้อผลสรุปการประชุมโดยสังเขป ในประเด็นที่เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพข้าว และการระบายข้าวของรัฐ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งไม่น้อยไปกว่าด้านการเมืองและความมั่นคง ดังจะเห็นได้จากการออกมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” แทบทุกครั้ง
ท้ายสุด ผลสรุปฉบับเต็มจะเป็นอย่างไร สามารถเอาผิดใครได้บ้าง ต้องติดตามในวันที่ 15 กันยายนนี้ !
หมายเหตุ : ภาพประกอบ โกดังข้าว จาก aecnews