กรมศิลป์ถอย'ปฐมเจดีย์' ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
กรมศิลป์ถอยขึ้นทะเบียนพระปฐมเจดีย์เป็นมรดกโลก ส่งเรื่องชาวบ้านคัดค้านให้ รมว. วัฒนธรรม นำเข้าตัดสินในที่ประชุมอนุกรรม การมรดกโลก
นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ว่า นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้รายงานผลการประชาพิจารณ์ความเห็นประชาชนเขตรอบองค์พระปฐมเจดีย์ และคนในตลาดเทศบาลนครนครปฐม ที่คัดค้านการเสนอขึ้นทะเบียนองค์พระปฐมเจดีย์เป็นมรดกโลก เพราะเกรงว่าอาจถูกไล่ที่ทำกินเหมือนชาวบ้านรอบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ให้รับทราบแล้ว ทั้งนี้ ได้มอบให้นายธราพงศ์ไปจัดทำรายละเอียด และรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการประชาพิจารณ์ทั้งหมด เพื่อเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ที่นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธาน พิจารณาว่าจะผลักดันเรื่องนี้ต่อหรือยุติแค่นี้ เพราะจะให้กรมศิลปากรตัดสินใจเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ ถ้ามติออกมาอย่างไรจะปฏิบัติตามทันที
นายสุรเชน จันทร์คูณ หัวหน้าสำนักงานจัดประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร อ.เมืองนครปฐม กล่าวว่า เรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ไม่อยากให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันทุกฝ่าย พระธรรมปริยัติเวที เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ฯก็ไม่สบายใจ จะพูดหรือทำอะไรมากก็ไม่ได้ และไม่เหมาะสม อยากให้ทุกคนคิดอย่างมีสติ องค์พระปฐมเจดีย์ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นของคนนครปฐม และคนไทยทุกคน
"การคัดค้านของชาวบ้านอาจเกิดจากความไม่เข้าใจและกลัวว่า จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับทางสำนักงานจัดประโยชน์ฯที่จะไปก้าวก่ายสิทธิหน้าที่ของการออกความคิดเห็น" นายสุรเชนกล่าว และว่า เรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกองค์พระปฐมเจดีย์ เคยมีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2550 แต่ก็ถูกชาวบ้านคัดค้านและยกเลิกไปในที่สุด
ด้านนายสามารถ เที่ยงพูนวงศ์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การขึ้นเป็นมรดกโลกขององค์พระปฐมเจดีย์นั้นเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะเป็นการได้อนุรักษ์ แต่อยู่ที่ประชาชนจะเอาด้วยหรือไม่ นั่นคือต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ แต่ที่รู้มาว่าเรื่องนี้ถูกล้มไปครั้งหนึ่งแล้ว และเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ อยากจะให้ดูพุทธมณฑลเป็นตัวอย่าง มีความสง่างาม เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างให้คงไว้ดังเดิม ภูมิทัศน์โดยรอบไม่อุจาด ไม่มีการรื้อถอนแกะเกลาวัตถุโบราณ
"ผู้ประกอบการค้าในเขตพื้นที่องค์พระปฐมเจดีย์ไม่ต้องกลัวถูกไล่ที่ทำกินเหมือนกับวัดมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา เพราะไม่เหมือนกัน ที่นครปฐมเราทำการค้ากันในลักษณะแผงลอย เลิกทำการค้าเราก็ทำความสะอาดและเก็บกลับบ้านเป็นที่เรียบร้อย" นายสามารถกล่าว
นายมานพ ปัญจกะบุตร อายุ 73 ปี เจ้าของอาคารพาณิชย์หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ กล่าวว่า เกรงว่าเมื่อขึ้นเป็นมรดกโลกแล้วจะส่งผลกระทบความเป็นอยู่เดิม วิถีชีวิตสาธารณะก็จะถูกลิดรอนหรือไม่ เศรษฐกิจการค้าจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเคยถูกรังแกเรื่องการขับไล่ที่ทำกินตลาดซอยกลาง ต้นมะขามมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งคนในเขตเทศบาลกลัวมากและเกรงว่าจะถูกรังแกลักษณะเดียวกันอีก
"การก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารสถานที่เราทำอะไรได้ไม่มาก เพราะเป็นอาคารของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีแบบแผนขั้นตอน มีระเบียบกำกับอยู่แล้วระดับหนึ่ง หากขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถูกครอบคลุมด้วยกฎระเบียบอะไรมากขึ้นไปอีก แล้วสังคมจะอยู่กันได้อย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้กรมศิลปากรเองก็ไม่เคยมาให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน มาถึงก็จะมาสอบถามแล้วก็ไป" นายมานพกล่าว
ด้านนายวรพจน์ จตุวีรวงศ์ เจ้าของร้านนิยมศิลป์ เลขที่ 39 ตลาดบน เทศบาลนครนครปฐม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม กล่าวว่า ไม่รู้เรื่องการทำประชาพิจารณ์เลย หากองค์พระปฐมเจดีย์ได้ขึ้นเป็นมรดกโลก ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร นอกจากป้ายประกาศว่าเป็นมรดกโลก ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวที่มาองค์พระปฐมเจดีย์ก็ไม่เคยเดินออกมาซื้อของในตลาด ผู้ค้าในตลาดจะได้ประโยชน์บ้างก็ช่วงเทศกาลองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งก็น้อยนิด หากต้องมาถูกกดดันด้วยระเบียบของยูเนสโก คงรับไม่ได้แน่นอน
นางสมนึก จันทร์จารุวัฒน์ เจ้าของร้านทองสมนึก ที่ปรึกษาประธานชมรมตลาดบน และกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ยังไม่รู้ข้อมูลที่ชัดเจน กรมศิลปากรต้องมาทำความเข้าใจให้ความรู้กับชาวบ้านมากกว่านี้ หากชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ไม่มีปัญหา หากมีปัญหาก็อย่าดันทุรัง
ที่มาจาก :