เรือเหาะร่อนลงฉุกเฉินที่ยะรัง - "อกนิษฐ์"นั่งที่ปรึกษาคณะพูดคุยดับไฟใต้
เรือเหาะของกองทัพบก (ทบ.) ที่ใช้ในภารกิจเฝ้าตรวจทางอากาศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงจอดฉุกเฉินที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อช่วงก่อนเที่ยงของวันศุกร์ที่ 5 ก.ย.57 หลังทดลองขึ้นบินอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง โดยเรือเหาะลำเดียวกันนี้เคยต้องร่อนลงฉุกเฉินมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปลายปี 2555
รายงานจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.10 น. วันศุกร์ที่ 5 ก.ย.57 เรือเหาะ หรือบอลลูนตรวจการณ์ของ ทบ. ซึ่งปกติจอดอยู่ในโรงจอดในกองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และได้ทดลองบินเป็นประจำเกือบทุกเช้าในระยะหลัง ได้ลงจอดฉุกเฉินบริเวณบ้านต้นทุเรียน หมู่ 6 ต.ยะรัง อ.ยะรัง โดยมีการระบุสาเหตุว่าเกิดจากระบบคันบังคับขัดข้อง
รายงานยังระบุด้วยว่า กำลังพลทุกนายปลอดภัย และหน่วยกำลังในพื้นที่ได้เข้าให้การสนับสนุน นำโดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 (ฉก.ทพ.22) และมีการส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นลาดตระเวนเพื่อคุ้มกันทางอากาศด้วย
เปิดเส้นทางเรือเหาะ350ล้าน!
สำหรับเรือเหาะลำนี้ เป็นยุทโธปกรณ์ของ ทบ.ที่มีปัญหามาตลอด เป็นบอลลูนรุ่น Aeros 40D S/N 21 (SKY DRAGON) ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร)
ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ คือ 0-10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมง ความจุห้องโดยสาร 4 นาย เป็นนักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย
คุณลักษณะทั่วไปของเรือเหาะ คือควบคุมโดยนักบิน ใช้กล้องตรวจการณ์เวลากลางวันและกลางคืนที่สามารถถ่ายภาพและบันทึกภาพความละเอียดสูง สามารถตรวจจับความร้อน รวมทั้งตรวจจับระยะและชี้เป้าหมายได้ ลอยตัวอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน หรือทำการลาดตระเวนตามวงรอบเพื่อปฏิบัติงานด้านการข่าวที่ต้องการด้วยเสียงที่เงียบกว่าอากาศยานประเภทอื่น
10 มี.ค.2552 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ เห็นชอบอนุมัติงบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดหา "ระบบเรือเหาะ" พร้อมกล้องตรวจการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อใช้ในกิจการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศ อันเป็นหนึ่งในยุทธการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ราคาจัดซื้อแบ่งเป็น ตัวเรือบอลลูนราคา 260 ล้านบาท กล้องส่องกลางวันและกลางคืน ราคาประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนอีก 20 ล้านบาทเป็นอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้น ซึ่งทั้งหมดรวมเป็นระบบเรือเหาะ 1 ชุด (แต่ต่อมามีการชี้แจงจากทางกองทัพหลายครั้งด้วยข้อมูลที่แตกต่างกัน จึงไม่ชัดว่าราคาของอุปกรณ์แต่ละส่วนเป็นเท่าใดแน่ เพราะเป็นการจัดซื้อวิธีพิเศษ)
เรือเหาะเหี่ยว-5ปีขึ้นบินยังต้องลุ้น
23 เม.ย.2552 กองทัพบกทำสัญญาจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์จากบริษัท Arial International Cooperation
28 มิ.ย.2552 เรือเหาะถูกส่งถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
18 ธ.ค.2552 เรือเหาะเข้าประจำการณ์ ณ โรงจอดภายในหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กองพลทหารราบที่ 15 อย่างเป็นทางการ โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามความพร้อมของเรือเหาะด้วยตนเอง
15 ม.ค.2553 กองทัพกำหนดให้เป็นวันเริ่มนำเรือเหาะขึ้นปฏิบัติการเป็นครั้งแรก แต่ประสบปัญหาทางเทคนิค ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงยังไม่มีการลงนามรับมอบสินค้าอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิต
5 มี.ค.2553 คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะของ ทบ.จัดทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปติดตามทำข่าว ผลการทดสอบพบปัญหาหลายประการ ทั้งในส่วนของกล้องและตัวบอลลูน ขณะที่มีข่าวเล็ดรอดจากชุดทดสอบว่า เรือเหาะบินสูงได้เพียง 1 ใน 3 ของสเปคเท่านั้น ทำให้ไม่พ้นระยะยิงจากภาคพื้น
9 มี.ค.2553 พล.อ.อนุพงษ์ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี อีกครั้ง เพื่อร่วมตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบเรือเหาะ และพบปัญหาเพิ่มเติมอีกหลายประการ แต่ยังยืนยันว่าระบบโดยรวมใช้งานได้ดี
27 พ.ค.2553 คณะกรรมการตรวจรับฯ ได้ลงนามรับมอบ "บอลลูน" ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเรือเหาะ
9 มิ.ย.2553 รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก แถลงข่าวตอบโต้กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ทุกประเด็น โดยบอกว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องเพดานบินของเรือเหาะที่สเปคกำหนดไว้ 10,000 ฟุต หรือราว 3 กิโลเมตร แต่จากการทดสอบหลายครั้งที่ผ่านมาเรือเหาะตรวจการณ์กลับบินได้เพียง 1 กิโลเมตรนั้น ทางกองทัพอธิบายว่าเพดานบินสูงสุดกำหนดไว้เฉพาะเรือเหาะเปล่าๆ แต่เมื่อติดกล้องเข้าไป และมีเจ้าหน้าที่ขึ้นไปขับ ก็จะทำให้เพดานบินต่ำลง
23 ก.ค.2553 คณะกรรมการตรวจรับฯ ลงนามรับมอบเฮลิคอปเตอร์และกล้องจับภาพที่ใช้กับเรือเหาะ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับมอบครบทั้งระบบ ทั้งๆ ที่ยังมีหลายฝ่ายตั้งคำถาม
19 ส.ค.2553 มีการแฉข้อมูลในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 ว่าเรือเหาะไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากผ้าใบเสื่อมสภาพและมีรูรั่ว
30 ก.ย.2553 พล.อ.อนุพงษ์ เกษียณอายุราชการ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.แทน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.)
20 ก.พ.2554 กองทัพนำเรือเหาะขึ้นบินเพื่อทดสอบ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าได้ขอเปลี่ยนผ้าใบผืนใหม่จากบริษัทผู้ผลิตเรียบร้อยแล้ว
16 มี.ค.2554 พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ตรวจความพร้อมของเรือเหาะครั้งสุดท้ายก่อนใช้งานจริง
ร่อนลงฉุกเฉินปี55-วิจารณ์แซ่ดซื้อแพง
13 ธ.ค.2555 เรือเหาะประสบอุบัติเหตุขณะร่อนลงจอดที่โรงเก็บเรือเหาะ หลังเสร็จภารกิจลาดตระเวนทางอากาศเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ระหว่างลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ตลอดทั้งวัน โดยมีรายงานว่านักบินไม่สามารถควบคุมเรือเหาะได้ ทำให้เรือเหาะไถลไปกับพื้นรันเวย์ จนทำให้ตัวเครื่องได้รับความเสียหายกว่า 50%
ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า ทบ.จัดซื้อเรือเหาะในราคาที่แพงเกินไป และอาจเป็นสินค้ามือสอง รวมทั้งไม่เหมาะสมกับภารกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายกฯอนุมัติโครงสร้างพูดคุยดับไฟใต้
ด้านความคืบหน้าการจัดคณะทำงานเพื่อเริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายของ คสช.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงตามอนุมัติโครงสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่พูดคุยเพื่อสันติสุขฯแล้ว ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ
สำหรับแผนโครงสร้างคณะพูดคุย กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ 3 ระดับ คือ 1.ระดับอำนวยการ มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมาย เป็นประธาน มีกรรมการราว 5-6 คน ทำหน้าที่กำกับนโยบาย ทิศทางภาพรวม และการจัดหางบประมาณ แล้วรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี
2.ระดับคณะพูดคุย ได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีตามการเสนอของระดับอำนวยการ มีหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการพูดคุย และมีคณะทำงานสนับสนุนตามกรอบที่วางไว้อีก 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านการเมือง และคณะทำงานด้านการสร้างความเชื่อมั่นให้ยุติความรุนแรง
3.ระดับพื้นที่ รับผิดชอบโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบภารกิจสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี และสร้างการมีส่วนร่วม โดยเปิดเวทีให้ภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและส่งข้อเสนอแนะไปยังคณะพูดคุย
ดัน"อกนิษฐ์"นั่งที่ปรึกษาคณะพูดคุย
สำหรับหัวหน้าคณะพูดคุยนั้น ล่าสุดมีการยืนยันจากแหล่งข่าวในกองทัพว่า ไม่ใช่ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบก และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ แต่ พล.อ.อกนิษฐ์ จะถูกดันขึ้นไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะพูดคุย ส่วนหัวหน้าคณะพูดคุยตัวจริง ยังไม่มีการแต่งตั้ง
พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวกับ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ว่า หลังจากนี้น่าจะมีภารกิจมาก เพราะมีตำแหน่งเป็น สนช.ด้วย และได้รับการวางตัวเป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญ จึงไม่สามารถรับผิดชอบงานในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯได้
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเจ้าหน้าที่