ไขปริศนาบทที่ 11 ‘มหากาพย์โกงข้าว’ไฉน!หมอวรงค์อยากให้รบ. ‘บิ๊กตู่’ อ่าน
...ผมว่าเป็นเรื่องแปลกมาก เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวจากทุ่ง แล้วอาจจะมีนายหน้าจากท่าข้าวมาซื้อข้าวเปลือกไปขายต่อโรงสี นายหน้าข้าวก็รวย โรงสีที่ซื้อข้าวเปลือกไปสีเป็นข้าวสารก็รวย โกดังที่รับจ้างเก็บข้าวสารก็รวย ผู้ส่งออกที่ซื้อข้าวสารจากโรงสีไปส่งออกก็รวย หรือแม้แต่บริษัทข้าวถุงที่ซื้อข้าวสารจากโรงสีไปบรรจุถุงขายก็รวย เหลือเพียงชาวนาผู้เป็นต้นธารของวงจรข้าว กลับมีความเป็นอยู่ตรงกันข้ามกับคนเหล่านี้ทั้งหมด...
ข้อเขียนตอนหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดไว้ในบทที่ 11 ของหนังสือ ‘ชำแหละโกงจำนำข้าวทุกขั้นตอน มหากาพย์โกงข้าว’ โดยนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (หมอข้าว) อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.พิษณุโลก ที่ครั้งอดีตได้เคยคลุกคลีอยู่กับวงการข้าวด้วยครอบครัวประกอบกิจการโรงสี จึงเรียกได้ว่า “เป็นลูกเถ้าแก่โรงสีข้าวตัวจริงเสียงจริง”
เวลาร่วม 5 ปี หมอสูติ-นรีแพทย์ผู้นี้ได้พิสูจน์ชัดเจนว่าเขาคือ ‘หมอข้าว’ ที่กล้าล้มกระดานโครงการอภิมหาทุจริต ‘รับจำนำข้าว’ ได้ ด้วยสมมติฐานการตั้งราคาที่สูงกว่าตลาดเกือบ 50% ไม่มีทางไปรอด และ ณ เวลานี้ได้ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์แล้ว มีการทุจริตคอร์รัปชันทุกระดับตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ด้วยเหตุนี้จึงมีความมุ่งมั่นที่จะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ลิปส์ สมหวังดังความตั้งใจ เพื่อชี้ให้เห็นครั้งหนึ่งนโยบาย ‘รับจำนำข้าว’ เคยสร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติสูงกว่า 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในวันแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ‘นพ.วรงค์’ บอกว่า อยากให้รัฐบาลภายใต้การนำของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ่านเป็นคนแรก โดยเฉพาะบทที่ 11 ฟ้าใหม่ของชาวนา
...มีปริศนาอะไรอยู่ในบทที่ 11...เหตุใดจึงคาดหวังให้รัฐบาลชุดใหม่อ่านเป็นคนแรก...
เมื่อได้ลองพลิกอ่านเนื้อความที่ผู้เขียนได้พยายามเรียงร้อยขึ้น มีการเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างโครงการประกันรายได้มีความเหมาะสมมากกว่าโครงการรับจำนำข้าว โดยระบุตอนหนึ่งว่า “โครงการประกันรายได้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปขายให้กับบุคคลใด ที่ไหน และเมื่อไรก็ได้ ที่เห็นว่าราคาเป็นที่พึงพอใจ และหากราคาตลาดอ้างอิงต่ำกว่าราคาประกันที่กำหนด เกษตรกรผู้ร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคา ซึ่ง ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากเกษตรกรที่เปิดไว้กับ ธ.ก.ส. โดยเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยทั้งหมด = (ราคาประกัน-ราคาตลาดอ้างอิง) X ปริมาณผลผลิตที่เข้าร่วมโครงการ” (บรรทัดที่ 18 หน้า 200)
ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการควบคู่กับการให้ความรู้เกษตรกรในการพัฒนาศักยภาพการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐโดยตรง จะว่าไปแล้วโครงการดังกล่าวจึงสมประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งชาวนา โรงสี และรัฐ
ขณะที่โครงการรับจำนำข้าว ‘นพ.วรงค์’ ระบุว่า รัฐมาทำธุรกิจค้าข้าวกับเอกชน เข้ามาเกี่ยวข้องในทุกกระบวนการ และมีการทุจริตทุกขั้นตอน โดยเฉพาะในการระบายข้าวที่มีการทุจริตกันยกใหญ่ ดังนั้น เขาจึงมั่นใจว่าโครงการนี้ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับชาวนา
‘หลวงปู่โมเดล’ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น นำมาจากทฤษฎีของหลวงปู่พุทธอิสระ โดยคาดหวังกับรัฐบาลสนับสนุนชาวนารวมกลุ่ม และเป็นผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเปลือกให้มาเป็นข้าวสาร ภายใต้คอนเซปต์ ‘ปลูกเอง สีเอง ขายเอง รัฐช่วยเหลือ’
“...หลักการของเราก็คือสนับสนุนให้ชาวนารวมกลุ่มกัน จะเรียกนิคมสหกรณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ การรวมกลุ่มนี้ต้องเกิดจากความสมัครใจ และเป็นความพร้อมของชาวนา เพื่อทำธุรกิจแปรรูปข้าว โดยที่รัฐให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ ทั้งแหล่งทุนปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งองค์ความรู้...” บรรทัดที่ 18 หน้า 204
นพ.วรงค์ ยังชวนจินตนาการว่า ถ้ารัฐบาลสนับสนุนให้ชาวนารวมกลุ่มทำธุรกิจสีข้าวโดยตรง โรงสีขนาดใหญ่ก็จะไม่กล้ารวมหัวกดราคาข้าวเปลือก เพราะชาวนามีทางเลือกมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีการบรรจุถุงวางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตัวเอง รัฐบาลควรช่วยเหลือให้ส่วนราชการต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน กรมราชทัณฑ์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านพักคนชรา เป็นต้น ซื้อข้าวจากโรงสีชาวนาด้วย โดยที่ธุรกิจโรงสีขนาดใหญ่ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังสามารถอยู่ได้
“...ผมคิดว่ามาตรการ ‘หลวงปู่โมเดล’ จะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งในการต่อยอดจากโครงการประกันรายได้ ให้ชาวนารู้จักรวมกลุ่มแปรรูป มีความเป็นหุ้นส่วนเจ้าของกิจการ และอนาคตเราอาจได้เห็นแบรนด์ข้าวจากชาวนาไทยพัฒนาคุณภาพข้าวเป็นข้าวเกรดพรีเมียม ไม่เพียงบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่อาจมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย...” บรรทัดที่ 7 หน้า 206
เมื่อถึงเวลานั้นฟ้าใหม่ของชาวนาก็จะเกิดขึ้นท่ามกลางความสุขอย่างพอเพียง
นี่กระมัง! ที่เป็นปริศนาในบทที่ 11 คอยท้าทายรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ อยู่ .