ธ.ก.ส.เร่งอนุมัติสินเชื่อพยุงราคายางพารา 1.5 หมื่นล้านบ.
ธ.ก.ส. เดินหน้าอนุมัติวงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางและสนับสนุนสินเชื่อแปรรูปยางพาราให้สหกรณ์ 723 แห่งทั่วประเทศ ดึงเครือข่ายสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งเป็นมืออาชีพ 24 แห่ง เป็นศูนย์รวบรวมและแปรรูปยางพาราเพื่อการส่งออก พร้อมทบทวนขยายเวลาชำระหนี้ให้เกษตรกรที่ประสบ ปัญหาราคายางตกต่ำ
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อภายใต้แนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ 2 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้รวบรวมยางวงเงิน 10,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราวงเงิน 5,000 ล้านบาทนั้น ธ.ก.ส. ได้ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย หัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัด สำนักงานสงเคราะห์กองทุนสวนยาง และสหกรณ์ที่จะเข้าร่วมโครงการทั้ง 723 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร ทั้ง 723 แห่ง ประกอบไปด้วย สหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) 466 แห่ง สหกรณ์การเกษตร 189 แห่ง และกลุ่มเกษตรกร 68 แห่ง โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคใต้ 14 จังหวัด 395 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด 206 แห่ง ภาคตะวันออก 6 จังหวัด 61 แห่ง ภาคเหนือ 12 จังหวัด 43 แห่ง และภาคกลาง 4 จังหวัด 18 แห่ง
ในเบื้องต้น ธ.ก.ส. ได้เห็นชอบวงเงินสินเชื่อให้กับสหกรณ์เพื่อนำไปรวบรวมยางพาราแล้ว 281 แห่ง เป็นวงเงิน 2,880 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 442 แห่ง ธ.ก.ส. จะเร่งดำเนินการปล่อยเงินกู้ในเดือนกันยายนอีก 4,000 ล้านบาท เดือนตุลาคม 2,000 ล้านบาท และเดือนพฤศจิกายน 1,000 ล้านบาท
สำหรับระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตามโครงการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 – 30 มิถุนายน 2558 กำหนดคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน โดยสหกรณ์จะรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1% ต่อปี และรัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้ให้ 3% ต่อปี
รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวต่อว่า โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราวงเงิน 5,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จะสนับสนุนให้สหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจรวบรวมและแปรรูปยางในเบื้องต้นจำนวน 24 แห่ง รวมตัวกันเป็นเครือข่ายในการรวบรวมยางพารา โดยกระจายจุดรวบรวมครอบคลุมพื้นที่ปลูกยางพารา 5 จุดใหญ่ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี 2 จุด จังหวัดบุรีรัมย์ 1 จุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 จุด และจังหวัดยะลา 1 จุดโดยให้ศูนย์เป็นผู้รวบรวมยางจากสหกรณ์ในเครือข่ายเพื่อนำไปจำหน่ายหรือนำไปแปรรูปเพื่อการส่งออกต่อไป
“โครงการดังกล่าวจะช่วยให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรกว่า 723 แห่งมีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจการ รวบรวมและรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ให้แก่ชาวสวนยางมากขึ้น” นายสมศักดิ์กล่าว
ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่มีหนี้เงินกู้อยู่กับ ธ.ก.ส.ประมาณ 360,000 ราย คิดเป็นเงิน 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ปัญหาราคายางตกต่ำทำให้เกษตรกรบางรายมีรายได้ลดลง ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการพิจารณาผ่อนปรนการชำระหนี้ โดยการทบทวนความสามารถในการชำระหนี้ (Loan Review) ของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีปัญหา เช่น ปรับตารางการชำระหนี้ใหม่และหรือการขยายระยะเวลาชำระหนี้โดยจะพิจารณาให้สอดคล้องกับศักยภาพที่แท้จริงของลูกค้าต่อไป
ภาพประกอบ:rubbereconomics.blogspot.com