'นักอนุรักษ์' ชี้คืนหมาป่าสู่ธรรมชาติกู้วิกฤตระบบนิเวศไทยยาก
IUCN เผยป่าไทยเหลือน้อยทำเสือโคร่งลดจำนวน ระบุปล่อยหมาป่าคืนธรรมชาติช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศได้ เเต่สำเร็จยากเหตุปัญหาลุกลามเกินเยียวยา เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ หวัง ครม.รับฟังเสียงทุกฝ่ายเเก้ปัญหาสิ่งเเวดล้อม อย่าฟังแต่เสียงข้าราชการ
วันที่ 3 กันยายน 2557 ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงานเสวนา "สิ่งที่สืบเหลือกับเสือที่อยู่ในป่า" ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพฯ
นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IUCN) กล่าวว่า ประเทศไทยมีสัตว์ผู้ล่าแกนหลักของระบบนิเวศ (Keystond Species) อย่างเสือโคร่งลดน้อยลงเรื่อย ๆ เหตุเพราะป่าลดน้อยลงและถูกแบ่งเป็นป่าขนาดเล็ก โดยมีเพียงไม่กี่แห่งที่ยังสามารถพบเสือโคร่งได้อยู่ คือ บริเวณผืนป่าตะวันตกตอนบน ป่าแก่งกระจาน ป่ากุยบุรี และป่าดงพญาเย็น ในเขตอุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งหากขาดสัตว์ที่เป็นประเภทแกนหลักนี้ไปจะทำให้ระบบนิเวศขาดสมดุล
ทั้งนี้ ในภาพรวมผลกระทบเชิงบวก การที่มีหมาป่าจะช่วยทำให้เกิดเปลี่ยนเเปลงทางระบบนิเวศให้สมดุลยิ่งขึ้นสามารถทำได้ แต่ก็ยากในปัจจุบัน เนื่องจากงานวิจัยละเอียดระยะหลัง ๆ บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนป่าด้วยหมาป่านั้นทำยาก
“หมาป่าเปลี่ยนป่าสามารถทำได้ แต่หลายพื้นที่มีความเสียหายเกิดนานเกินไปจนทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป เเละเกิดรากถอดโคนไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่นำบางอย่างกลับมาอาจจะเป็นไปไม่ได้ มนุษย์จึงต้องรักษาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุดเต็มความสามารถ” รองหัวหน้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมถึงกรณีความคาดหวังต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นายเพชร ระบุว่า อยากให้เร่งดำเนินการโครงการต่าง ๆ ทางสิ่งแวดล้อม เเต่ควรหาข้อมูลอย่างละเอียดและจริงจังก่อน อย่าดำเนินการรวบรัดหรือตัดตอนให้เร็วขึ้น ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อการทำงาน
นอกจากนี้ยังถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะตั้งหลักประเทศไทย อย่างน้อยที่สุดควรคำนึงถึงเรื่องของต้นทุนทางธรรมชาติที่มีความสำคัญและมีอยู่แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การดำเนินงานในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีการดำเนินการมาหลายปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงอยากให้มองปัญหาให้ออกและดำเนินการอย่างจริงจัง หรือในเรื่องของการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอย่างป่าสงวน ในขณะนี้ได้มีนโยบายออกมาปราบปราบอย่างจริงจังนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งถือว่าในรอบกว่า 30 ปีไม่เคยมีหน่วยงานไหนหรือ ครม.ชุดไหนดำเนินการจริงจังสักครั้ง
“การดำเนินการครั้งนี้ทำให้เห็นว่ามีการจัดระเบียบที่ดินอย่างจริงจัง ในอดีตทั้ง ๆ ที่คนก็รู้ว่าผิด แต่ไม่มีใครทำ เพราะฉะนั้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายถือว่าสำคัญที่สุด เรื่องของการค้าสัตว์ป่าที่ตอนนี้ทั่วโลกตื่นขึ้นมาตระหนักว่าเป็นภัยคุกคามรุนแรง และประเทศไทยเองก็ตกเป็นเป้าหมายหลักอยู่ในเรื่องงาช้าง ซึ่งอยู่ภายใต้ศักยภาพที่ ครม.ทำได้หมดเลย จึงอยากผลักดันให้อุดช่องโหว่ทางกฎหมาย” รองหัวหน้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งเเก้ไข คือ น้ำ โดยจะจัดการอย่างไรให้เป็นไปตามศักยภาพของพื้นที่ป่า ซึ่งการดำเนินการของทหารที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กทำมาถูกทางแล้ว จึงอยากให้ดำเนินการต่อไป อีกทั้งหากพื้นที่ไหนไม่จำเป็นที่จะต้องมีเขื่อนขนาดใหญ่ก็ไม่ต้องสร้างนโยบายขึ้นมา รวมไปถึงการดำเนินการในขณะนี้อย่างการปราบปรามไม้พยุงที่ดำเนินการมาถูกทาง
"ภาพใหญ่ของปัญหาของ ครม.ชุดนี้ คือ การฟังปัญหาจากข้าราชการมากเกินไป ดังนั้นควรฟังจากหลาย ๆ ฝ่าย ด้วยการจัดตั้งเวทีพูดคุยกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ นอกเหนือจากข้าราชการ หรือมีการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อให้เกิดมิติของการพัฒนาที่ดี" เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าว เเละว่าโรดแมปของ ครม.ที่ออกมานั้นไม่ค่อยมีนโยบายของสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ ถ้าจะขอจริง ๆ ก็ขอให้กระทรวงฯ ช่วยอธิบดีกรมป่าไม้ทำงานเยอะ ๆ .