'คนรักษ์บ้านเกิด' ยันเซ็นเอ็มโอยูแก้ปมเหมืองทองตามมติ 6 หมู่บ้าน
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดร่อนแถลงการณ์อีกรอบ ค้านเซ็นเอ็มโอยูแก้ปัญหาเหมืองทองคำ จ.เลย เหตุกระบวนการไม่เป็นธรรม ขาดการมีส่วนร่วมปชช. ระบุจะเกิดขึ้นได้ต้องพิจารณาตามร่างมติเห็นชอบ 6 หมู่บ้าน
ตามที่ พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย ได้เชิญกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมการประชุมวันที่ 4 กันยายน 2557 และผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ส่งหนังสือถึงนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาหลวง แจ้งให้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว เพื่อจัดทำมาตรการและแนวทางการดำเนินการตามมาตรการที่เป็นรูปธรรมในลักษณะของบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำบันทึกข้อตกลงนี้มาใช้เป็นแนวทางในการที่จะลดข้อขัดแย้งและป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำที่มีผลต่อประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาหลวง
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ขอแสดงจุดยืนว่า การปฏิบัติการของทหารในพื้นที่ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงระหว่าง ผู้ประกอบการเหมืองทองคำ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการจัดประชุมเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2557 และในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 แต่การจัดประชุมทั้งสองครั้งไม่สามารถลงนามได้ เนื่องจากร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวยังไม่ได้มีการเปิดเผยเนื้อหารายละเอียด และยังไม่ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำยึดหลักสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงฯ และการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังต่อไปนี้
1. การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงฯ ที่หน่วยงานราชการได้ทำขึ้น จะต้องเป็นไปตามรายละเอียด ขั้นตอน และเงื่อนไข ในเอกสารประชาคมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557 ที่ประชาชนได้ลงมติเห็นชอบแล้ว และจะต้องเปิดเผยเนื้อหารายละเอียดร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวให้ประชาชนได้พิจารณาอย่างทั่วถึง
หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า เนื้อหาในบันทึกข้องตกลงฯ ไม่ตรงตามเอกสารประชาคมฯ ดังที่กล่าวในข้างต้น ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวมิชอบ และไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้ ในกรณีที่หน่วยงานราชการใดนำบันทึกข้อตกลงฯ ที่ไม่สอดคล้องกับเอกสารประชาคมฯ ไปใช้ในการกระทำการใดๆ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบ
2. การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องมีความถูกต้องและชอบธรรม โดยยึดหลักสิทธิของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน ดังนั้น กระบวนการในการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องมีการจัดประชาคม เพื่อคัดเลือกตัวแทนจากประชาชน เป็นผู้พิจารณาเนื้อหาในร่างบันทึกข้อตกลงที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
เมื่อตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกได้พิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงฯ แล้ว จะต้องมีการจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน เพื่อให้เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงฯ และในขั้นตอนสุดท้าย จะต้องมีการจัดประชาคมเพื่อคัดเลือกตัวแทนจากประชาชน เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ แทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
“หากผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน หรือข้าราชการในท้องถิ่น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบ ซึ่งกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะนำคดีขึ้นสู่ศาล” แถลงการณ์ระบุ