พลิกปูมคดีข้าว“ปู” ก่อน อสส.ชี้ขาดส่งฟ้อง-ตั้งคณะทำงานร่วมป.ป.ช.?
พลิกปูมหลังคดีทุจริตจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ในมือ ป.ป.ช. 7 เดือน หอบหลักฐาน 4 ลัง ใช้พยาน 4 ปากสู้ ไม่รอด! โดนฟัน 2 เด้ง ก่อนอัยการสูงสุดเตรียมแถลงมติชี้ขาด 4 ก.ย.นี้
ต้องลุ้นระทึกอีกครั้ง ! สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากในวันพรุ่งนี้ คือ วันที่ 4 กันยายน 2557 จะครบกำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่อัยการสูงสุด (อสส.) มีสิทธิ์ยื่นฟ้องคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งสำนวนพร้อมชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า อัยการสูงสุดเตรียมแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้ ในวันที่ 4 กันยายน 2557 ภายหลังคณะทำงานอัยการสูงสุด ส่งความเห็นให้กับนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา และนายตระกูล อยู่ระหว่างพิจารณาสำนวนดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ประมวลเหตุการณ์ในช่วงที่ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ไต่สวนในชั้นกรรมการ ป.ป.ช. จนกระทั่งมีบทสรุปชี้มูลความผิดทั้งทางถอดถอน และทางอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังนี้
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 คณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีการส่อทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามที่อนุกรรมการฯเสนอ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 มีการตั้งนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการไต่สวน และเริ่มดำเนินการไต่สวน
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการดังกล่าวทั้งที่มีหลายฝ่ายเตือน รวมทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า โครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการทุจริต ทำให้เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ถัดจากนั้นอีก 2 วัน คือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Yingluck Shinawatra” ระบุว่า การไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นไปอย่างรวบรัด ไม่เป็นธรรม นับแต่วันที่ตั้งคณะกรรมการไต่สวน จนกระทั่งแจ้งข้อกล่าว ใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 21 วันเท่านั้น นอกจากนี้ที่ขอตรวจสอบหลักฐาน และขอเปลี่ยนตัวคณะกรรมการไต่สวนคือ นายวิชา แต่ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ จาก ป.ป.ช.
ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นนทบุรี และกลุ่มวิทยุชุมชนเสื้อแดงจังหวัดนนทบุรี ได้รวมตัวปิดประตูทางเข้า-ออกสำนักงาน ป.ป.ช.
ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง แต่ส่งนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจในคดีนี้ไปรับทราบข้อกล่าวหาแทน
ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม 2557 ได้ขอขยายเวลาการเข้าชี้แจงข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ป.ป.ช. มีมติขยายเวลาให้ เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2557 ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2557 ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้ขอขยายเวลาการเข้าชี้แจงข้อกล่าวหา แต่คราวนี้ ป.ป.ช. มีมติไม่อนุมัติคำขอขยายเวลาดังกล่าว
รุ่งขึ้น วันที่ 28 มีนาคม 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง ชี้แจงข้อกล่าวหาโครงการรับจำนำข้าว โดยระบุว่า คดีนี้ ป.ป.ช. เป็นคู่กรณีเองจึงไม่ใช่คนกลาง ทำให้อาจไม่ได้รับความยุติธรรม และเมื่อเทียบกับคดีอื่น ๆ ก็ถือว่าดำเนินการเร็วผิดปกติ และการตรวจพยานหลักฐานก็ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก เท่ากับว่ามีเวลาเตรียมตัวเพียง 3 วันในการชี้แจงต่อ ป.ป.ช.
ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2557 ในช่วงเช้าทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้เดินทางมาที่สำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมด้วยกล่องเอกสาร 4 กล่องใหญ่ ต่อมาช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเดินทางมาถึง และเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้สอบพยานเพิ่มเติมอีก 11 ปาก โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสีหน้าที่เรียบขรึม ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ใช้เวลาเข้าชี้แจงทั้งสิ้นประมาณ 30 นาที จึงเดินทางกลับ
วันที่ 1 เมษายน 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับสอบพยานเพิ่มเติมตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร้องขอ แต่ตัดพยานจาก 11 ปาก เหลือเพียง 3 ปาก คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ ต่อมานายกิตติรัตน์ ได้ขอเลื่อนเข้าให้ถ้อยคำในฐานะพยาน เนื่องจากติดภารกิจไปต่างประเทศ
วันที่ 8 เมษายน 2557 ป.ป.ช. อนุมัติคำร้องขอนายกิตติรัตน์ ขณะที่ทนายความผู้รับมอบอำนาจเข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ขอให้สืบพยานเพิ่มอีก 4 ปาก
วันที่ 10 เมษายน 2557 นายนิวัฒน์ธำรง เข้าให้ถ้อยคำในฐานะพยานกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยมาชี้แจงในเรื่องที่ข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำไปใช้ยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ต่อมาในช่วงเย็น ป.ป.ช. มีมติตัดพยานที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอเพิ่มอีก 4 ปาก เหลือเพียง 1 ปาก คือ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
เท่ากับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้พยานเข้าให้ถ้อยคำได้ 4 คน คือ 1.นายนิวัฒน์ธำรง (ให้ถ้อยคำไปแล้ว) 2.นายกิตติรัตน์ 3.นายยรรยง และ 4.พล.ต.ต.ธวัช
รุ่งขึ้น วันที่ 11 เมษายน 2557 ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ขอให้สอบพยานเพิ่มอีก 2 ปาก
ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2557 พล.ต.ต.ธวัช เข้าให้ถ้อยคำในฐานะพยาน และในช่วงเย็นศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เป็นผู้อำนวยการฯ ออกแถลงการณ์เตือน ป.ป.ช. ให้ทำงานอย่างยุติธรรม
วันที่ 18 เมษายน 2557 นายกิตติรัตน์ เข้าให้ปากคำในฐานะพยาน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยชี้แจงในการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวไม่เกิน 1 แสนบาท และยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่
ขณะเดียวกัน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงกรณีแถลงการณ์ของ ศอ.รส. โดยยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม พร้อมทั้งมีมติงดสืบพยาน 2 ปากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นขอมาซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่า พยานดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องในคดีนี้
วันที่ 23 เมษายน 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง ระบุว่า ความจริงข้าวไม่ได้หาย แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีไม่ได้นับรวมข้าวในสต็อกขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และระบุอีกว่า การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ได้เชื่อเพียงคำกล่าวอ้างที่ปรากฏเป็นข่าว
ก่อนที่ช่วงสาย นายยรรยง เข้าให้ปากคำในฐานะพยาน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยยื่นเอกสารเรื่องจำนวนข้าวในสต็อก ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีไม่มาก ต่อมาทนายความผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ขอเพิ่มเติมพยานอีก 7 ปาก
วันที่ 29 เมษายน 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่อนุญาตสอบพยานเพิ่มเติมอีก 7 ปากตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร้องขอ เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา พร้อมกันนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมสรุปข้อเท็จจริงให้องค์คณะไต่สวนได้ภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 และหากเห็นว่ามีมูลเพียงพอ จะสรุปข้อเท็จจริงส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาลงมติชี้มูลความผิดได้
หลังจากนั้น วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. และนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ จงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อันเป็นเหตุแก่การถอดถอนจากตำแหน่ง ส่งเรื่องกลับสู่ชั้นวุฒิสภาดำเนินการถอดถอนต่อไป
(อ่านประกอบ : มติ 7-0 เสียง ป.ป.ช.ฟัน“ยิ่งลักษณ์”คดีจำนำข้าว ชงวุฒิถอด-"สถาพร"ถอนตัว)
ทั้งนี้สำหรับมติ 7 ต่อ 0 นั้น เนื่องจากปัจจุบัน ป.ป.ช. ดำรงตำแหน่งอยู่ 8 คน และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. ได้ขอถอนตัวจากการทำหน้าที่ไต่สวนคดีดังกล่าว เนื่องจากสมัยรับราชการ เคยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาก่อน
ต่อมาเกิดการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรักบาลรักษาการ ที่มีนายนิวัฒน์ธำรง ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ คดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
หลังจากนั้นภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกปล่อยตัวออกจากค่ายทหาร ได้ทำเรื่องไปยัง คสช. เพื่อขอบินไปพักผ่อนที่ต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 10 สิงหาคม 2557 โดยในช่วงนั้นตรงกับวันเกิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 เกิดกระแสข่าวว่าจะมีการตัดสินคดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันนี้ ต่อมาช่วงเย็นที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิดอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทั้งที่เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน เกิดความเสียหายต่อรัฐไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ส่งให้อัยการสูงสุด ฟ้องศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.มติ 7:0 ฟันอาญา"ยิ่งลักษณ์" คดีทุจริตจำนำข้าว-ขาดทุนยับ5แสนล.)
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยทีมทนายความ ได้จัดงานแถลงข่าวที่โรงแรมเอสซีปาร์ค กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอาญาคดีโครงการรับจำนำข้าว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่า มติดังกล่าวไม่เป็นธรรม และเป็นเร่งรีบตัดสิน พร้อมยังเลือกฟังพยานที่เป็นปฏิปักษ์กับตน และไม่สอบสวนการลงบันทึกบัญชี นอกจากนี้ยังยืนยันว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจในต่างประเทศ จะเดินทางกลับมาสู้คดีนี้อย่างแน่นอน
หลังจากนั้นวันที่ 5 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ป.ป.ช. ได้นำสำนวนพร้อมความเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. สมควรสั่งฟ้องให้อัยการสูงสุด (อสส.) โดยรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานกว่า 4,000 หน้า บรรจุในกล่อง 5 กล่องใหญ่ โดย อสส. สามารถสั่งฟ้องได้ภายใน 30 วัน และหากเห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ จะต้องตั้งคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อที่ไม่สมบูรณ์นั้นเสียก่อน
ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ทั้งหมดนับตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกแจ้งข้อกล่าวหา จนกระทั่ง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 2 ครั้ง คือถอดถอน และอาญา ก่อนที่จะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด รวมทั้งสิ้นกินระยะเวลาเพียง 7 เดือน !
ก่อนที่จะมีรายงานข่าวว่ากันว่า คณะทำงานพิจารณาสำนวนอัยการสูงสุด ส่งความเห็นไปให้กับอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา และความเห็นแตกเป็นสองทาง ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสำนวนชิ้นนี้ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องการให้ตั้งคณะทำงานร่วมฯแก้ไขให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสำนวนเรียบร้อยดีแล้ว และเห็นควรส่งฟ้องศาลฎีกาฯได้เลย
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร 4 กันยายนนี้ รู้ผล !
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จาก aecnews