มองอนาคตท้องถิ่นไทย ปี52 ก้าวสำคัญการกระจายอำนาจ
ในงานเวทีท้องถิ่นไทย ประจำปี 2551 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันพระปกเกล้าเมื่อ 1-2 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น ปาฐกถาพิเศษวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการกระจายอำนาจและปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้หัวข้อ ‘ทำนายอนาคตท้องถิ่นไทยปี 52 กับกูรูท้องถิ่น’ ซึ่งว่ากันด้วยทิศทางความเคลื่อนไหว รวมถึงวิธีรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองภาคท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในปี 2552 เป็นอีกหนึ่งเวทีที่มีผู้คนในวงการปกครองส่วนท้องถิ่น สนใจร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
เริ่มที่กูรูรายแรกอย่างนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะทำงานจัดร่างแผนการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองท้องถิ่นและแผนปฏิบัติการของรัฐบาล ที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นนักวิชาการอิสระ กล่าวถึงการพัฒนาประชาธิปไตยกับการปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ต้องนำประชาธิปไตยแบบทางตรง มาใช้กับการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะยังมีขนาดเล็กและประชากรค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับส่วนกลาง
แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า ประชาธิปไตยแบบทางตรงคือการหย่อนบัตรเพียงอย่างเดียว เพราะประชาธิปไตยที่ถูกต้องคือให้ประชาชนมีส่วนร่วม ปกครองตัวเอง และชุมชนเองก็ต้องมีกิจกรรมที่ปลูกฝังในสิทธิการเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมระบอบประชาธิปไตย ไม่ให้จำกัดความสนใจแค่การประกอบอาชีพของตนเพียงอย่างเดียว
ตลอด 10 ปีที่เริ่มมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถือได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดินทางมาไกลพอสมควรที่จะสามารถพึ่งตัวเองได้แล้ว ซึ่งจากนี้ไปผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาว่าองค์กรเหล่านี้จะเดินหน้าไปอย่างไร ซึ่งรูปแบบก็มีให้เห็นอยู่ เช่น เลียนแบบการเมืองระดับชาติ ที่มักต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์ ระบบเอาใจประชาชนด้วยนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือ การทำให้ประชาธิปไตยเป็นแบบทางตรงมากขึ้น ฝึกให้ประชาชนแก้ปัญหา เพิ่มศักยภาพของท้องถิ่น ให้เป็นผู้นำทางการเมือง แทนที่จะรอนโยบานจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมั่นว่าประชาชนทำได้”นายเอนก กล่าวและว่าต้องให้ประชาชนรู้สึกผูกพันกับการเมืองในชุมชนตัวเองจนมีความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นแผนพัฒนาประชาธิปไตยและแปรการเมืองท้องถิ่นให้เป็นฐานของการเมืองระดับชาติ
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวถึงประเด็นเรื่องรายได้และการคลังท้องถิ่นว่า ปัจจุบันรายได้ของท้องถิ่นอยู่ที่สัดส่วนประมาณ 25.2% เมื่อเทียบกับรายได้ของรัฐบาล ขณะที่หากภารกิจต่างๆ อาทิ การศึกษา สาธารณสุข เป็นไปตามแผนพัฒนาท้องถิ่นอย่างครบถ้วนก็จะได้รับงบประมาณจากส่วนกลางเพิ่มเติมตามกฎหมายเป็น 35% ซึ่งเมื่อส่วนท้องถิ่นยังต้องพึ่งรายได้จากรัฐเป็นหลักอยู่ ก็จะทำให้มีอิสระในการปกครองอย่างที่ต้องการยาก เพราะปัจจัยที่จะชี้ขาดคือต้องมีอิสรภาพในด้านการคลังต้องหาเงินเองเป็นหลักเสียก่อน โดยมีประชาชนในท้องถิ่นร่วมกันติดตามตรวจสอบเพราะเป็นผู้เสียภาษีให้แก่ชุมชนของตน
“มีภาษีตัวหนึ่งที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาตลอดเพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้แก่ท้องถิ่น คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แทนการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งภาษีข้อนี้แม้จะมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ถ้ามองในภาพรวมก็จะทำให้เกิดประโยชน์มหาศาล อันจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรูปโฉมการคลังท้องถิ่นไทย นอกจากนี้ยังมีภาษีอื่นๆที่ต้องผลักดัน เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีมรดก ที่แม้รัฐบาลหรือส่วนกลางมองว่าน้อย แต่ในท้องถิ่นเองต้องว่าไม่น้อย”
นายสมชัย กล่าวต่อว่า ท้องถิ่นต้องรู้จักวินัยการคลัง ทั้งรายได้และรายจ่าย พึ่งตัวเองเป็นหลัก มีศักยภาพก่อหนี้เอง สามารถกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ได้เอง ทำให้เกิดเมกะโปรเจคอื่นๆตามมา ซึ่งแม้จะขาดดุลแต่ถ้าขาดดุลอย่างมีวินัยก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ไม่ใช่ก่อหนี้แบบไร้สาระ จากนั้นเมื่อมีรายได้เข้ามาแล้วก็ต้องจัดสรรรายได้ใหม่ ต้องรู้จักบูรณการให้เหมาะสมกับตามหลักวิชาการ
ส่วนในแง่ของข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นในปี 2552 ถือเป็นช่วงที่มีความสำคัญเนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 281-290 ได้วางเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการบริหารงานส่วนท้องถิ่นซึ่งทำให้การปกครองส่วนนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามก็ต้องผ่านกฎหมายอีก 2-3 ฉบับ ตามบทบัญญัติเฉพาะกาลมาตรา 303 (5) ที่ระบุว่าต้องมีการผ่านกฎหมายอย่างน้อยอีก 4 ฉบับ อาทิ .กฎหมายกำหนดแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายการเงินและการคลังท้องถิ่น ที่จะมีกรอบภายในระยะเวลา 2 ปีนับตั้งแต่รัฐบาลแถลงนโยบายไว้กับสภา ซึ่งจะครบใน 17 ก.พ. 53 ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด จะอยู่ในปี 52
ขณะที่ผู้พูดคนสุดท้ายคือนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และที่ปรึกษาคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่แม้จะออกตัวว่าไม่ใช่กูรู แต่ได้แสดงวิสัยทัศน์ ถึงเรื่องภารกิจและหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของการกระจายอำนาจ ไม่ได้อยู่ที่การถ่ายโอนภารกิจ เพราะการถ่ายโอนภารกิจเป็นเพียงกลไกอันหนึ่งในการปรับระบบความสัมพันธ์ทางภาระหน้าที่ระหว่างท้องถิ่นกับราชการส่วนกลางเท่านั้น แต่ความสำเร็จของการกระจายอำนาจที่แท้จริงคือ การทำให้องค์กรท้องถิ่น สามารถดูแลประชาชนได้อย่างสมบูรณ์ ใช้สติปัญญาแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามลักษณะที่เป็นไปในแต่ละพื้นที่ หรือเรียกว่า การกระจายอำนาจทางการตัดสินใจ รวมถึงมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองอย่างบริสุทธิ์ใจ
“วันนี้เราต้องการให้ท้องถิ่น พัฒนาไปสู่การปกครองตนเอง ใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจและแก้ปัญหา อันจะทำให้ประชาชนมีความสุข ซึ่งในวันนี้มีตัวแปรสำคัญคือ การเคลื่อนตัวของประสิทธิภาพในการจัดการองค์กรท้องถิ่นที่ดีขึ้น คุณสมบัติของบุคลากรที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพในการจัดการดีขึ้น รวมถึงทัศนคติในการยอมรับบทบาทองค์กรท้องถิ่นดีขึ้น ซึ่งความสำเร็จของการยอมรับในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น อาจไม่ได้เป็นเพราะกฎหมายเสมอไป แต่ผลของการกระทำที่สัมฤทธิ์ผลก็มีส่วนด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวเรียกศรัทธาจากประชาชน
นายวุฒิสาร ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า หนีไม่พ้น การปรับแก้กฎหมายแผนขั้นตอนกระจายอำนาจ หรือการยกเลิกภาษีที่ภาคท้องถิ่นเรียกเก็บซึ่งจะนำมาเป็นรายได้ การแทรกแซงอำนาจหน้าที่ รวมถึงบทบาทของราชการส่วนภูมิภาค หรือนโยบายจากส่วนกลาง อาทิ กองทุนหมู่บ้านที่ลงสู่หมู่บ้านมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเรื่องท้าทายให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีการจัดระบบที่ดีขึ้น เพื่อพัฒนาการกระจายอำนาจไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง