ดูเหตุผลศาลฎีกาฯ หลังมติ 6 ต่อ 3 “แซม-ยุรนันท์”ไม่จงใจซุกหุ้น 14 ล้าน
“…เมื่อพิจารณาประกอบคำชี้แจงของผู้คัดค้านต่อผู้ร้องถึงสาเหตุที่มิได้แสดงรายการเงินลงทุนในบริษัทดังกล่าว .... จึงมีเหตุผลรับฟังได้ องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากมีมติว่า กรณีผู้คัดค้านไม่ได้แสดงรายการเงินลงทุนในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด ไม่เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯและเอกสารประกอบ ต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ…”
นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือ “แซม” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย อดีตดารานักแสดงชื่อดัง ที่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติ 6 ต่อ 3 พิพากษาว่า นายยุรนันท์ ไม่มีเจตนาจงใจที่จะปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เรื่องการถือครองหุ้นบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด และถือครองหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์บริษัท การบินไทย จำกัด ของคู่สมรส
(อ่านประกอบ : "แซม-ยุรนันท์"รอด! ศาลฏีกาฯพิพากษายกคำร้องคดีปกปิดทรัพย์สิน )
หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดนายยุรนันท์ จึงรอดพ้นจากการกระทำดังกล่าว ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาในคดีนี้แบบ “ฉบับเต็ม” มาเผยแพร่ให้เห็นเหตุผลของศาลฎีกาฯ อย่างชัด ๆ ดังนี้
----
ศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานหลักฐานหลักฐานประกอบรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2554 จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้อง (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ผู้คัดค้าน (นายยุรนันท์) ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2554 สำนักข่าวอิศราเผยแพร่ข่าวทางอินเตอร์เน็ตว่า ผู้คัดค้านยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ โดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนของผู้คัดค้านในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 144,500 หุ้น มูลค่า 14,450,000 บาท และไม่แสดงรายการเงินลงทุนของนางมาริษา ภมรมนตรี คู่สมรสในบริษัทโทรญ่า จำกัด จำนวน 3,000 หุ้น มูลค่า 300,000 บาท
ครั้นวันที่ 29 ธันวาคม 2554 ผู้คัดค้านได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯเพิ่มเติม ประกอบด้วย เงินลงทุนของผู้คัดค้านในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด และบัญชีเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด ของนางมาริษา คู่สมรส 2 บัญชี คือ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ จำนวน 3,216,231 บาท และบัญชีเงินฝากประจำ จำนวน 8,600,000 บาท และเอกสารประกอบรายการที่ดิน
ผู้ร้องตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วได้ความว่า กรณีรายการเงินลงทุนในบริษัท โทรญ่า จำกัด ของนางมาริษา ได้มีการโอนให้แก่บุคคลอื่นไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2554 ก่อนผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง ส่วนรายการบัญชีเงินฝากประจำ สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการบินไทย จำนวน 8,600,000 บาทนั้น เป็นเงินของครอบครัวคู่สมรสที่ฝากในนามนางมาริษา ผู้คัดค้านจึงไม่มีหน้าที่ต้องแสดงทรัพย์สินทั้งสองรายการดังกล่าว
สำหรับกรณีเงินลงทุนของผู้คัดค้าน ในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 144,500 หุ้น มูลค่า 14,540,000 บาท และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ จำนวน 3,216,231 บาท ของนางมาริษา คู่สมรสนั้น เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าจำนวนมาก ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ว่าตนหรือคู่สมรสมีทรัพย์สินดังกล่าว ข้อที่ผู้คัดค้านอ้างเหตุผลหลงลืมจึงไม่อาจรับฟังได้ และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีเข้ารับตำแหน่งด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนของผู้คัดค้านในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ สหกรณ์ออมทรัพย์ พนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด ของคู่สมรส
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ผู้คัดค้านได้แสดงรายการเงินลงทุนของตนในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯพร้อมเอกสารประกอบที่ยื่นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 หรือไม่
ผู้คัดค้านยื่นคำให้การต่อสู้ว่า ผู้คัดค้านได้ยื่นแสดงรายการเงินลงทุนดังกล่าวแล้ว โดยหมายเหตุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯว่า มีสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม คือ รายการเงินลงทุน รับรองยอดคลงเหลือ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2554
สาเหตุที่ระบุเช่นนั้น เนื่องจากขณะนั้นเกิดอุทกภัย และผู้คัดค้านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความยากลำบากในการค้นหาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเงินลงทุนดังกล่าว และบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น จึงให้นายภูรี ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯไปก่อนนั้น
เห็นว่า ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ที่ผู้คัดค้านยื่นต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 หน้าที่ 6 ข้อ 3.เงินลงทุน มีการแสดงไว้ 2 รายการ คือ (1) บริษัทหลักทรัพย์คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (2) บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) โดยไม่ปรากฏรายการเงินลงทุนของบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด
ส่วนบันทึกตอนท้ายของใบรับบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ มีข้อความว่า “สิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมตามหมายเหตุ (1) รายการเงินลงทุน รับรองยอดคงเหลือ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2554” บัญชีที่ยื่นไว้ดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้คัดค้านมีทรัพย์สินเป็นเงินลงทุนในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด
ดังนั้น ข้อความตามหมายเหตุดังกล่าวจึงน่าจะหมายถึงบริษัทที่ได้ระบุชื่อไว้ในบัญชี คือ บริษัทหลักทรัพย์คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) เท่านั้น เนื่องจากได้มีการระบุมูลค่ารวมของทั้งสองบริษัท ณ วันที่ 23 กันยายน 2554 แต่ผู้ร้องต้องการให้รับรองยอดคงเหลือในวันที่ 31 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านเข้ารับตำแหน่ง
ข้อเท็จจริงยังได้ความอีกว่า เมื่อผู้คัดค้านยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯเพิ่มเติมแล้ว ผู้ร้องมีหนังสือขอให้ผู้คัดค้านชี้แจงเหตุผลที่ไม่ได้แสดงรายการทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านได้ยื่นเพิ่มเติม ผู้คัดค้านมีหนังสือชี้แจงต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า สาเหตุที่ไม่ได้แสดงรายการเงินลงทุนในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ขาดความรอบคอบในการตรวจสอบจึงหลงลืมแสดงรายการเงินลงทุนดังกล่าว เมื่อพบภายหลังจึงส่งเอกสารเพิ่มเติม แสดงว่าในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯในครั้งแรกนั้น ผู้คัดค้านไม่ได้แสดงรายการทรัพย์สินเงินลงทุนดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับข้อความในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯและใบรับ
ข้อที่ผู้คัดค้านยกขึ้นต่อสู้ว่า “เงินลงทุน” ตามหมายเหตุท้ายใบรับ หมายรวมถึงเงินลงทุนในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ผู้คัดค้านเพิ่งจะยกขึ้นต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาล และขัดกับเอกสาร ข้อกล่าวอ้างไม่สมเหตุจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านมิได้แสดงรายการเงินลงทุนของตนในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีไม่แสดงรายการเงินลงทุนของผู้คัดค้านในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 144,500 หุ้น มูลค่า 14,450,000 บาท หรือไม่
ผู้คัดค้านเบิกความยืนยันว่า เป็นที่ทราบดีของสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของบริษัทเนื่องจากสื่อเหล่านั้น เคยมาถ่ายรายการที่บริษัทมีผู้คัดค้านเป็นผู้ให้การต้อนรับในฐานะเจ้าของและหุ้นส่วนโดยผู้คัดค้านมีสำเนาสื่อหนังสือพิมพ์มาแสดง ตามเอกสารหมาย ค.11 และผู้คัดค้านได้ระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯว่า ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร แม้ว่าการดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นด้วยก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านได้เปิดเผยข้อมูลความเกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านกับบริษัทดังกล่าว ซึ่งย่อมเป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย
นอกจากนี้ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เอกสารหมายเลข ร.15 ได้ความว่า ผู้ร้องเพิ่งเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เมษายน 2552 โดยเงินลงทุนของบริษัทดังกล่าวเป็นรายการที่ไม่เคยยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินฯในการดำรงตำแหน่งในครั้งก่อน ๆ เมื่อพิจารณาประกอบกับจำนวนรายการทรัพย์สินฯของผู้คัดค้านมีจำนวนหลายรายการมาก ทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านและคู่สมรส ถือว่าเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีจำนวนเพียงเล็กน้อย
อีกทั้งขณะยื่นบัญชีอยู่ในภาวะน้ำท่วมใหญ่หลายพื้นที่ รวมทั้งบ้านของผู้คัดค้าน และผู้คัดค้านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์พักพิง (ชั่วคราว) มีหน้าที่ดำเนินการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น
เมื่อพิจารณาประกอบคำชี้แจงของผู้คัดค้านต่อผู้ร้องถึงสาเหตุที่มิได้แสดงรายการเงินลงทุนในบริษัทดังกล่าว ตามหนังสือเอกสารหมาย ร.11 จึงมีเหตุผลรับฟังได้ องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากมีมติว่า กรณีผู้คัดค้านไม่ได้แสดงรายการเงินลงทุนในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด ไม่เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯและเอกสารประกอบ ต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
สำหรับรายการบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด ของคู่สมรสนั้น ผู้คัดค้านต่อสู้ว่า ขณะผู้คัดค้านค้นหาเอกสารเกี่ยวกับเงินลงทุนในบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทสไทย) จำกัด เพื่อยื่นบัญชีเพิ่มเติม ผู้คัดค้านเพิ่งทราบจากคู่สมรสว่า ยังมีบัญชีเงินฝากอีก 1 บัญชี ผู้คัดค้านถามว่ายังมีบัญชีเงินฝากอีกหรือไม่ คู่สมรสแจ้งว่าไม่มีแล้ว แต่มีเงินมรดกของบิดาคู่สมรสซึ่งเปิดบัญชีเงินฝากในนามคู่สมรสอีก 1 บัญชี ผู้คัดค้านจึงยื่นเพิ่มทั้ง 2 บัญชี พร้อมกับยื่นแสดงรายการเงินลงทุนของบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด
เห็นว่า บัญชีเงินฝากทั้ง 2 บัญชี ของคู่สมรสผู้คัดค้านนั้น สำนักข่าวอิศราไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ข่าวว่าผู้คัดค้านไม่ได้แสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ และผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ตรวจพบว่า ผู้คัดค้านไม่ได้แสดงรายการเงินฝากทั้งสองบัญชีของคู่สมรส แต่ผู้คัดค้านเป็นผู้ยื่นบัญชีเพิ่มเติมด้วยตัวเอง จึงเป็นการแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจของผู้คัดค้าน
เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนรายการและมูลค่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านและคู่สมรสแล้ว เงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวมีจำนวนไม่มากนัก กรณีอาจเป็นตามที่ผู้คัดค้านเบิกความว่าเพิ่งทราบจากคู่สมรส องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากมีมติว่า ผู้คัดค้านไม่ได้จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯพร้อมเอกสารประกอบ ต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีไม่มีมูลตามคำร้อง
พิพากษาให้ยกคำร้อง
อ่านประกอบ :
อวสาน “แซม -ยุรนันท์” ป.ป.ช.มติเอกฉันท์จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน
ลึกสุดใจ! "แซม-ยุรนันท์" ผมต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ทุจริตเพื่อวงศ์ตระกูล
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายยุรนนัท์ ภมรมนตรี จาก sahavicha