นวัตกรรมสร้างนิคมอุตฯ ยั่งยืน 'ขี้ตาเเร่' ไส้เดือนดินกำจัดของเสีย
นับเป็นนวัตกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ไม่ใช่จัดทำเพื่อการค้า เมื่อเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้คิดค้น ‘การจัดการของเสียอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดิน’ โดยมุ่งหวังการบริหารจัดการทรัพยากรและกากของเสีย พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน และก้าวสู่ต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยนับเป็นการจัดการปิโตรเคมีด้วยวิธีธรรมชาติตลอดกระบวนการรายแรกของไทย
ก่อนจะมาถึงจุดนี้ นักวิจัยใช้เวลากว่า 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 ในการศึกษาเรียนรู้และทดลองจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเจริญชัย ประเทืองสุขศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด กล่าวว่า เดิมนั้นมีแนวคิดเพียงนำกากตะกอนจุลินทรีย์จากการบำบัดน้ำเสียของโรงงานมาประยุกต์ เพื่อใช้ประโยชน์และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น วัสดุก่อสร้าง แต่ค้นพบว่าสิ่งที่ทำออกมาไม่มีความเหมาะสม กระทั่งได้ริเริ่มศึกษานำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดินจนเป็นผลสำเร็จ และสร้างศูนย์การเรียนรู้การจัดการของเสียขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยในระดับใหญ่ต่อไป (Plant Scale)
“จากเดิมบริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำกากตะกอนจุลินทรีย์ไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทิ้ง ซึ่งมองว่าสิ่งนั้นไม่ใช่นวัตกรรม แต่เป็นการทำลายแนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Eco Factory) ฉะนั้นจึงต้องนำระบบชีวภาพเข้ามาเพื่อตอบโจทย์ และส่งเสริมการลดใช้ปุ๋ยเคมีด้วย”
ผู้บริหารอาร์ไอแอลฯ กล่าวอีกว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นบริษัทรายแรกของไทยที่ใช้การจัดการแบบชีวภาพและได้รับการจดสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือสังคมให้เกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมยั่งยืน จึงนำองค์ความรู้จากการพัฒนาถ่ายทอดไปสู่ชุมชนใกล้เคียง แต่ไม่ได้นำกากตะกอนจุลินทรีย์ไปให้ เพื่อประยุกต์ใช้ในครัวเรือนและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยจากไส้เดือนดินเป็นอาชีพเสริมได้
นภดล จันทร์เรือง ผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม เอสซีจี เคมิคอลส์ ระบุถึงขอบข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนว่า นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล มีประชาชนอาศัยอยู่โดยรอบราว 1 แสนคน ในรัศมี 5 กม. ประกอบด้วย เทศบาลเมืองมาบตาพุดและเทศบาลตำบลมาบข่า ซึ่งตามหลักการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัท ชุมชนจะต้องเกิดความอยากได้ก่อน เราจะไม่ยัดเยียดให้
โดยยกตัวอย่างกรณีปุ๋ยอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดินที่ให้ชาวบ้านเข้ามาศึกษาเรียนรู้และชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จว่าสามารถต่อยอดเป็นสินค้าสร้างรายได้แก่ชุมชนได้โดยปุ๋ยอินทรีย์ขายได้กิโลกรัมละ 50-70 บาท ปัสสาวะขายได้ขวดละ 100 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ ตั้งเป้าถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนอย่างน้อย 3 แห่ง ซึ่งขณะนี้เริ่มที่โรงเรียนวัดห้วยโป่งเป็นแห่งแรก
ส่วนมีขั้นตอนอย่างไรกว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์คุณภาพ คำตอบอยู่ที่ศูนย์เรียนรู้การจัดการของเสียอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดิน มีลักษณะโรงเรือนเปิดโล่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล โดยดร.เมธี ขำดวง นักวิจัยที่เป็นผู้ร่วมคิดค้นและคลุกคลีมาตั้งแต่ต้น อธิบายว่า ไส้เดือนที่มีคุณสมบัติในการผลิตสารปรับปรุงดินที่ดีนั้นต้องเป็นสายพันธุ์ ‘ลัมบริคัสรูเบลลัส’ หรือ ‘ขี้ตาแร่’ มักพบในท้องถิ่นทั่วไปของไทยในขนาดความลึกไม่เกิน 1 ฟุต
“ไส้เดือนขี้ตาแร่จะทนต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี อัตราการกินสูง แพร่พันธุ์เร็ว มีความกระตือรือร้น” นักวิจัยกล่าว และว่าขณะที่สายพันธุ์อื่นจะมีอัตราการกินต่ำและมีฤดูจำศีล จึงเหมาะกับการนำไปเป็นเหยื่อตกปลามากกว่า
ดร.เมธี กล่าวถึงวิธีการผลิตด้วยการเริ่มเตรียมอาหารเลี้ยง โดยจะใช้กากตะกอนจุลินทรีย์เป็นอาหารหลัก แต่เนื่องจากมีความละเอียดสูงจนอาจทำให้ไม่มีอากาศถ่ายเทสะดวก จึงต้องปรับปรุงสูตรเพื่อเติมเต็มแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น การผสมด้วยผัก ขุยมะพร้าว เป็นต้น นำมาฉีกให้ละเอียด เพราะยิ่งมีการเปิดแผลมากก็จะช่วยให้เน่าและย่อยสลายง่ายมากขึ้น คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงผสมน้ำเพื่อให้พื้นชื้นแฉะมากกว่า 80% แต่ต้องไม่ท่วมขัง จากนั้นให้นำไปใส่ในพื้นที่เลี้ยง
โดยในการเตรียมพื้นที่เลี้ยงนั้น สามารถจัดได้หลายรูปแบบ เช่น กระบะ ตู้ลิ้นชักพลาสติก บ่อวง บ่อรางซีเมนต์ เป็นต้น แต่สำหรับเราจะเน้นการเลี้ยงในบ่อรางซีเมนต์ อย่างไรก็ตาม ก่อนนำไส้เดือนลงไปจะต้องสร้างความคุ้นเคยก่อนโดยให้อยู่ในบ้านชั่วคราวที่สร้างขึ้น เมื่อถึงกำหนดระยะหนึ่งให้นำกากตะกอนที่คลุกเคล้าแล้วเทลงไป ทั้งนี้ จะต้องปิดบ่อเลี้ยงเพื่อป้องกันแสงสว่างเข้ามาในโรงเรือน เนื่องจากไส้เดือนไม่ชอบความสว่าง
นักวิจัย กล่าวต่อว่า เมื่อเวลาผ่านไปไส้เดือนจะกินอาหารและถ่ายออกมาเป็นมูลมีลักษณะร่วนซุย และตามธรรมชาติก็จะเคลื่อนย้ายจากกากตะกอนกองเก่าไปยังกองใหม่ข้าง ๆ ใช้ระยะเวลาเคลื่อนย้ายประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็สามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้ แต่หากยังมีไส้เดือนปนอยู่ให้นำไฟส่องไล่อีกครั้ง
“ปุ๋ยอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดินที่ได้นั้นต้องมีความชื้นไม่เกิน 30% ตามกฎหมาย ดังนั้นจำเป็นต้องนำไปตากลมเพื่อขจัดความชื้นดังกล่าวก่อน” ดร.เมธี เน้นย้ำ
เขายังบอกอีกว่า นอกจากเราจะได้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลของไส้เดือนแล้ว ยังจะได้ปุ๋ยน้ำอินทรีย์ (น้ำชะ)จากปัสสาวะของไส้เดือนอีก ซึ่งจะไหลตามร่องบ่อรางซีเมนต์ที่ถูกดัดแปลงในแนวโน้มเอียงก่อนจะไหลลงในบ่อเก็บด้านนอก มีสีเหลือง โดยสามารถตักขึ้นมาบรรจุภัณฑ์นำไปใช้ได้เลย
ทั้งนี้ หากสงสัยในประโยชน์ของมูลและปัสสาวะไส้เดือน ข้อมูลการวิจัยพบว่าเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากลำไส้ของไส้เดือนมีจุลินทรีย์มากกว่า 300 ชนิด ซึ่งผลิตสารฮอร์โมน ทำให้พืชเติบโตเร็วและดินสามารถย่อยสลายอินทรีย์สารได้ง่าย มีค่าความเป็นกลาง (ph7-8) ซึ่งสามารถใช้ในปริมาณมากและบ่อยโดยไม่ทำให้ดินเสีย ที่สำคัญ น้ำชะสามารถช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นในห้องน้ำหรือแหล่งน้ำขังได้ด้วย
‘ครูยอด’ ทิพย์ ทับโทน คุณครูผู้ดูแลโครงการการจัดการของเสียอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดิน โรงเรียนวัดห้วยโป่ง (จันทร์ราษฎร์บำรุง) ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.ระยอง ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากเอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า โรงเรียนได้บรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในการเรียนการสอนวิชาสิ่งแวดล้อม ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6-มัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยตัวเองมีหน้าที่ในการดูแลโรงเรือนแห่งนี้ ซึ่งใช้บ่อวงในการผลิต โดยนำเศษผักจากการผลิตอาหาร เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง เป็นต้น มาเป็นอาหารไส้เดือน จากเดิมที่นำไปหมักชีวภาพอย่างเดียว
“โรงเรียนมีนโยบายมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนและบุคลากรใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังเกตได้จากการปลูกต้นไม้ รีไซเคิลขยะ” ครูยอด กล่าว และว่านักเรียนยังไม่สามารถนำไปต่อยอดที่บ้านหรือในชุมชนของตัวเอง เพราะยังขาดองค์ความรู้ที่เพียงพออยู่
ในขณะที่นักเรียนชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มหนึ่งกำลังใจจดจ่อกับการใช้มีดหั่นผักกาดขาวใส่ในบ่อวง เพื่อเป็นอาหารให้ไส้เดือน ล้วนมีสีหน้าท่าทางร่าเริงสนุกสนาน โดยด.ช.ปรเมศร์ ประเสริฐ บอกว่า สิ่งที่ได้นอกเหนือจากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ ได้รู้จักไส้เดือนและหลักสำคัญในการเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งได้ทำมาตั้งแต่เปิดเทอมเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา
“พวกเราจะแบ่งเวรกันมาดูแล แต่บางครั้งใครว่างก็มา ส่วนเสาร์-อาทิตย์นั้นคนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงเรียนจะคอยรดน้ำให้” ด.ช.ปรเมศร์ กล่าว
‘การจัดการของเสียอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดิน’ ถือเป็นนวัตกรรมโดดเด่นชิ้นหนึ่งของ ‘เอสซีจี เคมิคอลส์’ ที่มีความแตกต่างจากกลุ่มธุรกิจเดียวกันตามท้องตลาด โดยอาศัยสายพันธุ์ ‘ขี้ตาแร่’ เป็นตัวชูโรง เหนือสิ่งอื่นใด ต่างคาดหวังว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะได้รับการตอบโจทย์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นต่อไปได้ .
บ่อรางซีเมนต์
ลักษณะบ่อรางซีเมนต์สร้างโน้มเอียงรับปัสสาวะไหลลงบ่อเก็บกัก
นำปุ๋ยอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดินผึ่งลมไล่ความชื้น
นร.โรงเรียนวัดห้วยโป่งสาธิตการหั่นผักเป็นอาหารไส้เดือนดิน
บ่อวง