คสช. ปักหมุด ตั้งเขตสุขภาพเพื่อปชช. บูรณาการทำงาน 5 ด้าน
คสช. ปักหมุดเห็นชอบเดินหน้าจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน หวังปฏิรูปกลไกจัดการระบบสุขภาพระดับพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและตามภารกิจ
หลังจากทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ยื่นข้อเสนอให้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา
ล่าสุดวันที่ 2 กันยายน 2557 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าวความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ณ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 3 กรุงเทพฯ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. แถลงถึงความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนว่า ขณะนี้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนแล้ว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ สร้างกลไกในรูปแบบพหุภาคีทำหน้าที่ 5 ร่วม ได้แก่ ร่วมประสานข้อมูล ภารกิจ และการทำงานของแต่ละองค์กรเข้าด้วยกัน,ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานเสริมกัน,ร่วมกำหนดทิศทางการทำงานสู่เป้าหมายเดียวกัน , ร่วมบูรณาการการทำงานในพื้นที่เดียวกัน และ ร่วมระดมสรรพกำลัง ทั้งคน วิชาการ งบประมาณ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นรูปธรรม
สำหรับกรอบแนวคิดเบื้องหลังการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน คือความเชื่อมั่นในพลังการทำงานร่วมกัน ซึ่งจากเดิมทำงานที่แยกกันคิด แยกกันทำ เป็นการอภิบาลระบบสุขภาพแบบเครือข่าย (Governance by network) เน้นการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วน มีส่วนร่วมการทำงาน โดยองค์ประกอบคณะการทำงานประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานหลักจำนวน 20 คน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ,สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมบัญชีกลาง มหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) องค์การบริการส่วนจังหวัด(อบจ.) ,กรุงเทพมหานคร ,โรงเรียนแพทย์ ,แพทยสภา ,สภาการพยาบาล, สมาคมหมอ ,อนามัย รวมไปถึงตัวแทนจากภาคประชาสังคมและเอกชน เข้ามาร่วมคิดร่วมออกแบบกลไกการทำงาน ที่เป็นรูปธรรมมีการทำงานทางวิชาการรองรับและเปิดเวทีช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มจัดเวทีแรกซึ่งอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบายเข้าสู่สมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 7 ในวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ
จากนั้นจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกหลายครั้ง ร่วมกับหลายกลุ่มเครือข่ายจะได้ร่างข้อเสนอสุดท้ายเพื่อนำเข้าไปสู่การพิจารณาของที่ประชุมสัมชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557
“การทำงานครั้งนี้ ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายที่มีบทบาทการทำงานด้านสุขภาพเพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ชวนกันคิดและทำสิ่งใหม่ ที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งคาดว่าในปี 2558 จะมีกลไกเขตสุขภาวะเพื่อประชาชนที่เป็นรูปธรรม และสามารถลงมือทำงานได้ทันที” นพ.อำพล กล่าว
ทั้งนี้ เลขาธิการ สช. กล่าวถึง นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คนใหม่ด้วยว่า ด้วยบุคลิกที่นิ่มนวล ไม่มีภาพทางการเมือง มาจากสายบริหาร มีความรู้ จึงเชื่อว่าจะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสธ.ได้ รวมถึงบทบาทสธ.ต่อจากนี้ หวังว่าจะทำหน้าที่ประสานบริการทางการแพทย์ ไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้งกับหน่วยงานอื่นๆ เสียเอง