‘วิษณุ’ ชี้บริหารงานท้องถิ่นท้าทายเทียบชั้นการเมืองระดับชาติ จี้ยึดจริยธรรมควบคู่หลักกม.
นายวิษณุ เครืองาม กรรมการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการสร้างความศรัทธาและความไว้วางใจจากประชาชน (Local Government and Public Trust)
ภายในงาน ‘เวทีท้องถิ่นไทย ประจำปี 2551 ตลาดนัดความรู้สู่การพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันพระปกเกล้า ในโอกาสครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันว่า ขณะนี้งานบริหารราชการท้องถิ่นมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากมีความสำคัญต่อการปกครอง จนยกระดับเทียบเท่ากับการเมืองระดับชาติ
ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับหลักของการบริหารที่ดี หรือที่เรียกว่า ‘Good governance’ อันจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการทำงาน ประกอบไปด้วยหลักสำคัญ 5 ข้อได้แก่ 1.ความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายถึงความถูกต้อง ถูกระเบียบ มีคุณธรรมและจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริตในการทำงาน เช่น คุณสมบัติของผู้บริหาร วิธีดำเนินงาน ขั้นตอนต่างๆให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย แม้ในอดีตการตรวจสอบมักดูที่เจตนาเป็นหลัก หากเจตนาดีแต่ทำผิดขั้นตอน ก็อาจจะไม่ถือว่ามีความผิด แต่ปัจจุบันถือว่าไม่ถูกต้อง การกระทำต่างๆต้องชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ตั้งแต่คุณสมบัติของบุคลากร จนถึงเจตนาและวิธีการทำงาน มิเช่นนั้นหากมีการนำสืบก็อาจทำให้โครงการดีๆ ต้องล้มเหลวได้เพราะผิดกระบวนการทางกฎหมาย
“ความชอบด้วยกฎหมาย มีความหมายที่ครอบคลุมกว้างทั้งกฎระเบียบ คุณธรรม ซึ่งเป็นตัววัดความเชื่อมั่นและทำให้เกิดศรัทธาจากประชาชนที่ใหญ่ที่สุด เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่ตัวผู้บริหารเองที่ต้องถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังหมายถึงคู่สมรส บุตร ที่ต้องมีคุณสมบัติที่ถูกต้อง อาทิ ไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยราชการ ไม่ถือหุ้นบริษัทเอกชนเกินกว่าที่กำหนดไว้ด้วย ที่ว่ามานี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เพียงแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ช่วยตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ ก็ต้องศึกษา ต้องถามผู้รู้ ให้เกิดความแน่ใจ”
นายวิษณุ กล่าวถึงประเด็นต่อไปว่า 2. ประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการเงินและการคลัง ที่ปัจจุบันอยู่ที่การประหยัด ผู้บริหารต้องยึดแนวทางที่ว่า ทำอย่างไรให้ผลการทำงานมีประสิทธิภาพที่สุดโดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด 3.ความโปร่งใส อาทิ การเปิดเผยข้อมูลและชี้แจงข้อต้องสงสัยต่างๆ จากประชาชน ซึ่งหากองค์กรใดไม่ปฏิบัติในข้อนี้อาจนำไปสู่ความข้องใจ เกิดความเสื่อมศรัทธา 4.การมีส่วนร่วมของประชาชนที่ปัจจุบันนี้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ มิใช่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจอย่างเช่นในอดีต 5.ความรับผิดชอบในงานที่ทำ ให้เกิดความต่อเนื่อง ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้หลักบริหารที่กล่าวมานั้นเสมือนกับหลักปกครองอื่นอย่างทศพิธราชธรรม ที่เน้นเรื่องคุณธรรม จริยธรรมของผู้บริหา
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้การบริหารส่วนท้องถิ่นดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ยังไม่ถึงกับดีที่สุด ส่วนบรรยากาศที่ประชาชนให้ความสนใจในการเมือง การบริหาร คอยเพ่งเล็งการทำงานของหน่วยงานราชการ จนทำให้ฝ่ายบริหารเกิดความระมัดระวังและเร่งฝีมือในการทำงานนั้น ถือว่าเป็นบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดประชาธิปไตย แต่ต้องมีกฎระเบียบในแต่ละชุมชน โดยเฉพาะฝ่ายบริหารที่ต้องมีธรรมาภิบาลในการปกครอง หากจะทำอะไรก็ต้องยึดกฎหมาย อ้างรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการบริหารงาน