ย้อนผลสอบคดีเรี่ยไรเงินซื้อรถให้"รมต."ใช้-หมอจักรกฤษณ์ โวยถูกป้ายสี
"..รถคันดังกล่าว ได้นำไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขใช้งาน จนเมื่อเกิดข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตในโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข จึงมีคนไป "กระซิบ" รัฐมนตรี และมีการนำรถไปคืนไว้ที่สำนักงานสาธารณสขุจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงเปลี่ยนมือไป.."
“ท่าน นพ.จักรกฤษณ์ ติดประชุมกับผู้ใหญ่อยู่ ยังไม่สะดวกที่จะรับสาย ขอให้ติดต่อกลับมาใหม่อีกครั้ง”
นี่คือคำยืนยันของผู้ใกล้ชิด นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ที่พยายามติดขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับการถูกชี้มูลความผิดในคดีกล่าวหาใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เรี่ยไรเงินจากโรงพยาบาลในเขตตรวจราชการที่ 6 รวม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง บริจาคเงินรวม 3,601,020 บาท เพื่อซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกน ให้รัฐมนตรีไว้ใช้งานในระหว่างลงพื้นที่ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำมาเผยแพร่เป็นทางการไปเมื่อเร็วๆ นี้
(อ่านประกอบ: สั่งฟันวินัยร้ายแรง"หน.ผู้ตรวจสธ."เรี่ยไร 3.6 ล.ซื้อรถตู้ให้รมต.ลงพื้นที่)
ในเบื้องต้น แม้สำนักข่าวอิศรา จะยังไม่ได้รับความกระจ่างชัดเจน จากปากคำของ นพ.จักรกฤษณ์ เกี่ยวกับที่มาที่ไปของข้อเรื่องเรียนในคดีนี้ รวมถึง "รัฐมนตรี" ที่ถูกระบุถึงว่าเป็นผู้ใช้งานรถตู้โฟล์คสวาเกนเจ้าปัญหา คันนี้ ว่าเป็นใคร?
แต่จากการสืบค้นข้อมูลในรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2552 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 ที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน ต่อกรณีนี้ พบว่า มีแจกแจงข้อมูลที่มาที่ไปคดีนี้ ไว้อย่างละเอียด
เริ่มต้นจากการที่คณะกรรมการสอบสวน ได้รับจดหมายแจ้งเบาะแสเรื่องการจัดซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกน ที่ส่งถึงประธานกรรมการฯ รวมทั้งได้รับโทรศัพท์จากข้าราชการสาธารณสุขในภาคใต้แจ้งเบาะแสเข้ามา
มีเนื้อหาสรุปตรงกันว่า นพ.จักรกฤษณ์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็น "สาธารณสุขนิเทศก์ กระทรวงสาธารณสุข" ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้ตรวจราชการในภาคใต้ 4 จังหวัด ในเขต 6 ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง และนครศรีธรรมราช ได้พยายาม “ประจบเอาใจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น คือ "นายวิทยา แก้วภราดัย"
โดยการเรี่ยไรเงินจากโรงพยาบาล ใน 4 จังหวัด ซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกนให้รัฐมนตรีไว้ใช้งาน โดยเฉพาะในระหว่างการลงพื้นที่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นพ.จักรกฤษณ์ มีเรื่องพัวพันเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการสอบสวนกำลังดำเนินการในโครงการไทยเข้มแข็ง คือ เป็นผู้ไป “ขอร้องแกมบังคับ”ให้โรงพยาบาลต่างๆ ในจ.นครศรีธรรมราช จัดซื้อเครื่องยูวีแฟน ในราคาเครื่องละ 99,000 บาท คณะกรรมการจึงได้ดำเนินการสอบสวนเรื่องการจัดซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกน
ซึ่งพบว่า แม้เป็นเรื่องที่อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน และเป็นเรื่องสำคัญที่ควรดำเนินการต่อไป เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริต ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาล จึงจัดทำเป็นรายงานแยกต่างหาก
เบื้องต้น คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการสอบสวน โดยสอบพยานที่เกี่ยวข้องจำนวน 8 คน รวมถึงตัวของ นพ.จักรกฤษณ์ และตรวจสอบเอกสารบัญชีเงินสวัสดิการโรงพยาบาลทั่วไปในเขต 6 และสมุดบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องรวม 11 ฉบับ รวม 36 แผ่น
โดยผลการสอบสวน สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
1. มีการ "ขอร้องแกมบังคับ" ให้โรงพยาบาลในเขต 6 เบิกเงินสวัสดิการเพื่อมาจัดซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกน โดยอ้างเหตุผลดังนี้
(1) เขตมีรถใช้งานไม่เพียงพอ
(2) รถที่มีเป็นรถเก่า ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ดี โดยอ้างว่า มีภารกิจต้องตามขบวนเสด็จเป็นประจำ รถที่มีอยู่สภาพเก่า ตามขบวนเสด็จไม่ทัน
(3) ต้องการรถที่มีคุณภาพดีไปให้รัฐมนตรีได้ใช้ระหว่างลงพื้นที่
2. โรงพยาบาลในเขต 6 ได้เบิกเงินสวัสดิการของโรงพยาบาลเพื่อจัดซื้อรถคันดังกล่าว เท่าที่ตรวจสอบได้ ดังนี้
- โรงพยาบาลพัทลุง 1.5 ล้านบาท
- โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี 4 แสนบาท
- โรงพยาบาลนครศรีธรรมราช 1,001,200 บาท
- โรงพยาบาลชุมพร 5 แสนบาท
3. เงินทั้งหมดส่งให้สมาคมแม่บ้านสาธารณสุขสุราษฎร์ธานี บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาสุราษฎร์ธานี เลขที่ 807-0-47853-5 และโอนเงินไปที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม จัดซื้อรถยนต์ตู้โฟล์คสวาเกนจากบริษัทไทยยานยนตร์ เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด
4. ดำเนินการจัดซื้อ กระทำตั้งแต่เมื่อต้นเดือน เม.ย.52 แต่กว่าจะโอนทะเบียนเป็นของโรงพยาบาลพัทลุงได้ ต้องใช้เวลานาน โดยมีลำดับขั้นตอนดังนี้
-ในระหว่างการจัดซื้อได้พยายามจะโอนรถให้เป็นของสมาคมแม่บ้านสาธารณสุขสุราษฎร์ธานี แต่มีปัญหา ทำไม่ได้เพราะสมาคมดังกล่าว เป็นสาขาของสมาคม มิใช่นิติบุคคล
-ต่อมามีความพยายามจะโอนเป็นชื่อของสมาคมแม่บ้านสาธารณสุขส่วนกลาง แต่สมาคมแม่บ้านสาธารณสุขไม่รับดำเนินการให้ เข้าจะว่าเป็นเพราะปลัดกระทรวงสาธารณสขุไม่พอใจการกระทำ “ข้ามหน้าข้ามตา” ของ นพ.จักรกฤษณ์ นายกสมาคมแม่บ้านสาธารณสขุ คือ ภรรยาของปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่รับดำเนินการให้
-ต่อมาได้มีการโอนรถคันดังกล่าว ไปเป็นชื่อของ บริษัทเวิลด์สยามกรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นเพื่อนของนางสาวอัญชลี ภุมมา ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการเขต 6 จึงมีชื่อบริษัทเวิลด์สยามกรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ครอบครองรถ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.52
ต่อจากนั้น จึงได้โอนต่อให้โรงพยาบาลพัทลุง กว่าจะทำการโอนได้สำเร็จมีปัญหาขัดข้องมากมาย ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานถึง 2 เดือน เศษกว่าจะโอนได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2552
-รถคันดังกล่าว ได้นำไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขใช้งาน จนเมื่อเกิดข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตในโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข จึงมีคนไป "กระซิบ" รัฐมนตรี และมีการนำรถไปคืนไว้ที่สำนักงานสาธารณสขุจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงเปลี่ยนมือไป
ก่อนที่ นพ.จักรกฤษณ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข โดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ต.ค.52 และนพ.จักรกฤษณ์ ได้มีหนังสือสั่งการโดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขขอรถจากโรงพยาบาลพัทลุงไปใช้งานที่เขต 6 แล้ว
ทั้งนี้ นพ.จักรกฤษณ์ รับว่า เป็นผู้ริเริ่มขอเงินสวัสดิการจากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตให้ช่วยกัน “ลงขัน” ซื้อรถคันดังกล่าวด้วยตนเอง
และนางสาวอัญชลี ให้ถ้อยคำว่า นพ.จักรกฤษณ์ เป็นผู้นำเงิน 50,000 บาท ไปเป็นค่ามัดจำสั่งจองรถเอง รวมทั้งเป็นผู้จัดการเรื่องป้ายแดงของรถ เมื่อมีการจ่ายเงินค่ารถแล้ว เนื่องจากสมาคมแม่บ้านสาธารณสุขสุราษฎร์ธานี จ่ายเงินเต็มจำนวน นพ.จักรกฤษณ์ ได้สั่งการให้นางสาวอัญชลี เป็นผู้ไปทวงเงินค่ามัดจำคืน ซึ่งทางบริษัทได้ต่อว่านางสาวอัญชลีในลักษณะที่ผิดปกติ ผิดวิสัยของพ่อค้าควรที่จะพูดจากับลูกค้าด้วยคำพูดที่สุภาพนุ่มนวลและผลที่สุดไม่คืนเงินดังกล่าวให้แก่นางสาวอัญชลี
เมื่อรถได้ทะเบียนป้ายดำแล้ว บริษัทได้จ่ายค่ามัดจำป้ายแดงคืนให้ นพ.จักรกฤษณ์ เป็นเงิน 4,000 บาท โดยเช็คมีการขีดฆ่าชื่อผู้รับเดิม คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชื่อ นพ.จักรกฤษณ์ ด้วย
@ ความเห็นคณะกรรมการ
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้
1. การที่ นพ.จักรกฤษณ์ อ้างเหตุผลและความจำเป็นในการจัดซื้อรถไว้ใช้ในราชการของเขต เป็นเหตุผลที่ไม่สมควร เพราะตามปกติ ผู้ตรวจราชการมีสำนักงานประจำอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข แม้มีการจัดตั้งสำนักงานเขตขึ้นดังที่เขต 6 ตั้งสำนักงานเขตขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ก็ไม่มีเหตุผลความจำเป็นจะต้องมีรถราคาแพงไว้ใช้งานประจำ
เพราะปกติ เมื่อลงตรวจราชการในพื้นที่ หน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดก็มีรถไว้ให้บริการอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการสะดวกและประหยัด เพราะแต่ละจังหวัดห่างไกลกัน ถ้าใช้รถของเขตจะต้องเดินทางจากจังหวัดที่เป็นที่ตั้งเขตไปยังจังหวัดอื่นๆ เป็นการสิ้นเปลื้องและอาจมีปัญหาขลุกขลักเกิดขึ้นได้ด้วย เพราะพนักงานขับรถจากจังหวัดที่ตั้งเขตย่อมไม่คุ้นเคยกับเส้นทางในจังหวัดอื่น ๆ เท่าพนักงานขับรถในพื้นที่
2. การอ้างเหตุผลเรื่องตามขบวนเสด็จไม่ทัน น่าจะเป็นการอ้างที่ไม่บังควรและขัดต่อข้อเท็จจริง เพราะหากใช้รถของเขตซึ่งมักต้องมีพนักงานขับรถประจำย่อมมีปัญหาความไม่คุ้นเคยกับเส้นทาง ทำให้เกิกปัญหาตามขบวนเสด็จไม่ทันได้มากกว่า
3. ภารกิจของผู้ตรวจราชการที่ต้องลงพื้นที่เป็นภารกิจที่ปฏิบัติเป็นครั้งคราว การ "ขอร้องแกมบังคับ” ให้จังหวัดต่างๆ ใช้เงินสวัสดิการของโรงพยาบาลไปจัดซื้อรถยนต์ราคาแพงเพื่อการใช้งาน “เป็นครั้งคราว” ของเขต เป็นการกระทำที่ไม่สมควรกับตำแหน่งหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง
และหากนำไปให้รัฐมนตรีใช้เป็นการประจำ ยิ่งเป็นการไม่สมควรมากขึ้นไปอีก
4. การดำเนินการจัดซื้อรถคันดังกล่าวน่าจะไม่โปร่งใส และมีเงื่อนงำ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อพนักงานบริษัท พนักงานของบริษัทมีท่าทีแข็งกร้าวกับผู้ช่วยผู้ตรวจราชการเขต 6 และเจ้าพนักงานธุรการเขต 6 ซึ่งไปติดต่อเรื่องขอเงินค่ามัดจำคืน และเรื่องการโอนทะเบียนรถ ผิดวิสัยของพ่อค้า ซึ่งย่อมต้องให้บริหารแก่ลูกค้า โดยสุภาพและมุ่งสร้างความประทับใจที่ดีมากกว่า ประกอบกับกรณีการขอร้องแกมบังคับ ให้ซื้อเครื่องยูวีแฟนราคาแพงมาก โดยสินค้าอาจเป็นสินค้า "ย้อมแมว" ขายด้วย ทำให้มีข้อน่าเคลือบแคลงต่อพฤติกรรมของนพ.จักรกฤษณ์เป็นอย่างยิ่ง
5. น่าสังสัยว่าการที่ นพ.จักรกฤษณ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ต.ค.52 จะเกี่ยวข้องกับรถตู้โฟล์คสวาเกนคันนี้หรือไม่
@ ข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. กระทรวงสาธารณสุขควรตั้งคณะกรรมการสอบสอบขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องการจัดซื้อรถตู้โพล์สวาเกนคันนี้ให้ความกระจ่าง และดำเนินการกับผู้กระทำผิดโดยเคร่งครัด
2. ควรส่งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนกับผู้กระทำผิดต่อไป
------------
ทั้งหมดนี้ คือ รายงานการสอบสวนเบื้องต้นฉบับเต็ม! กรณีการจัดซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของรัฐมนตรี ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2552 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 ที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน
ก่อนที่เรื่องจะเงียบหายไป และมาปรากฎเป็นข่าวอีกครั้ง ว่า ป.ป.ช. ได้ลงมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา ขณะที่นางอัญชลี ภุมมา ถูกกันตัวไว้เป็นพยาน ตามที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข้อมูลไปแล้ว
ล่าสุด เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 29 ส.ค.57 นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดต่อมายังผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
โดย นพ.จักรกฤษณ์ ระบุว่า ได้เห็นข่าวดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ของป.ป.ช.แล้ว และก็รู้สึกงง กับผลชี้มูลที่ออกมาอย่างมาก เนื่องจากรถที่จัดซื้อมาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดซื้อให้รัฐมนตรี หรือข้าราชการระดับสูงคนใดคนหนึ่งไว้ใช้งาน เพราะเป็นรถของหลวง ไม่ใช่รถของคนใดคนหนึ่ง ใครก็สามารถใช้งานได้ และปัจจุบันก็ยังเป็นรถของหลวงอยู่
"ส่วนที่ระบุว่าผมใช้อำนาจโดยมิชอบ ไปบังคับขู่เข็ญให้รพ.บริจาคเงินซื้อนั้น ผมขอเรียนว่าตอนนั้นผมมีตำแหน่งเป็นเพียงแค่สาธารณสุขนิเทศก์ ไม่ได้มีอำนาจมากมายที่จะไปบังคับใครได้ และการจัดหารถคันนี้ ก็เป็นการเชิญชวนว่าถ้าใครพร้อมก็มาช่วยกัน ไม่ได้มีการบังคับอะไร ผมมันก็แค่ข้าราชการตัวเล็กๆ คนหนึ่งก็เท่านั้น"
"ส่วนที่ไประบุว่า ได้ขึ้นตำแหน่งผู้ตรวจราชการเพราะรถคันนี้ ก็ไม่เป็นความจริง ผมขึ้นมาตามตำแหน่งตามสายงาน ตามอาวุโส ขณะที่ผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ ชุดที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน ที่ออกมา ผมก็ได้มีการยื่นเรื่องฟ้องหมิ่นประมาทไปแล้ว เพราะมันไม่เป็นความจริง "
นพ.จักรกฤษณ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เห็นผลการชี้มูลความผิดของป.ป.ช. ที่ออกมาแล้ว ตนได้ทำหนังสือไปถึง อกพ.กระทรวงสาธารณสุข ร่วมถึงป.ป.ช. เพื่อตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาอีกรายหนึ่ง ที่ถูกกันตัวไว้เป็นพยาน ว่าแท้จริงแล้วเป็นคนอย่างใด ที่ผ่านมาเคยถูกตนเรียกมาตักเตือนเรื่องความประพฤติไปแล้ว จากการนำชื่อของตนไปกล่าวอ้างเพื่อดำเนินการเรื่องบ้างอย่างที่ไม่เหมาะสม และปัจจุบันก็ลาออกจากราชการหนีไป 2-3 ปีแล้ว
"ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ผลสอบจะออกมาเป็นอย่างไร ผู้ถูกกล่าวหาอีกคนไปให้การอะไรกับป.ป.ช.ที่มีลักษณะใส่ร้ายป้ายสีผมหรือเปล่า เพิ่งจะมารู้เหมือนกันว่า เขาถูกกันเป็นพยานไว้ ทั้งที่เรื่องนี้เขาเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมดตั้งแต่การเรี่ยไรเงิน การไปติดต่อซื้อรถยนต์ แต่สรุปผมโดนคนเดียว"
"ตอนนี้ผมก็หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช. รวมถึง อกพ. กระทรวงฯ ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการอยู่ด้วย เพื่อขอความเป็นธรรม ซึ่งผมมีพยานพร้อมที่จะไปยืนยันข้อมูลด้วย หลักฐานทุกอย่างผมมีหมด "
"ตอนนี้หวังเป็นอย่างมากว่าจะได้รับความเป็นธรรม กับเรื่องนี้ เพราะอย่างที่บอกไปผมมันก็แค่ข้าราชการตัวเล็กคนหนึ่งเท่านั้น" นพ.จักรกฤษณ์ระบุ