ทีดีอาร์ไอแนะพัฒนาระบบรางต้องดึงเอกชนเข้าร่วม แบ่งปันผลประโยชน์
เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 29 สิงหาคม 2557 เวลา 11:13 น.
เขียนโดย
thaireform
หมวดหมู่
Tags
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ แนะดึงเอกชนเข้าร่วมพัฒนาระบบรางรัฐ ภายใต้เงื่อนไขแบ่งปันผลประโยชน์เชื่อนโยบายรัฐชัดเจนจะเกิดการแข่งขัน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดยสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเครือข่ายพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางของประเทศ 19 หน่วยงาน จัดประชุมวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางแห่งประเทศไทย ประจำปี 2557
ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาเรื่องระบบรางต่อการหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ณ ห้องบอลรูมชั้น2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการลงทุน 10 ปีที่ผ่านมาใช้งบลงทุนเรื่องทางถนน ซึ่งพบว่า คนที่รายได้ต่ำใช้ถนนน้อยกว่าคนที่มีรายได้สูงจึงเป็นปัญหาการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางรางที่ประชาชนแทบเข้าไม่ถึงการใช้บริการ เพราะในปัจจุบันเรามีเส้นทางรถไฟ 40 จังหวัด ในขณะที่รถเมล์มีทุกจังหวัด สาเหตุเพราะรัฐไม่อุดหนุนเรื่องระบบรางและทำให้มีเข้าถึงค่อนข้างน้อย ขณะที่รายจ่ายภาครัฐจะอยู่ที่ส่วนกลางอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ดังนั้นผลประโยชน์จึงตกอยู่กับคนที่อยู่ในส่วนกลาง ผู้มีรายได้สูง สำหรับคนที่มีรายได้น้อยแทบไม่ได้ประโยชน์
"โครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเรื่องรถไฟน่าจะตอบโจทย์ได้ดีในการเข้าถึงการใช้บริการโดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น"
ดร.สุเมธ กล่าวว่า รางเป็นระบบสาธารณะอย่างหนึ่ง และรางเป็นทางเลือกสำคัญในการสร้างระบบในอนาคต แต่ที่ผ่านมาไม่มีการแข่งขัน ขาดการมีส่วนร่วมของเอกชนในการดำเนินงาน นี่คือปัญหาที่เราจะต้องนำมาพูดคุยกันในการที่จะให้ระบบรางเดินไปข้างหน้า
สำหรับนโยบายของภาครัฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ควรจะกำหนดให้เอกชนมานั่งดำเนินงาน โดยรัฐเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความชัดเจนเอกชนก็พร้อมจะเข้ามาร่วม แต่หลายๆ ครั้ง การสร้างรางในประเทศพบว่า ถ้าเอกชนสร้างจะเสร็จเสมอ แต่ถ้ารัฐทำเองสร้างไม่เสร็จ
"นี่ก็เป็นกรณีหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ทำไมต้องดึงเอกชนมาร่วมจัดการ เชื่อว่าหากสัญญาชัดเจน ผลประโยชน์ชัดเจน รัฐสามารถที่จะจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัว มีกฎระเบียบที่สร้างแรงบันดาลใจให้ภาคเอกชนอยากเข้ามาแข่งขันมีส่วนร่วมมีนโยบายที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขแบ่งปันผลประโยชน์ก็จะสามารทำให้โครงการต่างๆดำเนินการได้"
ด้านดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้อำนวยการกองวิชาการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราต้องตั้งคำถามว่า ปัจจุบันนี้ประเทศต้องการอะไร หรืออยากได้อะไรต้องเขียนเอง แต่ทุกวันนี้ระบบงานของประเทศไทยกลับไปให้คนอื่นเขียนแทน ทำไมไม่สร้างงคนให้เขียนในสิ่งที่เราอยากได้
"ฉะนั้นความหวังทุกอย่างจึงอยู่ที่นโยบายภาครัฐว่า อยากจะขับเคลื่อนแค่ไหน และอยากมีความชัดเจนมากน้องเพียงใด และเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมพร้อมเสมอที่จะเข้ามาดำเนินการและช่วยกันออกแบบโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในการขนส่ง โดยเฉพาะการเขียนทีโออาร์เราจะเขียนอะไรต้องให้ภาคอุตสาหกรรมมาช่วย ใครอยากแข่งขัน ประมูล ก็เข้ามา"