เปิดละเอียดความเห็น “กฤษฎีกา”ตอบ! ปมโกงสอบนายอำเภอปี'52
“…ดังนั้น ประกาศกรมการปกครอง เรื่อง ผลการคัดเลือกข้าราชการฯ ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือก รวมทั้งสิ้น 286 คน จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงและชัดแจ้งบางส่วน ทำให้ประกาศผลการคัดเลือกในส่วนของผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 139 คนดังกล่าว ไม่มีผลทางกฎหมายมาตั้งแต่ต้น…”
หมายเหตุ www.isranews.org : เป็นบันทึกของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่อง ผลบังคับใช้ของประกาศผลการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอผู้ได้รับการคัดเลือกบางรายทุจริต ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และกรมการปกครองได้มีคำสั่งปลดออกจากราชการ ก่อนที่กรมการปกครองจะทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือในประเด็นดังกล่าว
----
กรมการปกครองได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0302.2/5730 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือเกี่ยวกับการเพิกถอนประกาศผลการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ
กรมการปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลเป็นอย่างมาก ประกอบกับกรมการปกครองจะต้องแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอฯ ให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นตามบัญชีรายชื่อในประกาศกรมการปกครอง เรื่อง ผลการคัดเลือกข้าราชการ เพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ลงวันที่ 23 เมษายน 2552 ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด และผู้ที่ได้รับการกันไว้เป็นพยานรวมอยู่ด้วย กรมการปกครองจึงขอหารือเกี่ยวกับสถานะของประกาศกรมการปกครองดังกล่าวตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.ประกาศกรมการปกครอง เรื่อง ผลการคัดเลือกข้าราชการ เพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ซึ่งมีผลต่อการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น เป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ และเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
2.ถ้าประกาศกรมการปกครองดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อกรมการปกครองได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ผ่านการคัดเลือกที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้ว กรมการปกครองจำเป็นต้องเพิกถอนบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือกตามประกาศดังกล่าวอีกหรือไม่ ถ้ากรมการปกครองไม่ดำเนินการเพิกถอนบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือก จะมีผลในทางกฎหมายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรมการปกครองในฐานะผู้ออกคำสั่งทางปกครองหรือไม่ อย่างไร
3.หากกรมการปกครองจะต้องเพิกถอนบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จะต้องดำเนินการเพิกถอนทั้งบัญชี (286 ราย) หรือเพิกถอนเฉพาะผู้ผ่านการคัดเลือกที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และจะต้องเพิกถอนบัญชีในส่วนของผู้ได้รับการกันไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี (20 ราย) ด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
4.การเพิกถอนบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จะต้องกระทำภายในระยะเวลาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่เป็นการให้ประโยชน์ตามมาตรา 49 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ หรือไม่ และระยะเวลาในการเพิกถอนจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่กรมการปกครองได้รับเรื่องการชี้มูลความผิดจากสำนักงาน ป.ป.ช. หรือเริ่มนับตั้งแต่วันที่กรมการปกครองมีคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ผ่านการคัดเลือกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด
5.ถ้ากรมการปกครองจะดำเนินการเพิกถอนบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก กรมการปกครองจะต้องให้ผู้ผ่านการคัดเลือกที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ก่อนการเพิกถอนหรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง โดยที่การเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอเป็นขั้นตอนที่จำเป็นแก่การได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ โดยผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาอบรมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอหากผ่านการศึกษาอบรม ส่วนผู้ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาอบรมไม่มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ
ดังนั้น ประกาศกรมการปกครอง เรื่อง ผลการคัดเลือกข้าราชการ เพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณ 2552 จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของอธิบดีกรมการปกครอง ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ได้รับการคัดเลือก และผู้ไม่ได้รับการคัดเลือก จึงเป็น “คำสั่งทางปกครอง” ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ
ทั้งนี้ เมื่อข้อเท็จจริงตามผลการไต่สวนข้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับฟังได้ว่า มีการให้คะแนนในการสอบข้อเขียนแก่ผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 139 คน ประกอบด้วยบุคคลที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 119 คน และบุคคลที่กันไว้เป็นพยาน 20 คน โดยไม่มีการตรวจสมุดคำตอบ และผู้ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวได้เขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่นอกห้องสอบ และนายวุฒิชัย เสาวโกมุท (กรรมการผู้คุมสอบ) ได้นำไปใส่ในสมุดคำตอบแทนกระดาษคำตอบเดิมที่เขียนในห้องสอบ อันเป็นการกระทำทุจริต
ดังนั้น ประกาศกรมการปกครอง เรื่อง ผลการคัดเลือกข้าราชการฯ ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือก รวมทั้งสิ้น 286 คน จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงและชัดแจ้งบางส่วน ทำให้ประกาศผลการคัดเลือกในส่วนของผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 139 คนดังกล่าว ไม่มีผลทางกฎหมายมาตั้งแต่ต้น
ประเด็นที่สอง แม้กรมการปกครองจะมีคำสั่งลงโทษข้าราชการที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดโดยไล่ออกจากราชการไปแล้ว ทำให้ข้าราชการดังกล่าวไม่อาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภออีกต่อไป แต่เมื่อประกาศผลการคัดเลือกข้าราชการดังกล่าวเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง และชัดแจ้งบางส่วน กรมการปกครองจึงสมควรแก้ไขปรับปรุงด้วยการยกเลิกผลการคัดเลือกในส่วนที่ผิดพลาดนั้น เพื่อให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ประกาศผลการคัดเลือกในส่วนของข้าราชการดังกล่าวไม่มีผลทางกฎหมายมาตั้งแต่ต้น
ประเด็นที่สาม เมื่อประกาศกรมการปกครอง เรื่อง ผลการคัดเลือกข้าราชการฯ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ผิดพลาด เฉพาะในส่วนของผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 119 คน ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด และผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 20 คน ที่กันไว้เป็นพยาน รวมทั้งสิ้น 139 คน ดังนั้น จึงมีเหตุที่จะแก้ไขปรับปรุงด้วยการยกเลิกผลการคัดเลือกเฉพาะในส่วนของผู้ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวเท่านั้น
ประเด็นที่สี่ เมื่อประกาศกรมการปกครอง เรื่อง ผลการคัดเลือกข้าราชการฯ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง และชัดแจ้งบางส่วน และไม่มีผลทางกฎหมายมาตั้งแต่ต้น การยกเลิกผลการคัดเลือกในส่วนที่ผิดพลาดจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ
ประเด็นที่ห้า เมื่อผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับฟังได้ว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 119 คน ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด และผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 20 คน ที่กันไว้เป็นพยาน รวมทั้งสิ้น 139 คน ได้เขียนกระดาษคำตอบใหม่นอกห้องสอบ และนายวุฒิชัย นำไปสับเปลี่ยนกับกระดาษคำตอบเดิม อันเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นที่ยุติแล้ว
กรมการปกครองจึงใช้ข้อเท็จจริงตามสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณามีคำสั่งยกเลิกผลการคัดเลือกในส่วนของผู้ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องรับฟังคู่กรณีอีก
ทั้งนี้ เทียบเคียงได้กับการลงโทษทางวินัยแก่บุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด ซึ่งมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยได้โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก โดยให้ถือว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
อ่านประกอบ :
กฤษฎีกาตีความให้กรมการปกครอง ยกเลิกผลสอบคัดเลือกนอภ.ปี’52
คำร้องอดีตขรก.ขอความเป็นธรรม คสช.ปมโกงสอบนายอำเภอ (ฉบับเต็ม)
ป.ป.ช.มติเอกฉันท์! ฟัน “วงศ์ศักดิ์” คดีโกงสอบ รร.นายอำเภอ
หมายเหตุ : ภาพประกอบ กระทรวงมหาดไทย จาก oknation