‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’ ยื่นจม.เปิดผนึก ‘บิ๊กตู่’ ค้านเซ็นเอ็มโอยูแก้ปมหมืองทองคำ
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ยื่นจม.เปิดผนึก ‘ประยุทธ์’ ค้านบันทึกข้อตกลงแก้ปัญหา ‘เหมืองทองคำ’ ระบุกรรมการ 4 ชุดได้มาโดยมิชอบ-ไม่มีคนกลาง หากยังนำไปใช้ถือละเมิดสิทธิมนุษยชน ย้ำทางออกต้องเป็นไปตามมติชาวบ้าน 16 ส.ค.57
วันที่ 25 สิงหาคม 2557 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ยื่นจดหมายเปิดผนึก เรื่อง “ข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหาตามเอกสารประชาคมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน” ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้บัญชาทหารบก และ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แม่ทัพภาคที่ 2, ผู้บัญชาการทหารบกจังหวัดเลย, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย, อุตสาหกรรมจังหวัดเลย, พ.อ เสาวราช แสงผล, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( ทสจ.) จังหวัดเลย, สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จังหวัดเลย และนายอำเภอวังสะพุง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ความว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้แล้ว
ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ชุด ที่ทหาร (คสช.) ที่ปฏิบัติการในพื้นที่ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ได้แต่งตั้งขึ้นนั้น ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่าง ผู้ประกอบการเหมืองทองคำ กับ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 6 หมู่บ้านขึ้น ในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 หรือในวันอื่นถัดจากนี้ โดยให้ผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย หมู่ 1 ,2 , 3 , 4 ,12 และ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย หรือผู้ที่มีตำแหน่งราชการอื่นในท้องถิ่น เป็นตัวแทนในการลงนามนั้น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมีข้อคิดเห็นดังนี้
1.คณะกรรมการทั้ง 4 ชุดที่ทหาร คสช. ได้แต่งตั้งนั้น ไม่มีความชอบธรรม เนื่องจาก
(1.1) กรรมการชุดนี้มีที่มาที่ไม่แน่ชัด ไม่มีหนังสือแต่งตั้งที่ชัดเจน ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการจัดตั้ง
(1.2) คณะกรรมการดังกล่าวไม่มีคนกลาง หรือชาวบ้านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการ
(1.3) คณะกรรมการชุดดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นคู่กรณีกับชาวบ้านทั้งสิ้น
(1.4)ในทุกเวที ที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นนั้น กลับพบว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ใส่ใจที่จะรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านอย่างแท้จริง โดยในบางเวทีได้มีการขับไล่ชาวบ้านที่แสดงความเห็นว่าต้องการจะให้มีการถอนประทานบัตรของบริษัทฯ ออกจากการร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะไม่ตรงกับความความต้องการของคณะกรรมการ
2. หากการทำบันทึกข้อตกลงในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 หรือวันอื่นถัดจากนี้ ไม่เป็นไปตามเอกสารประชาคมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน วันที่ 16 สิงหาคม 2557 ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1,2,3,4,12,13 ที่ราษฎรทั้ง 6 หมู่บ้านดังกล่าวได้มีการทำประชาคม ในวันที่ 16 สิงหาคม 2557 ซึ่งส่วนใหญ่เห็นชอบกับข้อเสนอทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ใน เอกสารประชาคมฯ ดังรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมิชอบ
ดังนั้นบันทึกข้อตกลงในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 หรือวันอื่นถัดจากนี้หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่ตรงตามเอกเอกสารประชาคมฯจริง จะไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้
3.ตัวแทนผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน หรือ ข้าราชการอื่นในท้องถิ่น ไม่ถือว่าเป็นตัวแทนของราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำในขณะนี้ เพราะเป็นการลงนามที่ข้อเสนอในบันทึกข้อตกลงไม่สอดคล้องกับเอกสารประชาคมฯ
4.หากหน่วยงานราชการใดนำบันทึกข้อตกลงในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 หรือวันอื่นถัดจากนี้ ไปใช้ในการกระทำการใดๆ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
5.หากหน่วยงานราชการใดนำบันทึกข้อตกลงในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 หรือวันอื่นถัดจากนี้ที่ไม่เป็นไปตามเอกสารประชาคมฯ ไปใช้ในการกระทำทางปกครอง จะถือว่าเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบ และราษฎรกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะนำคดีขึ้นสู่ศาล