มก.เผยผลสำรวจพื้นที่ป่า ปี'55-56 พบเหลือ 102 ล้านไร่ 'อีสาน' ครองแชมป์น้อยสุด
คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ เผยผลสำรวจป่าไม้ไทยล่าสุดปี 2555-2556 พบเหลือ 102 ล้านไร่ 'อีสาน' ครองแชมป์เหลือป่าไม้น้อยสุด นักวิจัยแนะตั้งคณะกก.นโยบายป่าไม้แห่งชาติ กำหนดค่ามาตรฐานกลางจัดทำข้อมูล หลังพบตัวเลขพื้นที่ป่า 6 ปี ย้อนหลังขาดหาย
วันที่ 22 สิงหาคม 2557 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานสัมมนาเรื่อง "ทรัพยากรป่าไม้ :สถานภาพ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง" ณ ห้องประชุม FORTROP คณะวนศาสตร์ มหาวทิยาลัยเกษตรศาตร์ กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.วีระภาส คุณรัตนสิริ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าวิจัยจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าปี 2555-2556 กล่าวว่า การจัดทำข้อมูลป่าไม้ในครั้งนี้ เนื่องจากพบว่า ข้อมูลป่าไม้ในประเทศไทย 6 ปีย้อนหลัง ในปี 2551-2556 ขาดหายไปไม่มีบันทึกของกรมป่าไม้ ทางคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้ และสำนักงานทรัพยากรที่ดินให้จัดทำข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ภาคพื้นดินของประเทศไทยปี 2555-2556 ขึ้น มีระยะเวลาการปฏิบัติงาน 9 เดือน เริ่มตั้งแต่กลางปี 2555 - 2556 ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยใช้ดาวเทียมไทยโชต ,ดาวเทียม Landsat 8 และการวัดด้วยบุคคลโดยใช้หลักตีความทางสายตาทำการสำรวจข้อมูล
จากผลสำรวจพื้นที่ป่าไม้ภาคพื้นดินโดยแบ่งตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ข้อมูลระบุว่า ภาคเหนือมีพื้นที่ป่าร้อยละ 65.3, ภาคตะวันออกร้อยละ 22.02 , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 15.09, ภาคกลางร้อยละ 20.92, ภาคตะวันตกร้อยละ 53.08 และภาคใต้ร้อยละ 23.95 โดยรวมป่าไม้ภาคพื้นดินทั้งประเทศ เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 31.57 หรือคิดเป็น จำนวน 102 ล้านไร่ ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ที่ร้อยละ 33.44 คิดเป็นพื้นที่ป่า 107 ล้านไร่ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กรมป่าไม้กำหนด
ทั้งนี้พื้นที่ป่าที่หายไปในระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2551 คิดเป็นพื้นที่กว่า 5 ล้านไร่ ของพื้นที่ประเทศไทย
ผศ.ดร.วีระภาส คุณรัตนสิริ กล่าวต่อว่า ในขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำข้อมูลพื้นป่าไม้ภาคพื้นดินปี 2556-2557 ซึ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 9 เดือนเช่นกัน คือตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามจากการสำรวจมาแล้วกว่า 4 เดือน พบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มป่าไม้ลดลงมากกว่าปี 2555-2556 อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในการสัมมนามีข้อถกเถียงกันในประเด็นสำคัญอีกมากมาย โดยตัวแทนจากกรมป่าไม้ ตัวแทนจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ฯลฯ เสนอให้รื้อฟื้นจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อกำหนดค่ามาตรฐานกลางในการจัดทำข้อมูลในพื้นที่ป่าในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งจัดทำฐานข้อมูลกลางที่ไม่ซ้ำซ้อนมีค่ามาตรฐานที่เหมือนกันทุกหน่วยงาน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีค่ามาตรฐานดังกล่าวเลย อีกทั้งในอดีตเคยมีการจัดตั้งขึ้นแต่เนื่องด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละฝ่ายจึงต้องยุบไป