ชาวสบเมยทุกข์หนัก ความช่วยเหลือโคลนถล่มไม่ทั่วถึง
จากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม-โคลนถล่มที่เกิดขึ้นอีกระลอก ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้ร่วมลงพื้นที่ประสบภัยใน จ.แม่ฮ่องสอน กับมูลนิธิกระจกเงาที่เข้าไปช่วยเหลือชุมชน และสะท้อนการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ยังคงล่าช้าไม่ทั่วถึง รวมทั้งหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติที่ยังติดขัดในการช่วยเหลือ
นางสาวนฤมล คุ้มครอง รักษาการ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยกองก้าด ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าหมู่บ้านห้วยกองก้าดตั้งอยู่บริเวณที่มีลำห้วยแม่สามแลบ และลำห้วยกองก้าดล้อมรอบ ภัยพิบัติครั้งล่าสุดทำให้บ้านเรือนเสียหาย 5 หลัง แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนอาคารเรียนได้รับความเสียหายจากเศษไม้ และท่อนซุง 3 หลัง นอกจากนี้น้ำป่ายังทำให้หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน และจานรับสัญญาณดาวเทียมโทรศัพท์ ชำรุดใช้การไม่ได้
นางสาวนฤมล กล่าวว่าหน่วยงานแรกๆ ที่เข้ามาให้การช่วยเหลือคือ หน่วยทหารพราน และศูนย์เครือข่ายเด็กและชุมชนสบเมย ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา และกลุ่มครูบ้านนอกเชียงราย โดยนำอาสาสมัครมาช่วยทำฝายกั้นลำห้วย และฟื้นฟูสภาพอาคารเรียน ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่สามแลบ ได้ส่งรถแบคโฮช่วยขุดร่องน้ำเพื่อเปลี่ยนเส้นทางเดินน้ำ ลดความเสียหายหากเกิดกรณีน้ำหลากอีกระลอก
“อยากเปิดสอนเร็วๆเพราะกลัวเด็กเรียนไม่ต่อเนื่อง แต่หนังสือเรียนก็เสียหายเกือบหมด ได้ส่งรายงานไปยังเขตฯ (สำนักงานเขตการศึกษาพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา แม่ฮ่องสอน เขต 2) แล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งระหว่างรอก็จะให้นักเรียนทำงานบนใบงานไปก่อน หากช้าเกินไปก็จะเจียดงบฯ ร.ร.ซื้อเอง” นางสาวนฤมล กล่าว
ด้านนายสง่า พิสมัย ผู้ใหญ่บ้านซีวาเดอ ม. 3 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า หมู่บ้านบ้านซีวาเดอ ได้รับผลกระทบบ้านพังเสียหาย 3 หลังจาก 89 หลัง พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่าร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวที่เพิ่งปลูกได้เพียง 2 เดือน ซึ่งได้รายงานทางการแล้วแต่เกรงว่าอาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เนื่องจากชาวบ้านหลายคนไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรเพราะยังไม่ได้รับสัญชาติไทย นอกจากนี้ระบบประปาภูเขายังพังทลาย ทำให้ทั้งหมู่บ้านไม่มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค
ผู้ใหญ่บ้านซีวาเดอ ยังกล่าวว่า ขณะนี้ได้รับความช่วยเหลือเป็นถุงยังชีพจากทางอำเภอเพียง 50 ถุง ซึ่งไม่ทั่วถึงชาวบ้าน และได้ประสานไปยัง อบต.แม่สามแลบ เรื่องการซ่อมบำรุงระบบน้ำประปา แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีงบประมาณ ทั้งที่มีกองทุนน้ำประปาอยู่ ทำให้หมู่บ้านไม่มีน้ำใช้ ต้องสูบจากลำห้วยขึ้นมาใช้เป็นการชั่วคราว สร้างความเดือดร้อนอย่างหนัก
นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายเด็กและชุมชนสบเมย กล่าวว่าปัญหาที่ทำให้การช่วยเหลือในพื้นที่ไม่ทั่วถึงคือ 1.การคมนาคมที่ไม่สะดวก เนื่องจากมีสภาพเป็นหุบเขา แต่ละหมู่บ้านอยู่อย่างกระจัดกระจาย ระบบการสื่อสารที่ไม่เอื้ออำนวย และชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงยังไม่ได้รับสัญชาติไทย จึงขาดโอกาสเข้าถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ทางศูนย์ฯจึงตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และได้หารือกับตัวแทนชุมชนเพื่อให้การช่วยเหลือ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 แจกจ่ายถุงยังชีพ ระยะที่ 2 ฟื้นฟูที่ทำกิน และระยะที่ 3 ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต เช่น การให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติ ระบบเตือนภัย คาดว่าจะนำระบบวิทยุเตือนภัยมาใช้ในพื้นที่แต่ยังไม่มีงบประมาณเพราะลุงทุนค่อนข้างสูง
การฟื้นฟูเบื้องต้น ได้ระดมทุนทำคันกั้นตลิ่งโดยนำกล่องเกเบี้ยน(กล่องตาข่ายลวด) บรรจุหินวางกั้นตลิ่งตามแนวขั้นบันไดเพื่อกันน้ำกัดเซาะ ซึ่งมีความคงทนกว่ากระสอบทรายที่ต้องซ่อมแซมทุกปี แต่กล่องเกเบี้ยนมีต้นทุนสูงถึงกล่องละ 1,200 บาท หากกั้นตลิ่ง 200 เมตร จะใช้ 100 กล่อง ทางศูนยฯ ตั้งเป้าระดมทุนเพื่อจัดซื้อที่ 1,000 กล่อง เพื่อใช้การในหลายหมู่บ้าน เพราะส่วนใหญ่ตั้งอยู่ติดลำห้วย ซึ่งหากหน่วยงานรัฐไม่ให้การสนับสนุน อาจต้องระดมทุนกันเอง
นายสันติพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ชาวบ้านหลายพื้นที่หวาดกลัวต่อปัญหาภัยพิบัติ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา บางส่วนได้รื้อถอนบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างเพื่อป้องกันความเสียหายแล้วกว่า 20 หลังคาเรือน จากกรณีดังกล่าวผู้นำชุมชน 2-3 หมู่บ้านปรึกษากันว่าอยากอพยพออกจากพื้นที่ เพื่อหาที่ทำกินแห่งใหม่ และได้ไปสำรวจพื้นที่แล้ว แต่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ อาจเกิดกรณีพิพาทกับเจ้าหน้าที่อีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านเล่าว่าแต่เดิมบรรพบุรุษจะมีการสังเกตและเฝ้าระวังภัยในฤดูฝน เรียกตามภาษากะเหรี่ยงว่า “ชิมือชิชา” แปลว่า ล้างหน้า(ฤดู) หรือช่วงเปลี่ยนฤดูปลายฝนต้นหนาว ซึ่งจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ส.ค.-กลางเดือน ก.ย. ของทุกปี โดยในช่วงนั้นจะระมัดระวังมาก เช่น หากไปไร่นาแล้วมีฝนตก 1-2 ชั่วโมงก็จะรีบเดินทางกลับบ้านทันที แต่ในระยะหลังธรรมชาติมีความแปรปรวนมาก ซึ่งปีนี้ถือว่ามาเร็วกว่ากำหนดมาก นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า บริเวณที่มีถนนหลวงตัดผ่านมักเกิดปัญหาดินไสลด์และโคลนถล่ม .