23 เครือข่ายองค์กรวิชาชีพ วิชาการและภาคประชาสังคม ค้านร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
23 เครือข่ายองค์กรวิชาชีพ วิชาการและภาคประชาสังคม ค้านร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพราะมีการเปลี่ยนหลักการสำคัญหลายประการ และไม่เป็นอิสระจากอำนาจทางการเมือง
18 พันธมิตรสื่อ นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน ค้าน ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ฉบับปล้นคลื่นความถี่
จากการที่คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.....ไปเมื่อวันอังคารที่ 10 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมาและกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้(18 มิถุนายน 51)
องค์กรดังรายนามข้างท้าย ขอคัดค้านกระบวนและสาระร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมรวมมูลค่าหลายแสนล้านบาท และมีผลกระทบต่อการเข้าถึง และปิดกั้นโอกาส ในการได้ใช้คลื่นความถี่ อันเป็นสาธารณะสมบัติของชาติของภาคประชาชน ด้วยกระบวนการในการจัดทำที่ฉ้อฉลและรวบรัด โดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันขัดต่อเจตนารมณ์เดิมของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ต้องการให้เกิดกระบวนการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง อีกทั้งมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ระบุว่า "การออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ"
2.เนื้อหาหลายประเด็นของร่างกฎหมายนี้ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงและบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อในสาระสำคัญ ดังนี้
ที่มาและกระบวนการสรรหา กสช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ แต่กลับไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เนื่องจากให้อำนาจคณะรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือกแทนวุฒิสภาตัดสิทธิภาคประชาชนที่จะได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ออก และเปิดช่องให้ใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไร โดยให้อำนาจ กสช.กำหนดจำนวนและวิธีการหารายได้ ให้กำไรตกเป็นขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และให้อำนาจ อปท.ติดตามและตรวจสอบการนำส่งรายได้นั้น
- การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานและข้อมูลรายจ่ายของ กสช. กำหนดให้มีการ ชี้แจงโดยสรุป แทนที่จะเปิดเผยโดยละเอียด เพราะเกี่ยวพันกับประโยชน์มหาศาลของชาติ
การติดตามและตรวจสอบประเมินผล กสช. กำหนดให้ กสช. ซึ่งจะต้องเป็นผู้ถูกตรวจสอบ มีอำนาจแต่งตั้ง ว่าจ้าง รวมทั้งกำหนดค่าตอบแทนคณะกรรมการที่จะมาประเมินตนเอง รวมถึงไม่มีกระบวนการกำหนดให้มีการรับผิดรับชอบ (Social Accountability) นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตเรื่องความโปร่งใสและธรรมมาภิบาล
- มีผลเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่ใช้คลื่นความถี่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนหน้าที่กฎหมายจะบังคับใช้ (ผู้ใช้คลื่นความถี่อยู่ก่อนวันที่ร่างมีผลใช้บังคับมีสิทธิได้ใช้คลื่นอยู่ต่อไป)
- มีบทบัญญัติที่ถือเป็นการ ให้อภิสิทธิ กระบวนการสรรหา กสช. ไม่ต้องปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล เพราะเมื่อ กสช. รับจดทะเบียนองค์กรและสถาบันใดแล้ว การวินิจฉัยของศาลในภายหลังว่าการจดทะเบียนนั้นมิชอบ ไม่ให้มีผลกระทบต่อการที่สำนักงาน กสช. ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่ศาลมีวินิจฉัย
- ร่างกฎหมายนี้ตัดมาตรา 80 ในร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 ซึ่ง ห้ามหน่วยงานใดๆพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการหรือให้ใบอนุญาตประกอบกิจการเพิ่มเติม ในระหว่างที่การสรรหาและแต่งตั้งองค์กรอิสระยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งอาจนำไปสู่การทิ้งทวนสัมปทานคลื่นความถี่ครั้งใหญ่
ด้วยเหตุนี้ องค์กรดังมีรายนามข้างท้าย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ และแสดงความรับผิดชอบต่อการปกป้องคลื่นความถี่อันเป็นสาธารณสมบัติของชาติ ด้วยการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แล้วจัดให้มีกระบวนการเปิดรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่าย มิฉะนั้น องค์กรผู้มีรายชื่อข้างท้ายนี้ จำเป็นต้องอาศัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่ง เพื่อแก้ไขให้กระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้มีความถูกต้องและความชอบธรรมต่อไป
อนึ่ง ในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย 51) ผู้คัดค้านจะไปยื่นหนังสือต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ จะไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นอกจากนี้ ในภาควิชาการก็จะมีการล่ารายชื่อนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนทั่วประเทศ เพื่อเคลื่อนไหวต่อไป
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.)
สมาคมนักบริหารสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา
สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.)
สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
เครือข่ายสื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว
สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค
เครือข่ายวิทยุเด็กและครอบครัว
เครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะ
เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน
สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)
17 มิถุนายน 2551
วันพุธที่ 18 มิถุนายน 2551
เวลา 10.00 น. ยื่นหนังสือต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ที่ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1
เวลา 10.30 น. ยื่นหนังสือต่อ ประธานวุฒิสภา ผ่าน รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 และ
คุณรสนา โตสิตระกูล ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และ
คุณสมชาย แสวงการ ประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
ที่ห้องรับรอง 2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
เวลา 11.00 น. ยื่นหนังสือต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์
ที่อาคารรัฐสภา 1 ชั้น 2 ห้องประธานวิปฝ่ายค้าน
หมายเหตุ หลังจากการเคลื่อนไหวคัดค้าน ได้มีองค์กรวิชาชีพและภาคประชาสังคมมาสนับสนุนเพิ่มเติม เป็น 23 องค์กร