แอร์พอร์ตลิงก์ โชว์ภาพซ่อมจริง เจียจริง รางรถไฟ
ปรากฎเป็นกระแสในโลกออนไลน์นานนับสัปดาห์ สำหรับการชำรุดของรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่ถูกสังคมตั้งคำถามถึงเรื่องของความปลอดภัย รวมถึงระยะเวลาการซ่อมบำรุง
ยิ่งเมื่อปรากฎภาพ รอยสึกที่หัวราง (ส่วนที่สัมผัสกับล้อ) ที่ทางสับหลีกของสถานีหัวหมาก รอยแตกแนวขวางใกล้ช่วงโค้งของสถานีลาดกระบังไปสู่สถานีสุวรรณภูมิ และแผ่นยางรองเหล็กประกบรางหลุด บริเวณสถานีลาดกระบัง เผยแพร่ออกสู่สาธารณะด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการกังวลเรื่องความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ล่าสุด คืนวันที่ 20 สิงหาคม 2557 วิศวกรและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าดำเนินการซ่อมรอยชำรุดสึกที่ผิวราง บริเวณประแจทางหลีกที่สถานีหัวหมากเรียบร้อยแล้ว โดยภาพการซ่อมรอยชำรุดในคืนดังกล่าว ยิ่งสวนทางกับที่ผู้บริหารบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ออกมาให้ข่าวก่อนหน้านี้ว่า "ภาพรางชำรุด (ที่แชร์กันในโลกออนไลน์) แม้จะจริง แต่นานมากแล้ว"
จึงเป็นที่มาของคำถาม เหตุใดแอร์พอร์ตลิงก์ถึงไม่เร่งซ่อม หรือแก้ไขโดยด่วน ทำไมช่วงที่ผ่านมาทำได้แค่เฝ้าระวัง พร้อมกับให้ข่าวได้แก้ไขด้วยการสั่งการลดความเร็วรถเท่านั้น
นอกจากนี้ ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ แอร์พอร์ตลิงก์ ยังได้ชี้แจงผ่านเฟชบุค PR.Airport Rail Link เปรียบเทียบให้เห็นภาพต่อภาพที่ตกเป็นข่าวในเฟชบุค เพื่อเรียกความเชื่อมั่น และความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการกลับคืน พร้อมกับแสดงภาพการซ่อมบำรุงช่วงที่ผ่านมา เช่น การเปลี่ยนลูกปืนล้อ ตรวจสอบบำรุงรักษาแบตเตอรี่ บำรุงรักษาแหนบรับไฟ (Pantograph) การเก็บตัวอย่างน้ำมันเกียร์ เพื่อตรวจสอบตามวาระและทำความสะอาดชุดเกียร์ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเหตุขัดข้องย้อนหลังกลับไป 15 วัน พบ
9 สิงหาคม
- รถไฟฟ้าซิตี้ไลน์ขัดข้องที่ชาญชาลา สถานีบ้านทับช้างจึงทำให้มีการสลับชาญชาลา ทำให้เกิดความล่าช้าประมาณ 15 นาที
- เกิดกลุ่มควันที่สถานีบ้านทับช้าง เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ผลจากการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง แจ้งว่า มีความขัดข้องของระบบขับเคลื่อนของรถไฟ ทำให้ระบบเบรคฉุกเฉินทำงานขณะวิ่งเข้าถึงชานชาลาสถานีบ้านทับช้าง อีกทั้งสถานีบ้านทับช้างเป็นโครงสร้างแบบหลังคาปิด จึงทำให้ควันที่เกิดขึ้นไม่กระจายตัว โดยหลังจากที่ระบบเบรคฉุกเฉินทำงาน และรถไฟจอดสนิทที่สถานีบ้านทับช้าง ระบบคอมพิวเตอร์ภายในขบวนรถสั่งงานไม่ให้ขบวนรถเคลื่อนที่ไปต่อ ทางเจ้าหน้าที่ประจำสถานี และพนักงานขับรถไฟ จึงแจ้งให้ผู้โดยสารย้ายชานชาลาเพื่อใช้บริการต่อไปยังสถานีปลายทาง ซึ่งเกิดความล่าช้าประมาณ 25 นาที เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดอันตรายต่อผู้โดยสารแต่อย่างใด
15 สิงหาคม
- รถไฟฟ้าซิตี้ไลน์ เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคที่สถานีมักกะสัน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนขบวนรถ
นี่ไม่นับกรณี 'งด' ให้บริการรถไฟฟ้าด่วนมักกะสัน (Makkasan Express) บ่อยครั้ง รวมถึงความล่าช้ามาไม่ตรงเวลา...