3 เดือน นักธุรกิจ 5 ชาติเอเชียให้ผ่าน คสช.แก้ปัญหาศก.-การเมือง
นักธุรกิจเอเชีย 5 ชาติฟันธง คสช. สอบผ่านฉลุย 88.2% ระบุ มีความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ 82.1% เชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาทางการเมือง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
วันที่ 21 สิงหาคม ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจ 5 ชาติในเอเชียที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และมาเลเซีย จำนวน 660 คน เกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อการทำงานของ คสช. ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 ถึง 18 สิงหาคม 2557 โดยพบว่า ระดับความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักธุรกิจเอเชีย ถือเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับแนวทางการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ส่วนประเด็นสำคัญที่ยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการคอร์รัปชั่น หรือปัญหาของระบบการศึกษา ที่ไม่สามารถสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพได้ตามที่นายจ้างคาดหวัง ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน รวมไปถึงการปฏิรูปที่กำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการพื้นฟูประเทศให้เร็วที่สุด กับการส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ไม่ปล่อยให้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกลับมาเกิดซ้ำได้อีก
สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจ 5 ชาติในเอเชีย จากการสอบถาม ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นที่มีต่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของ คสช. มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พบว่า โดยภาพรวมแล้ว 88.2% ระบุว่า มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา 8.6% ความเชื่อมั่นเท่าเดิม และอีก 3.2% มีความเชื่อมั่นลดลง
หากจำแนกตามประเทศพบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ที่มีความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 91.2% ญี่ปุ่น 89.0% และ เกาหลีใต้ 88.7% (รายละเอียดตามรูปที่ 1)
ส่วนความเชื่อมั่นที่มีต่อการแก้ปัญหาทางการเมืองของ คสช. ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า โดยภาพรวมแล้ว 82.1% ระบุว่า มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา 14.8% ความเชื่อมั่นเท่าเดิม และอีก 3.0% มีความเชื่อมั่นลดลง โดยหากจำแนกตามประเทศพบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ที่มีความเชื่อมั่นในด้านการเมืองเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 83.2% จีน 83.0% และ อินเดีย 82.8% (รายละเอียดตามรูปที่ 2)
จากการสอบถามเพื่อให้ประเมินระดับความรุนแรงของปัญหาที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยการให้คะแนนตั้งแต่ 1 (รุนแรงน้อยที่สุด) ถึง 10 (รุนแรงมากที่สุด) พบว่า
ปัญหาที่มีความรุนแรงที่สุด 5 อันดับแรก คือ การคอร์รัปชั่น 9.45 คะแนน คุณภาพการศึกษา 9.42 คะแนน การขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ 9.41 คะแนน ต้นทุนด้านค่าตอบแทนแรงงาน 8.52 คะแนน และต้นทุนด้านพลังงาน 8.41 คะแนน
และเป็นที่น่าสังเกตว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ กลายเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงเป็นอันดับท้าย ซึ่งตัวชี้วัดอีกประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นที่นักธุรกิจเหล่านี้มีต่อการทำงานของ คสช. ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ (รายละเอียดตามรูปที่ 3)
เมื่อให้นักธุรกิจทั้ง 5 ชาติประเมินผลการทำงานของ คสช. ใน 5 ด้าน ได้แก่ ความโปร่งใสในการทำงาน ความรวดเร็วในการทำงาน แนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสม การสื่อสารผลงานให้สาธารณชนได้รับรู้ และการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น โดยการให้คะแนนตั้งแต่ 1 (น้อยที่สุด) จนถึง 10 (มากที่สุด) พบว่า โดยภาพรวมแล้ว ได้คะแนน 8.62 คะแนน หากเรียงตามลำดับคะแนนที่ได้ในแต่ละด้าน จะพบว่า ความโปร่งใส่ในการทำงานได้รับคะแนนมากที่สุด 8.86 คะแนน อันดับสอง การสื่อสารผลงานให้สาธารณชนได้รับรู้ 8.74 คะแนน อันดับสาม การเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น 8.55 คะแนน อันดับสี่ แนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม 8.52 คะแนน และอันดับห้า ความรวดเร็วในการทำงาน 8.45 คะแนน (รายละเอียดตามตารางที่ 1)
สำหรับประเด็นเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำงานของ คสช. ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้ง พบว่า 83.8% มีความเห็นว่า ไม่ควรจะมีการกำหนดเวลาไว้ตายตัว แต่ควรประเมินจากการทำงานว่าทำได้ตามที่วางแผนไว้เสร็จเรียบร้อยหรือยัง 7.4% ไม่เกิน 3 ปี 7.1% ไม่เกิน 2 ปี และอีก 1.7% ไม่เกิน 1 ปี (รายละเอียดตามตารางที่ 2)