80 ปี 5 คน ใครเป็นใคร? “หน.คณะรัฐประหาร”นั่งควบเก้าอี้“นายกฯ”
“…เบ็ดเสร็จผ่านมา 80 ปี ประเทศไทยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ได้นั่งตำแหน่งนายกฯควบคู่ไปด้วยถึง 4 คน โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึง 6 สมัย รองลงมาเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา 5 สมัย…”
ไม่เหนือความคาดหมาย ! ภายหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 191 เสียง (งดออกเสียง 3 เสียง-ลาป่วย 3 คน) เสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
(อ่านประกอบ : ไม่พลิก!มติเอกฉันท์ 191 เสียงสนช.ตั้ง“ประยุทธ์”นั่งเก้าอี้นายกฯ-ป่วย 3 คน )
โดยถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญการปกครองในปี 2475 !
แต่ก่อนหน้านี้ หากนับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งแรก เมื่อปี 2476 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีนายกรัฐมนตรีที่มาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นจำนวนไม่น้อย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ย้อนรอยนำบุคคลที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และลงเอยด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มานำเสนอ ดังนี้
1.รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476
นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) และหลวงศุภชลาศัย โค่นรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ภายหลังพระยามโนปกรณ์ฯประกาศกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และมีความขัดแย้งกับคณะราษฎร กรณีการยื่น “สมุดปกเหลือง” เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎร ฝ่ายพลเรือน และบีบบังคับให้นายปรีดี เดินทางออกนอกประเทศ
หลังจากการรัฐประหาร พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ 5 สมัย ระหว่างปี 2476 - 2480
2.รัฐประหาร 6 เมษายน 2491, รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494
นำโดยกลุ่มนายทหารกลุ่มเดียวกับที่รัฐประหาร พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี โดยต่างขนานเหตุการณ์นี้ว่า “รัฐประหารเงียบ” เนื่องจากใช้กลุ่มบุคคล-ทหารไม่กี่คน เข้าเจรจากับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ลาออก หลังจากนั้นในวันที่ 8 เมษายน 2491 นายควง ถึงยอมลาออก และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2492 ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2475 อีกครั้ง เป็นเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้านขณะนั้น ประกาศคว่ำบาตรทุกประการ
หลังจากการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ 6 สมัย ระหว่างปี 2491 – 2500
3.รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501
นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายหลังรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2500 และมอบหมายให้นายพจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อจัดเลือกตั้ง หลังจากนั้นพล.ท.ถนอม กิตติขจร ได้รับตำแหน่งนายกฯ อย่างไรก็ดีมีบรรดา ส.ส. เรียกร้องเอาผลประโยชน์ และขู่ว่าจะถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล ทำให้จอมพลสฤษดิ์ ประกาศยึดอำนาจ โดยอ้างความมั่นคงของประเทศ และยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 และยกเลิกพรรคการเมือง ก่อนจะประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองปี 2502 โดยมีมาตรา 17 อันน่าสะพรึงในเวลาต่อมา
หลังจากการรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ 1 สมัย ระหว่างปี 2501 – 2502
4.รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514
นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เนื่องจากไม่อาจควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรได้ และเรียกตัวเองว่า คณะปฏิวัติ จากนั้นได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2511 ยกเลิกรัฐสภา และพรรคการเมือง ก่อนประกาศใช้ธรรมนูญการปกครอง ปี 2515 มีมาตรา 17 เหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
หลังจากการรัฐประหาร จอมพลถนอม ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ 1 สมัย ระหว่างปี 2514 – 2515
และรัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการณ์น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนัก เมื่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ส่งผลให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ถึง 7 – 8 เดือน บ้านเมืองระส่ำระส่าย ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ก่อนจะกระทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม ในที่สุด
หลังจากการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ภายหลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 191 เสียง โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ
ทั้งนี้ น่าสนใจว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2476 พบว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่เคยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพิ่งมีครั้งนี้เป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ในการประชุม สนช. ที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีอำนาจในการเสนอชื่อนายกฯแต่อย่างใด !
เบ็ดเสร็จผ่านมา 80 ปี ประเทศไทยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ได้นั่งตำแหน่งนายกฯควบคู่ไปด้วยถึง 5 คน โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึง 6 สมัย รองลงมาเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา 5 สมัย
ทั้งนี้ต้องจับตาดูต่อไปว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะบริหารราชการแผ่นดินไปในทิศทางไหน และพร้อมจะ “คืนความสุขให้คนในชาติ” อย่างที่ป่าวประกาศทุกคืนวันศุกร์หรือไม่ ?
เวลาและการกระทำเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน !
อ่านประกอบ : พลิกแฟ้มฉากชีวิต "บิ๊กตู่" ก่อนนั่งนายกฯคนที่ 29 ของประเทศไทย