ปตท. แจงแยกบริษัทท่อเพื่อประโยชน์รัฐ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวชี้แจงว่า แม้มีการแยกธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ ออกมาเป็นบริษัทใหม่ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 แต่ ปตท. ตระหนักดีว่า ระบบท่อส่งก๊าซฯ ในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามที่ ปตท. ได้มีการแบ่งแยกคืนให้กับกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว
โดยอนาคตบริษัทท่อใหม่จะเป็นผู้ทำสัญญาขอใช้ทรัพย์สินของรัฐ พร้อมทั้งจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ต่อไป เพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐ เช่นที่ ปตท. ปฏิบัติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตามรายละเอียด ดังนี้
1. การโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและอำนาจมหาชนไปที่ บมจ.ปตท. ในช่วงการแปรรูป ปตท. นั้น ได้รับการแก้ไขโดยพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแล ดังนั้น บมจ.ปตท. จึงไม่มีอำนาจมหาชนใดๆ เหลืออยู่
อีกทั้ง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ บมจ.ปตท. ต้องคืนทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจาก การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ เวนคืน/รอนสิทธิเหนือที่ดินของเอกชน และ การใช้เงินลงทุนของรัฐ (การปิโตรเลียมฯ) โดยทรัพย์สินส่วนนี้ ปตท. ได้ดำเนินการโอนคืนให้ภาครัฐตั้งแต่ปี 2551 โดยไม่รวมถึงท่อในทะเล ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีบันทึกยืนยันว่า ปตท. คืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว โดยในส่วนทรัพย์สินที่ส่งมอบให้กรมธนารักษ์นั้น ปตท. ได้ทำสัญญาให้ใช้ฯ โดยได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรมธนารักษ์
ส่วนทรัพย์สินอื่น ศาลวินิจฉัยว่า บมจ.ปตท. เป็นเจ้าของทั้งนี้ตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 นอกจากนี้ ในปี 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ ปตท. คืนท่อในทะเล ปรากฏว่าศาลฯ ไม่รับคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบไป
2. ท่อส่งก๊าซฯ ที่ บมจ.ปตท. จะโอนไปยังบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 15 สิงหาคม 2557 นั้น เป็นทรัพย์สินเฉพาะในส่วนที่ บมจ.ปตท.เป็นเจ้าของเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินที่เป็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และ ปตท. ได้แบ่งแยกคืนให้กับกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาแล้วนั้น บริษัทท่อใหม่จะต้องไปทำสัญญาใช้ทรัพย์สินดังกล่าว โดยจ่ายค่าตอบแทนให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังต่อไป
3. นโยบายของ คสช. ด้านพลังงาน คือการปฏิรูปพลังงาน มิใช่การแปรรูป ปตท. ครั้งที่ 2 เพื่อสร้างธุรกิจเสรีอย่างแท้จริง ลดความกังวลเรื่องการผูกขาด ซึ่งการแยกบริษัทท่อฯ ออกมา จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้บริการขนส่งก๊าซทางท่อได้อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้การกำกับดูแลจากองค์กรกำกับกิจการของรัฐ (Regulator) ในอัตราค่าใช้บริการที่เหมาะสมเป็นธรรม
“การโอนทรัพย์สินไปยังบริษัทท่อส่งก๊าซใหม่ จะเป็นการโอนทรัพย์สินในส่วนที่ ปตท. เป็นเจ้าของในปัจจุบัน แต่ทรัพย์สินในส่วนที่รัฐเป็นเจ้าของ กระทรวงการคลังก็ยังคงสิทธิในความเป็นเจ้าของเช่นเดิม ซึ่งบริษัทที่ตั้งใหม่ต้องทำสัญญาให้ใช้ฯ กับรัฐเช่นกัน” นายไพรินทร์ กล่าวยืนยันในตอนท้าย
ลำดับการดำเนินการ ดังนี้
• เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาขอให้ ปตท. ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐและของ บมจ.ปตท.
• คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ระบุให้ ปตท. ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาจาก 1) การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ 2) การรอนสิทธิเหนือที่ดินของเอกชน และ 3) การใช้เงินลงทุนของรัฐ โดยมอบหมายให้ กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดิน ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบรับรองความถูกต้อง และต่อมาได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบและกำหนดแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการรับโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมฯ ขึ้น
• วันที่ 22 ธันวาคม 2551 กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือแจ้งมายัง ปตท. ว่า ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินต่างๆ ให้แก่กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครอง เสร็จสิ้นครบถ้วนแล้ว และขอให้รายงานศาลปกครองสูงสุดเพื่อทราบต่อไป
• วันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุด ได้บันทึกในคำร้องรายงานสรุปของ ปตท. ว่า ปตท. ดำเนินการโอนทรัพย์สินทั้งหมดตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว
•วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือถึง ปตท. และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึง เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองว่า “การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ บมจ.ปตท. ให้แก่กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด จะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่จะผู้พิจารณา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นยุติ”
• วันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลปกครองสูงสุด ได้ยกคำร้องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องขอให้ศาลไต่สวนการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษา และได้แนบรายงานการตรวจสอบทรัพย์สินของ สตง.ประกอบคำร้องดังกล่าวด้วย แต่ศาลได้พิจารณาและยืนยันว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
• วันที่ 10 สิงหาคม 2553 กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้เสนอเรื่องการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาของปตท.ไปยังคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการดำเนินการดังกล่าวของ ปตท. แล้ว
• วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องว่า ปตท. คืนท่อตามคำพิพากษาไม่ครบและขอให้ศาลตัดสินให้ปตท.คืนท่อในทะเลด้วย โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาว่า ปตท. ได้ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว