พลิกแฟ้มฉากชีวิต "บิ๊กตู่" ก่อนนั่งนายกฯคนที่ 29 ของประเทศไทย
“…บทบาทของ “พล.อ.ประยุทธ์” มาแจ่มชัดมากยิ่งในช่วงการชุมนุมของ “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) ที่ต้องการขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 และปี 2553…”
ไม่มีพลิกโผ-แหกโผ เมื่อ “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) เทคะแนนให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย
สอดคล้องกับผลโพลทุกสำนัก-บรรดาขุนทหาร-นักวิชาการ (บางส่วน)-ภาคประชาสังคม ที่ยกให้ “บิ๊กตู่” เหมาะสมและคู่ควรกับตำแหน่งผู้นำ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงขอพลิกแฟ้มประวัติของ “พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง ฉากการก้าวขึ้นเป็น “ผบ.ทบ.” มานำเสนอ
“พล.อ.ประยุทธ์” เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายของ “พ.อ.(พิเศษ) ประพัฒน์” กับ “เข็มเพชร” จันทร์โอชา
จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” ที่ปรึกษาคสช. “พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร” อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23
“พล.อ.ประยุทธ์” รับราชการทหารที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์”ทหารเสือราชีนี” มาโดยตลอด เริ่มมาจากตำแหน่งผู้บังคับการกองพัน จนถึงผู้บังคับการกรม ซึ่งเป็นที่เดียวกับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ประธานที่ปรึกษาคสช. และ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ที่ปรึกษาคสช.
จากนั้นย้ายไปอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เริ่มเข้ามีบทบาททางการทหารที่อิงกับการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตผบ.ทบ. นำทหารยึดอำนาจจากรัฐบาล “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 19 กันยายน 2549
ขณะนั้น “พล.อ.อนุพงษ์” ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ได้มอบหมายภารกิจกับ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่าให้คุมกำลังทหารเป็นหลัก จนกระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์” ถูกตบรางวัลอย่างงามในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อ “พล.อ.อนุพงษ์” พี่ชายสุดเลิฟต้องเข้าไลน์ 5 เสือทบ.
และหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 “พล.อ.ประยุทธ์” ยังได้เข้ามานั่งทำงานในสภาครั้งแรก จากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัตแห่งชาติ
จากตำแหน่งสนช.ทำ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ได้รู้จักกับ “นักกฎหมาย” มือฉมังของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ “พรเพรช วิชิตชลชัย” ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาว่าในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องสั่งเบรกเพื่อรอให้ “พรเพรช” กลับมาจากต่างประเทศก่อน จึงจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญกัน
บทบาทของ “พล.อ.ประยุทธ์” มาแจ่มชัดมากยิ่งในช่วงการชุมนุมของ “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) ที่ต้องการขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 และปี 2553
ในปี 2552 “พล.อ.ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่ง “รองผบ.ทบ.” เป็นมือไม้คนสำคัญของ “พล.อ.อนุพงษ์” คนการควบคุมการชุมนุมของ “นปช.” เพราะจากหลังที่ “นปช.” ล้มการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่พัทยา บรรดา “รัฐมนตรี” ในยุค “รัฐบาลอภิสิทธิ์” และ “ขุนทหาร” ทั้งหมด เข้าร่วมประชุมกันที่ “ร.1 รอ.” อย่างพร้อมเพียง
มีการสั่งการกันใน “ร.1 รอ.” พร้อมประกาศ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” มอบอำนาจให้ “ทหาร” ควบคุมสถานการณ์การชุมนุม เกิดการปะทะกันบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง จนในที่สุด “นปช.” ต้องล่าถอยไป เพราะประเมินแล้วว่า “ทหาร” เอาจริง
จนกระทั่งการชุมนุมของ “นปช.” ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ที่มีการจัดเตรียมการชุมนุมให้แข็งแกร่งกว่าเดิม และสามารถตรึงมวลชนไว้ในที่ชุมนุมได้ตลอด
“รัฐบาลอภิสิทธิ์” ตัดสินใจสู้ “นปช.” อีกครั้ง ซึ่งยังมี “ขุนทหาร” แผงอำนาจเดิมทั้งหมดคอยเป็นแบ็คอัพให้ ตัดสินใจยึดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์เป็นฐานที่มั่น
เป็นเหตุการณ์ที่สู้กันยืดเยื้อยาวนานกว่าที่ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ประเมินไว้ เกิดการปะทะจากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณ “แยกคอกวัว” จนทำให้ “ทหาร-ผู้ชุมนุม” เสียชีวิต จำนวนมาก
เมื่อเกิดการปะทะไม่เป็นผลดีต่อ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” จึงเริ่มกระบวนการเจรจา เงื่อนไขของ “อภิสิทธิ์” คือยุบสภาในเดือนพฤศจิกายน 2553 ส่วนเงื่อนไขของ “นปช.” คือยุบสภาทันที
ซึ่งฝากฝั่ง “นปช.” วิเคราะห์ว่าที่ “อภิสิทธิ์” ต้องการยุบสภาเดือนพฤศจิกายน เพื่อต้องการแต่งตั้ง “พล.อ.ประยุทธ์” ขึ้นเป็น “ผบ.ทบ.” ก่อน เพราะ “พล.อ.อนุพงษ์” จะเกษียณในเดือนกันยายน “นปช.” จึงไม่ยอม
เพราะ “นปช.” ระแวงว่า “พล.อ.ประยุทธ์” คือทายาทที่จะสืบทอดอำนาจของขั้ว “อำมาตย์”
ทว่าเงื่อนไขของการเจรจาไม่สามารถตกลงกัน จึงมีการมีปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” นำมาสู่การสลายการชุมนุมของ “นปช.” ในเวลาต่อมา
จนภายหลัง “พล.อ.อนุพงษ์” เกษียณอายุราชการก็ได้ส่งไม้ต่อให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ขึ้นเป็น “ผบ.ทบ.” ตามความคาดหมาย ชนิดไร้คู่แข่ง
และหากยังจำกันได้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่ง “พรรคประชาธิปัตย์” ขับเคี่ยวกับ “พรรคเพื่อไทย” อย่างสูสี แต่ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ ทั้งหน่วยข่าวกรอง-กอ.รมน. ต่างประเมินแล้วว่า “พรรคประชาธิปัตย์” แพ้การเลือกตั้ง
เป็น “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ออกอากาศสด โดยระบุว่า “อยากฝากให้ทุกคนเลือกตั้งใช้สติมีเหตุผล รู้จักคิดว่า ทำอย่างไรบ้านเมือง สถาบันฯจึงจะปลอดภัย ทำอย่างไรคนดีจึงจะได้มาบริหารชาติบ้านเมือง”
ในช่วงที่ “พรรคเพื่อไทย” เรืองอำนาจ มีบางคนใน “นปช.” เชียร์ให้ปลด “พล.อ.ประยุทธ์” แต่ด้วยท่าทีที่ยืนยันด้วยตัวเองหลายครั้งว่าจะไม่ “รัฐประหาร” จนทุกคนตายใจ
แต่ด้วยสถานการณ์การชุมนุมของ “กปปส.” และ “นปช.” ที่สุ่มเสี่ยงให้ “คนไทย” เข่นฆ่ากันเอง “พล.อ.ประยุทธ์” จึงตัดสินใจ “รัฐประหาร”
ทั้งหมดคือที่มาที่ไปของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา” นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก peopleunitynews