กอ.รมน.กางโรดแมพพูดคุยดับไฟใต้ ถก"ผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม"ทำสัตยาบันสันติสุข
หลังจากวันศุกร์ที่แล้ว (15 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" โดยระบุตอนหนึ่งถึงความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยบอกว่ากำลังประสานเพิ่มเติมกับประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้อำนายความสะดวก และจะเดินหน้าต่อตามโครงสร้างใหม่นั้น
ทำให้ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ส.ค.) บนเวทีเสวนาหาแนวทางความร่วมมือจากสื่อในพื้นที่ร่วมสร้างสันติสุข ซึ่งจัดโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้มีการบรรยายและระดมความเห็นเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุข
เวทีดังกล่าวนี้ แต่เดิมกำหนดให้เป็นเวทีพบปะกันระหว่าง พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) กับสื่อมวลชนในพื้นที่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ พล.ท.วลิต รับตำแหน่งแม่ทัพจากการปรับย้ายนายทหารวาระกลางปี ทว่าเมื่อถึงวันงาน พล.ท.วลิต ต้องเดินทางขึ้นกรุงเทพฯไปร่วมประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะสมาชิก สนช.คนหนึ่ง ซึ่งมีวาระสำคัญคือ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 วาระแรก โดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำชี้แจงงบประมาณด้วยตนเอง จึงไม่สามารถพลาดประชุมได้
แต่เวทีที่ปัตตานียังคงดำเนินต่อไป โดยมี พล.ต.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รองผอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นประธาน
ไฮไลท์ของงานอยู่ที่การบรรยายของ พ.อ.วิชาญ สุขสง รองเสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 ที่อธิบายถึง "โรดแมพ" การพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
เขาเริ่มด้วยการเปิดประเด็นว่า ทำไมจึงต้องพูดคุยกันต่อไป โดยระบุเหตุผล 4 ข้อ คือ 1.ไม่มีความขัดแย้งใดที่แก้ไขให้ยุติด้วยการใช้กำลัง 2.เป็นแนวทางสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ 3.องค์กรระหว่างประเทศ ประชาชนในประเทศ และกลุ่มต่างๆ เรียกร้อง 4.ไม่เกิดผลดีต่อไทยในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หากยังมีความรุนแรงอยู่
สำหรับประวัติศาสตร์การพูดคุย เริ่มตั้งแต่ห้วงก่อนปี 2555 พูดคุยกัน 10 ครั้งในทางลับ ส่วนใหญ่เป็นการพบปะพัฒนาสัมพันธ์ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และหาทางออกร่วมกัน ผลการดำเนินการยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติในเชิงนโยบายที่สำคัญได้
ต่อมาเป็นห้วงปี 2555-2556 ปรากฏว่า วันที่ 18 มี.ค.2555 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับ นายฮัสซัน ตอยิบ และคณะ (ต่อมานายฮัสซันเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น) ที่โรงแรมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ขณะเดียวกันในทางนโยบายของไทย ได้มีการผลักดันนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนในวัตถุประสงค์ข้อ 8 จาก 9 ข้อ เรื่องการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ
โดยวิธีการส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ และเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 28 ก.พ.2556 จึงมีการลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ตลอดปี 2556 มีการพูดคุยรวม 7 ครั้ง เป็นทางการ 3 ครั้ง ไม่เป็นทางการ 4 ครั้ง ผลการดำเนินการอยู่ในภาวะชะงักงัน
สำหรับบทเรียนของการพูดคุยสันติภาพเมื่อปี 2556 ได้แก่ 1.การพูดคุยไม่คืบหน้าเนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายขาดพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจกัน 2.ไม่มีกรอบแนวทางการพูดคุยที่แต่ละฝ่ายต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด 3.กลุ่มบีอาร์เอ็นเข้าร่วมพูดคุยเนื่องจากถูกบีบบังคับจากมาเลเซีย 4.ฝ่ายไทยไม่พร้อม ไม่มีกรอบแนวทางและยุทธศาสตร์การพูดคุยที่ชัดเจน
อย่างไรก็ดี ในความบกพร่องผิดพลาดก็มีผลดี เช่น เกิดสัญญาณที่ดีต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ ขณะที่ฝ่ายไทยทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อเหตุในพื้นที่มากขึ้น และได้รับทราบปัญหาตลอดจนอุปสรรคของการพูดคุย
ขณะที่ห้วงเวลาตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป กอ.รมน.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแต่งตั้งคณะทำงานพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุข กอ.รมน. โดยมี รอง ผอ.รมน.เป็นประธาน และมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) เหมือนเดิม
เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ คือ 1.สร้างกลไกและระบบเพื่อขับเคลื่อนการพูดคุยของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ตลอดจนระดับนโยบาย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถสนับสนุนการปฏิบัติซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.สร้างเอกภาพและลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ 3.สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเกื้อกูลในเวทีการพูดคุย รวมทั้งการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและเสนอความคิดเห็น
ส่วนขั้นตอนการดำเนินการแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน กล่าวคือ 1.ขั้นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะมีการเปิดช่องทางสื่อสารกับผู้เห็นต่าง, สร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่ 2.ลงสัตยาบันร่วมกัน และ 3.จัดทำ "โรดแมพ" หรือ "แผนที่เดินทาง" เพื่อสร้างสันติสุข
สำหรับการดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ในขั้นตอนที่ 1 ตามยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขฯ คือ เปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเห็นต่าง ทั้งบีอาร์เอ็น พูโลเก่า-ใหม่ บีไอพีพี และอื่นๆ โดยเป็นการพูดคุยทางลับเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ
ขณะเดียวกันก็จัดเวทีสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เพื่อแจ้งข่าวสารและรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะ แล้วส่งต่อให้คณะพูดคุยนำไปคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกจาก พ.อ.วิชาญ