'ทต.วังผาง' ต้นเเบบชุมชน 'ปฏิญญาพัฒนาเด็กปฐมวัย' ครั้งเเรกในไทย
ต้นแบบชุมชนท้องถิ่นเพื่อเด็กปฐมวัย 'ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลวังผาง' ร่วมประกาศ “ปฏิญญาพัฒนาเด็กปฐมวัย” ครั้งแรกในประเทศ
การบริหารประเทศให้บรรลุเป้าหมายเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากทุกภาคส่วน ด้วยการทำ “นโยบายสาธารณะ” ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งนโยบายที่ดีต้องเปิดกว้างให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตอบรับและตอบสนองต่อข้อเสนอแนะทุกข้อเสนออย่างไม่มีข้อจำกัด
ซึ่งปัจจุบันการทำ “นโยบายสาธารณะ” ยังขาดมิติที่หลากหลาย ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วันนี้จึงเกิดชุมชนท้องถิ่นที่ลุกขึ้นมาใช้กระบวนการจัดทำนโยบายที่มีประสิทธิภาพเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่แท้จริง คือ เทศบาลตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน
ด้วยบริบทของเทศบาลตำบลวังผาง วิถีชีวิตยังมีความเป็นชุมชนดั้งเดิมเป็นพี่เป็นน้อง ผูกพันแน่นแฟ้นและยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม ความเป็น “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน องค์ประกอบสำคัญในสังคมยังคงรักษาไว้ได้ จึงได้เห็นภาพคนเฒ่า คนแก่ จูงลูกจูงหลานเดินเข้าวัดทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนนั่งพื้นกินข้าวขันโตก อาหารพื้นเมือง แต่งกายเรียบร้อยเหมาะสม หลายคนยังคงใส่ผ้าพื้นเมือง รอบนอกบริเวณวัด ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเป็นธรรมชาติร่มรื่นสวยงาม ไม่มีความเป็นเมืองที่จะเห็นร้านเกม ร้านโทรศัพท์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านเสื้อผ้าวัยรุ่น เป็นความงดงามและหายากในยุคสมัยนี้ องค์ประกอบเหล่านี้ที่ชาววังผางหวงแหนและนำมาเป็นประเด็นนโยบายสาธารณะโดยเน้นไปที่เรื่องอัตลักษณ์และโครงสร้างทางสังคมที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิติประจำวันของตนเอง
“183 ปี ที่ตำบลวังผางร่วมแรงร่วมใจสร้างบ้านแปงเมืองดำรงสืบทอดความสงบร่มเย็นจากรุ่นสู่รุ่น จวบจนปัจจุบันสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนชุมชนต้องมีการเรียนรู้และปรับตัว ชาววังผางตระหนักดีว่าอนาคตต่อไปของบ้านเรา ขึ้นอยู่กับลูกหลานของเราในวันนี้ หากเราสามารถดูแลลูกหลานของเราให้มีการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตำบลวังผางของเราก็จะเป็นตำบลที่น่าอยู่ต่อไป” พระมหาจำลอง กฺลยาณสิริ เจ้าอาวาสวัดดงหลวง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมแรงร่วมใจความตั้งใจที่มีพลังของชาวตำบลวังผางทุกคน จึงสามารถร่วมกันพัฒนาได้ถึงวันนี้
“ปฏิญญาปฐมวัยเพื่อลูกหลานวังผาง” ประเด็นนโยบายสาธารณะ จากการร่วมกันสำรวจทุนและศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลวังผาง โดยคณะครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเทศบาลตำบลวังผางร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กวัย 2-5 ปี: พื้นที่ภาคเหนือ ที่สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน
ผศ.ดร.อุษณีย์ จินตะเวช ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า การดูแลเด็กปฐมวัยยังมีความจำเป็นจะต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนในหลายด้านเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักวิชาการ ทั้งในด้านสถานที่ ความปลอดภัย สภาพแวดล้อม การส่งเสริมพัฒนาการ และการดูแลสุขภาพ รวมทั้ง การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน เพื่อพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นต้นแบบด้านการดูแลเด็กปฐมวัย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่และหนุนเสริมด้วยการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบบบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิและระบบสนับสนุนด้านการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน แต่ประเด็นสำคัญคือ ผู้บริหารท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนมาให้ดูแลศูนย์เด็กเล็ก ยังขาดความเข้าใจในระบบการดูแล คัดกรอง ประเมิน ฟื้นฟู และส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย
นายจรัญ ดวงสะเก็ด นายกเทศมนตรีตำบลวังผาง กล่าวว่า ด้วยความเป็นผู้นำท้องถิ่นจึงเล็งเห็นปัญหาความทุกข์ของชาวบ้าน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน โดยลงสำรวจปัญหาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน แล้วนำมาจัดทำนโยบายสาธารณะ ดึงองค์ประกอบของสังคมที่มีส่วนสำคัญ โดยนำคุณภาพชีวิตลูกหลานเป็นเป้าหมาย เพราะอยากเห็นลูกหลานเติบโตเป็นคนดี แล้วกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง ฉะนั้น ปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิด-5 ปี จึงเป็นวัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเด็กจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป ดังนั้น เป้าหมายความสำเร็จจะเกิดได้ ทุกคนต้องพร้อมใจลงมือทำร่วมกัน
“ทุกวันนี้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล่าช้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการเท่าที่ควร มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาโภชนาการ โรคติดต่อ อันตรายจากอุบัติเหตุ เมื่อทุกคนรับทราบปัญหาก็กลับมาตั้งโจทก์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมกันรับผิดชอบงานในแต่ละส่วนและทำงานประสานเชื่อมโยงกันที่มุ่งสู่เป้าหมายที่อยากเห็นลูกหลานชาววังผางเติบโตแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งในชุมชนของวังผางมีผู้นำ ผู้สูงอายุ และปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม ประเพณีที่มีคุณค่าให้กับลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป” นายจรัญ กล่าว
นางเบญญาภา ก่อพงศ์โชติสิน หัวหน้าศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลวังผาง กล่าวว่า ระยะ 1 ปี ที่ผ่านมาด้วยศักยภาพและทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น การพัฒนาแบบก้าวกระโดดเพื่อความเป็นเลิศใน 5 ระบบ จึงเป็นความรับผิดชอบที่ค่อนข้างหนัก แต่ก็เป็นความภูมิใจของครูทุกคนที่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ โดยครูทุกคนมาร่วมคิดร่วมออกแบบแบ่งหน้าที่รับผิดชอบพัฒนาทั้ง 5 ระบบ ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และทีมสหวิชาชีพมาช่วยขับเคลื่อนคุณภาพ ศพด.วังผาง
ขณะนี้ ศพด.วังผางเปิดสอนระดับเนิสเซอรี่มีครู 4 คน เด็กนักเรียน 47 คน ระดับเตรียมอนุบาลมีครู 2 คน นักเรียน 48 คน จึงประสบปัญหาครูไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็ก อาคารสถานที่คับแคบ ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทุกคนในพื้นที่เข้ามาร่วมรับรู้รับทราบปัญหาเพื่อช่วยกันแสดงความคิดเห็นเติมเต็มในส่วนที่ขาด ประเด็นสำคัญที่ ศพด.วังผางพบคือเด็กบางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับปู่ย่าตายายที่อายุมากและไม่สะดวกที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของ ศพด. ครูจึงใช้วิธีการลงไปเยี่ยมบ้าน ใช้การกระจายความรู้ไปยังผู้นำในชุมชน เพื่อช่วยกันส่งต่อยังพื้นที่ได้ทั่วถึง เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองคือคนสำคัญที่จะส่งเสริมพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็ก
นายฤาชัย กันทาดง กำนันตำบลวังผาง กล่าวอีกว่า การดูแลเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องที่ “รอ” ไม่ได้ คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลวังผางและพนักงานสมาชิกสภาเทศบาลตำบลวังผาง คณะครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คณะสงฆ์วัดดงหลวง วัดดงเหนือ กำนันตำบลวังผาง ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 10 หมู่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังผาง และโรงพยาบาลเวียงหนองล่อง จึงได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงการดูแลเด็กปฐมวัยจนตกผลึก
โอกาสนี้ ถึงเวลาแล้วที่คนพื้นที่ตำบลวังผาง จะรุกขึ้นมาแสดงพลังความพร้อมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกหลานของตนเอง ให้เติบโตขึ้นมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านตำบลวังผางขอประกาศ “ปฏิญญาปฐมวัยเพื่อลูกหลานวังผาง” ดังนี้
1.เราจะร่วมกันพัฒนา “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลวังผาง” ให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักวิชาการ ใน 5 ระบบ คือ 1)ระบบริหารจัดการ 2)ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม 3)ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์เรียนรู้ 4)ระบบการดูแลสุขภาพ และ5)ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน
2.เราจะร่วมกันดำเนินการตามข้อเสนอที่ระบุไว้ในท้ายปฏิญญานี้ และจะรายงานผลให้ประชาคมวังผางทราบภายใน 1 ปี
3.เราจะร่วมกันทบทวนและจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนา “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลวังผาง” และเด็กปฐมวัยในตำบลวังผางร่วมกันทุกปี และ
4.เทศบาลตำบลวังผางจะตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการและติดตามผลตามปฏิญญาต่อไป
“เรามุ่งหวังว่าปฏิญญานี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกหลานของเรา มีการเจริญเติบโตพัฒนาการสมวัยและมีสติปัญญาที่ดี” ประกาศ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2557 ณ วัดดงหลวง คำประกาศก้อง กังวานไปทั่ววัดดงหลวง มีประชาชน ชาววังผางเป็นสักขีพยาน
หากทุกคนยังลงความเห็นว่า เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ที่จะมาแทนที่ในวันหน้า จงหันกลับไปมองเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เราจะสร้างอนาคตของเราอย่างไร เฉกเช่นเดียวกับวังผางหรือไม่ คำตอบนี้ อยู่ที่คุณ.