ไอแอลชี้ไทยค่าแรงต่ำสวนทางเศรษฐกิจเติบโต ตัวเลขดัชนีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย
ผู้อำนวยการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ชี้สภาพเศรษฐกิจของไทยเติบโต ธุรกิจเอกชนแข็งแกร่ง ขณะที่ภาพรวมค่าแรงกลับลดลง ระบุผลวิเคราะห์ค่าจ้างย้อนกลัง 30 ปี พบคนงานส่วนใหญ่ได้รับส่วนแบ่งจากความร่ำรวยของประเทศน้อยมาก อีกทั้งช่องว่างรายได้เพิ่มสูงขึ้น ย้ำปัจจัยเงินเฟ้อไม่ได้มาจากการขึ้นค่าจ้าง
นายจีหยวน หวัง ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชาและสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวถึงทิศทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย ว่า ปัจจุบันประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะการเป็นผู้นำระดับโลกในภาคการผลิต ผลิตภัณฑ์อาหาร เหมืองแร่ และการท่องเที่ยว ขณะที่ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯตลอดจนนักลงทุนต่างชาติยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการว่างงานมีประมาณร้อยละ 1.2 สวนทางกับความต้องการแรงงานสูงมาก ทว่าแนวโน้ม 3 อย่างอันได้แก่ การลดลงของค่าจ้างในส่วนแฝงของ GDP ค่าจ้างคงที่และความเหลื่อมล้ำในสังคมกลับแสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ค่าจ้างในประเทศต่างๆทั่วโลกมากว่า 30 ปีชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ส่วนแบ่งของค่าจ้างในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในขณะที่กำไรเพิ่มขึ้น คนงานได้รับส่วนแบ่งจากความร่ำรวยของประเทศน้อยมาก นอกจากนี้การเจริญเติบโตของค่าจ้างไม่ทันกับการเติบโตของผลผลิต ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้างคงที่ และลดน้อยลงสำหรับแรงงานส่วนใหญ่ ทั้งความเหลื่อมล้ำของรายได้และค่าจ้างภายในประเทศระหว่างขั้นสูงสุดและต่ำสุดก็แตกต่างกันมากขึ้น อีกทั้งยังพบว่าส่วนแบ่งของค่าจ้างในประเทศต่อรายได้ของประเทศ ลดลงจากร้อยละ 72 ในปี พ.ศ.2538 เป็นร้อยละ 63 ในปี พ.ศ.2549โดยไม่มีการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริง และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไม่ทันกับภาวะเงินเฟ้อในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดย Gini Coefficient ของประเทศที่ใช้เป็นมาตรวัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีค่า 0.43 ซึ่งอยู่ระดับที่สูงที่สุดในเอเชีย
นายจีหยวน ยังกล่าวถึงกรณีข้อกังวลในประเด็นเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ อาจมีผลให้เกิสภาวะเงินเฟ้อและเกิดผลกระทบต่อสภาวะการจ้างงาน ว่า สภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของค่าจ้าง เพราะการเติบโตทางมูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้างในประเทศไทย และส่วนมากในหลายประเทศยังคงที่ มองว่าความต้องการวัตถุดิบและพลังงาน เป็นตัวที่ทำให้ราคาอาหารและน้ำมันสูงขึ้น และในทางตรงข้ามสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดแรงกดดันที่จะเพิ่มค่าแรงมากกว่า
“ค่าจ้างที่สูงขึ้นในประเทศไทยอาจทำให้มีการจ้างงานน้อยลงในบางภาคของเศรษฐกิจที่ยังจ่ายค่าจ้างต่ำแต่การที่ความต้องการแรงงานโดยภาพรวมยังสูงอยู่ จะทำให้คนเหล่านี้สามารถย้ายงานไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นได้ นอกจากนี้ค่าจ้างที่สูงขึ้นยังจะทำให้ความต้องการโดยรวมสูงขึ้นและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย” นายจีหยวนกล่าว พร้อมเสนอว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีมาตรการอื่นๆ มาเสริม เช่น นายจ้างต้องให้รางวัลด้านการศึกษา ทักษะ และผลผลิต สหภาพแรงงานต้องมีบทบาทในการดูแลให้มีการให้ผลตอบแทนต่อแรงงานมากขึ้น
ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ลดภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการในการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนั้น นายจีหยวนกล่าวว่า มีหลายประเทศทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มค่าจ้างโดยอ้างอิงกับผลกำไรของบริษัทและประสิทธิภาพของหุ้น ซึ่งมักจะใช้กันในบริษัทใหญ่ๆ สำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจช่วยได้ด้วยการลดภาษีอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงทางสินเชื่อ การอบรมเพื่อเพิ่มผลผลิต และมาตรการอื่นๆที่จะช่วยให้การเพิ่มค่าจ้างเป็นไปได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะต้องมีการทบทวนเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าตอบสนองเป้าหมาย
ที่มาภาพ : http://nelsonbj.wordpress.com/2011/06/08/its-always-about-people-stupid/