นักวิชาการต่างชาติแนะไทยเปิดใจฟังความเห็นทางการเมือง
นักวิชาการต่างชาติแนะไทยเปิดใจฟังความเห็นชี้คนต่างชาติ มองสถานการณ์การเมืองโดยปราศจากอคติ เผยสถานการณ์ "จบยาก" ถ้าทุกฝ่ายไม่เจรจาทำสัญญาประชาคม เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนร่วม
18 สิงหาคม 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "วิกฤติการเมืองไทยในสายตาต่างชาติ: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (Thailand's Political Crisis in Foreigners' Perspectives: Past, Present, and Future)" ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายเอ็ดเวิร์ด นูฟ อาจารย์โครงการศึกษาอังกฤษ-อเมริกกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเหตุที่คนไทยต้องเปิดฟังความคิดเห็นของชาวต่างชาติ 1. ประเทศที่เปิดรับฟังความเห็นจะมีความเจริญก้าวหน้าและประเทศที่ปฏิเสธไม่รับฟังความเห็นจะล่มสลาย 2.คนต่างชาติจะมองสถานการณ์โดยปราศจากอคติ โดยเฉพาะในเรื่องทางการเมือง
"จากประวัติศาสตร์ของไทยวงจรอุบาทว์จะเกิดขึ้น 5 ขั้นตอน คือ 1.เกิดจากเผด็จการ 2.หลังจากนั้นจะมีการสร้างสารประชาธิปไตยบนกระดาษ 3.เกิดความเป็นประชาธิปไตย 4.เกิดวิกฤติจากประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ 5.กองทัพเข้ามาแทรกแซงและเกิดรัฐประหาร แล้วก็จะหลับไปสู่ข้อที่ 1อีกครั้ง"
นายเอ็ดเวิร์ด กล่าวถึง 3 ทฤษฎีที่ทำให้การเมืองไทยเกิดวิกฤติ อย่างแรกคือเสื้อเหลืองที่ออกมาต่อต้านเรื่องคอร์รัปชัน คอร์รัปชันเป็นมหาปีศาจทำลายประเทศ ยิ่งในยุคทักษิณ ชินวัตร ที่มองว่าคือตัวปีศาจ ทฤษฎีที่ 2 คือทฤษฎีของคนเสื้อแดงที่มองว่า ชนชั้นกลางเป็นพวกไม่ยอมรับประชาธิปไตยและมองว่า ชนชั้นกลางเป็นพวกที่มองว่าตัวเองฉลาด จึงทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยในชนบทและในเมือง และ3. คือกลุ่มอำนาจ 2กลุ่มพยายามดึงมวลชนให้เกิดการขับเคลื่อน ซึ่งในครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งอื่นๆ เนื่องจากมีการเรียกร้องให้ทหารออกมาแทรกแซงอย่างเปิดเผย
"ทฤษฎีเสื้อเหลืองในเรื่องคอร์รัปชันของทักษิณ ชินวัตร หลักฐานที่จะบอกว่าระบอบทักษิณคอร์รัปชันกว่าระบบอื่นเป็นหลักฐานที่อ่อนมาก ดังนั้นไม่สมควรที่จะนำมาอ้าง หากจะจัดการจริง ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย นี่จึงไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอที่กองทัพจะเข้ามาแทรกแซง จะบอกว่า กองทัพไม่มีทางเลือกก็ไม่ใช่ เพราะกองทัพสามารถที่จะเลือกช่วยด้วยการช่วยจัดการเลือกตั้ง หรือห้ามไม่ให้มีการชัตดาวน์กรุงเทพ"
ด้านนายมาร์ค ซัคเซอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิ FES Thailand กล่าวถึงวิกฤติการเมือง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศใดก็ตาม เราไม่สามารถที่จะแยกเรื่องของเศรษฐกิจและการเมืองออกจากกันได้ ในช่วงของเศรษฐกิจการเมืองที่มีประชาธิปไตยที่อัปลักษณ์หรือผิดรูปแบบ ประชาธิปไตยก็ยังสามารถที่จะทำงานได้อย่างเสรี แต่ประชาธิปไตยที่ผิดรูปก็จะไปทำลายชนชั้นกลางเกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นและทำให้ชนชั้นกลางรู้สึกว่า ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบนี้
"ยิ่งนโยบายประชานิยมยิ่งส่งเสริมให้เกิดระบบอุปถัมภ์ทำให้ชนชั้นกลางเกิดการต่อต้าน ชนชั้นนำ ทหาร และตุลาการเข้ามาแทรกแซง และหากมองสถานการณ์การเมืองไทยในวันนี้หากยังอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ หลายฝ่ายจะเกิดการต่อสู้กันไม่มีทางจบลงง่ายๆ ดังนั้นทางออกคือแต่ละฝ่ายต้องออกมาเจรจาทำสัญญาประชาคมและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่สำคัญจะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะเอาใจคนทั้งประเทศด้วย"
ขณะที่ดร.คลาวดิโอ โซพรานเซตติ นักวิจัยออโซลคอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า วิกฤติการเมืองของไทยเกิดขึ้นจาก 2 รูปแบบ คือแบบใช้บารมี และสร้างมวลชนในการขับเคลื่อน ซึ่งการเมืองจากบารมีจะมองว่า คนที่จะมาปกครองบ้านเมืองต้องเอาคุณธรรมมาก่อน ส่วนในการสร้างมวลชนขับเคลื่อนต้องมองคนที่มีความสามารถ ซึ่งความจริงแล้ว 2 แนวคิดนี้ขัดกับแนวคิดของประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองโดยคนดีที่ไม่คำนึงถึงความสามารถ และไม่จำกัดว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง
"วันนี้สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กำลังทำคือพยายามสร้างประชาธิปไตยจากแนวคิดทั้งสองรูปแบบคือการสร้างบารมีและแรงสนับสนุนจากมวลชน โดยการสานต่อนโนบายประชานิยม"