สช. เดินหน้าขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพ สกัดโรคอ้วนเด็กไทย หวั่นโรคร้ายรุมเร้า
สช.เร่งขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ บูรณาการป้องกันโรคอ้วนเด็กไทย หลังพบตัวเลขสูงถึง ๑๗% แนะดึงชุมชนร่วมพัฒนาสุขภาวะ
วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น เรื่อง "เด็กอ้วน มหันตภัยสู่โรคอนาคต" ณ โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุด โดยสัดส่วนเด็กอ้วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่าในเวลาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภาวะโภชนาการของวัยผู้ใหญ่ไทยเช่นกัน สาเหตุสำคัญได้แก่สภาพแวดล้อมทางสังคมไทย ที่ทำให้เด็กไทยง่ายต่อการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มพลังงานสูงและอาหารหวานมันเค็ม ในขณะที่มีการใช้กิจกรรมทางกายลดลง
"ปัญหาเด็กอ้วนเป็นเสมือนระเบิดเวลาของสังคมไทย เพราะนอกจากจะมีโอกาสกลายเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนและมีโรคต่างๆตามมาอีกมากมายแล้ว ก็ยังส่งผลต่อคุณภาพของประชากร ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาการศึกษา และครอบครัวและสังคมยังต้องเตรียมค่าใช้จ่ายอีกมหาศาลในการรักษาโรคต่างๆในอนาคต” ผอ.สวน.กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิชาการและประสบการณ์ของนานาชาติแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเด็กอ้วนสามารถป้องกันและควบคุมได้ หากสังคมเอาจริงเพียงพอ โดยมาตรการที่องค์การอนามัยโลกผลักดันถือว่าคุ้มค่า ได้แก่ การจัดการด้านภาษีและราคา และการควบคุมการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มพลังงานสูง ระบบการติดตามและให้คำปรึกษา การรณรงค์สาธารณะ และการจัดการสภาพแวดล้อมและจัดกิจกรรมในโรงเรียน
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนในสังคมมีความห่วงใยต่อสุขภาวะของเด็กไทยที่อาจเกิดโรครุมเร้าในอนาคต จึงร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาในทุกมิติอย่างรอบด้าน เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะอย่างเร่งด่วน
มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการแก้ปัญหาโรคอ้วนเด็กไทยประกอบด้วย ๔ มติ ได้แก่ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๒ เรื่อง "การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน" มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่อง "การจัดการสภาพแวดล้อม รอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง : กรณีเด็กไทยกับไอที" และล่าสุด มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ พ.ศ . ๒๕๕๖ เรื่อง "ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน" และ "เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย"
“การแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ โดยมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้จุดประกายกลไกการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ทันต่อสถานการณ์ การขับเคลื่อนกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำการตลาดและการโฆษณานมสำหรับทารกและเด็กเล็ก รวมถึงเกิดความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเด็กติดไอที เป็นต้น”รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าว
อีกกลไกที่สำคัญคือการสานพลัง เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และชุมชนกับโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร โดยอาศัยภูมิปัญญา ความรู้ และศักยภาพของชุมชน ยกระดับให้เด็กมีพฤติกรรมการบริโภคและกิจกรรมที่สร้างสุขภาวะได้ดีขึ้น ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือครูอาจารย์เพียงอย่างเดียว รวมถึงเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อให้กลไกการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับปัญหามากยิ่งขึ้น
นายวิชัย บำรุงศรี ผู้อำนวยโรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร กล่าวว่า โรงเรียนมีโครงการรณรงค์แก้ปัญหาเด็กอ้วนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในภาพรวมยังคงมีเด็กอ้วน ๕๐-๖๐ คน จากนักเรียนทั้งหมดประมาณ ๙๐๐ คน สาเหตุหลักเกิดจากขาดการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ พฤติกรรมการบริโภคของเด็ก และพื้นฐานครอบครัวที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะอ้วน
"ปัจจัยลบเหล่านี้เกิดขึ้นในโรงเรียนอื่นๆด้วย แต่โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร มีบริบทที่แตกต่างไปจากโรงเรียนในเมืองทั่วไป เนื่องจากครอบครัวของเด็กส่วนใหญ่ อาศัยในคอนโดมิเนียมใกล้โรงเรียน เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เด็กขาดการออกกำลังกาย มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม และมีแนวโน้มเกิดโรคอ้วนได้ทั้งครอบครัว” ผอ.รร.วัดผาสุกมณีจักรกล่าว
นายวิชัย ย้ำว่า โรงเรียนได้ดูแล โภชนาการ อาหารมื้อกลางวันอย่างดี และควบคุมอาหารที่จำหน่ายโดยร้านค้าในโรงเรียน ต้องไม่มีอาหารมัน ทอด และน้ำอัดลม แต่สิ่งที่ยากต่อการควบคุม คืออาหารที่ขายหน้าโรงเรียนและอาหารที่บ้าน ซึ่งโรงเรียนมีการติดป้ายรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับพ่อค้า-แม่ค้า พร้อมเชิญวิทยากรมาจัดอบรม เพื่อสร้าง "โภชนากรประจำโรงเรียน" รวมทั้งมีกิจกรรมต่างๆสร้างความตระหนักรู้ให้เด็กและเชิญผู้ปกครองประชุมปีละ 2 ครั้ง
“แม้ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่า โรงเรียนระดับประถมศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการปูพื้นฐาน ไม่ให้เกิดโรคสะสมตั้งแต่วัยเด็ก แต่ที่ผ่านมาการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆยังไม่เป็นรูปธรรม เช่น โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร ซึ่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการอาหารในโรงเรียน และได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ แต่ก็ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนที่ต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนยังคงแบกรักภาระงานโภชนาการอย่างมาก" ผอ.โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักรกล่าวทิ้งท้าย