เปิดคิวงานสนช.“สภาสัตบุรุษ”เอาไหมนิรโทษ-กม.ลดเหลื่อมล้ำ?
"...ความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองอย่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ ที่ให้นิรโทษเฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมการเมือง แล้วโดนคดีเช่น ฝ่าฝืนพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ แต่ต้องไม่นิรโทษแกนนำหรือคนทำผิดคดีอาญา ก็พบว่ามีสนช.บางคนก็เห็นด้วยที่ต้องออกกม.นิรโทษกรรม แต่ขอรอจังหวะบางอย่างอยู่..."
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)วางเป้าไว้ว่าจะให้เป็น 1 ใน แม่น้ำ 5 สายที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การ”ปฏิรูปประเทศ”ครั้งใหญ่ กำลังจะเริ่มต้นทำงานกันอย่างจริงจังเร็ววันนี้ ซึ่งบทพิสูจน์ที่สำคัญของสนช.ชุดนี้ ว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปประเทศได้หรือไม่ คงต้องรอให้ผ่านพ้น 2 ภารกิจสำคัญเฉพาะหน้าไปก่อนคือ
1.การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วาระแรกที่มีการวางคิวไว้ว่าจะให้เป็นการพิจารณาเรื่องแรกหลังขั้นตอนทางกฎหมายในการแต่งตั้งประธาน-รองประธานสนช.เสร็จสิ้นลง
และตามด้วยเรื่องที่ 2.คือการโหวตเห็นชอบผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
หลังจากหมดสองเรื่องนี้แล้ว ก็จะเข้าสู่โหมดการทำงานตามปกติของสนช.ที่มีหน้าที่หลักคือการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพรบ.ต่างๆ ที่ฝ่ายต่างๆเสนอมาไม่ว่าจะเป็นคสช.-รัฐบาลที่จะตั้งขึ้นในอนาคต อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 มาตรา 14 ยังให้อำนาจสนช.สามารถเข้าชื่อเสนอร่างพรบ.เข้าสู่สภานิติบัญญัติฯได้ ขอเพียงให้มีสนช.ร่วมลงชื่อด้วยแค่ 25 คนเท่านั้น
ซึ่งที่ผ่านมา สนช.ยังไม่ทันได้เริ่มต้นอะไรกัน ทางคสช. ก็มีการส่งร่างพรบ.ต่างๆมาที่สภานิติบัญญัติฯ กันมาล่วงหน้าแล้ว ตามคำเปิดเผยของ”สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย”ว่าที่รองประธานสภานิติบัญญัติฯ คนที่หนึ่ง ที่เล่าให้ฟังว่าเวลานี้ได้รับร่างพรบ.ต่างๆ จากคสช.มาแล้ว 11 ฉบับ และคสช.คงส่งมาอีกเรื่อยๆ เพราะผลการประชุมคสช.เมื่อ 13 ส.ค.ก็มีการเห็นชอบร่างพรบ.ต่างๆ ที่จะส่งมาสนช.อีก 15 ฉบับ อาทิเช่น ร่างกฎหมายอุ้มบุญหรือร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ พ.ศ... ทำให้เสร็จจากเรื่องพรบ.งบฯและโหวตนายกฯ สนช.ก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญของร่างพรบ.ต่างๆ ว่าจะพิจารณาเรื่องไหนก่อน-หลัง
ด้วยอำนาจหน้าที่ของ สนช. ที่สามารถเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.เสนอเข้าสภานิติบัญญัติฯ ได้ ทำให้มีการคาดการกันว่า จะมีสนช.เสนอร่างพ.ร.บ.ต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติฯกันมาก
ตรงนี้ ก็มีการเปิดเผยจากสนช.บางส่วนแล้วว่า คงไม่พลาดภารกิจตรงนี้แน่นอน เช่น “ตวง อันทะไชย”สนช.2 สมัย ให้ความเห็นกับ”ทีมข่าวอิศรา”ว่า สภานิติบัญญัติฯชุดนี้ จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติที่บังคับใช้อยู่เวลานี้บางฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศรวมถึงเพื่อแก้ปัญหาในภาพกว้างเช่น ถึงเวลาแล้วต้องทบทวนพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หลังเห็นชัดแล้วว่าที่เคยมีการปฏิรูปการศึกษากันในช่วงปี 2542 แล้วออกแบบโครงสร้างการบริหารงานหน่วยงานด้านการศึกษาออกเป็น 5 แท่ง มีการยุบทบวง กรม บางแห่งไป ถึงเวลานี้เห็นแล้วว่า มันไม่สามารถทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นเลย ควรต้องทบทวนเช่นทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลบริหารงานต่างๆ ได้เองแล้วให้เขตพื้นที่คอยกำกับดูแลรวมถึงปฏิรูปด้านระบบการเรียนการสอนให้ทันสมัย
นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงพรบ.กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เนื่องจากที่ผ่านมามีผลกระทบทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ พลเรือน ครู ร่วมๆ 7ถึง 8แสนคน ที่ต้องการให้มีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทางคือ ให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุน กบข. เลือกได้ว่าจะรับบำเน็จบำนาญ ตามพ.ร.บ. กบข. ปี 39 กับอีกทางหนึ่งคือกลับไปรับบำเน็จบำนาญตาม พ.ร.บ. ปี 2494 ซึ่งสนช.ก็แค่มาแก้ไขพรบ.กองทุนกบข.ปี 2539 เพื่อให้ข้าราชการสามารถเลือกได้ว่าจะเอาแบบปีไหน นี้คือตัวอย่างสองกฎหมายสำคัญที่ใช้บังคับตอนนี้และเห็นว่าหากมีโอกาสสนช.จะต้องนำมากฎหมายมาทบทวนแก้ไข
นี้แค่สนช.”ตวง อันทะไชย”คนเดียวก็ลิสต์มาแล้วว่ามีกฎหมายสองฉบับควรต้องทบทวนแก้ไข อันเชื่อได้ว่ายังมีสนช.อีกหลายสิบคนก็คงมีแนวคิดจะเสนอร่างพรบ.ต่างๆ ให้สภานิติบัญญัติฯพิจารณากันอีกมากมาย ทั้งร่างที่เสนอใหม่เลยหรือให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ใช้ตอนนี้
แล้วไหนจะร่างพ.ร.บ.ที่คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย คสช.ที่มีพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ.เป็นประธานที่บอกว่าเตรียมร่างพ.ร.บ.ต่างๆ ที่ค้างมาจากรัฐสภาสมัยที่แล้ว กับกฎหมายฉบับต่างๆ ที่บังคับใช้เวลานี้ซึ่ง คณะทำงานเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย รวมเบ็ดเสร็จลิสต์ชื่อออกมาแล้วร่วมๆ 200 กว่าฉบับ รวมถึงสนช.ยังจะต้องมีร่างพรบ.ที่”สภาปฏิรูปแห่งชาติ”ซึ่งไปพิจารณากรอบปฏิรูปในด้านต่างๆ เช่น การเมือง-สื่อมวลชน-พลังงานแล้วเสนอเป็นร่างพรบ.มาให้สนช.ได้ตามที่รธน.ให้อำนาจสภาปฏิรูปฯไว้
จึงทำให้คาดการกันว่า สนช.ชุดนี้ ที่มีเวลาทำงานกันประมาณ 12 เดือนหรือเต็มที่ไม่เกิน 15 เดือน จะทำงานกันหนักแน่นอน หากจะผลักดันร่างพ.ร.บ.ที่ฝ่ายต่างๆ ชงเรื่องมาให้สนช.พิจารณาเห็นชอบ
ไหนยังจะมีภารกิจต่างๆ ที่สนช.ต้องทำคู่ขนานไปด้วยกับการพิจารณากฎหมาย เช่น การพิจารณา”คดีถอดถอน”ที่คณะกรรมการป.ป.ช.ส่งเรื่องมา ตลอดจนภารกิจปกติเช่นตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลในที่ประชุมสนช.
ภารกิจที่รออยู่ตรงหน้าทั้งหมด ทำให้ สนช.บางส่วนก็บอกไว้ล่วงหน้าแล้วว่าอาจทำไม่ได้อย่างที่บางฝ่ายต้องการ 100 เปอร์เซนต์ และคงต้องให้เป็นหน้าที่ของส.ส.-สว.หลังเลือกตั้งมารับช่วงไปทำต่อ ที่ก็คงไม่รับทำทั้งหมด ถ้าเรื่องนั้นทำให้ส.ส.-สว.เสียประโยชน์
เบื้องต้นที่”ทีมข่าวอิศรา”รวบรวมมาจากการที่สนช.สายต่างๆ เช่นสายธุรกิจรวมถึงการให้ข่าวของกลุ่มองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ-เอกชน-องค์กรอิสระ ที่ต่างก็เตรียมจะเสนอให้สนช.ออกกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงพรบ.ต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น ก็มีข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆ ที่จะเสนอกฎหมายให้สนช.พิจารณาที่น่าสนใจ อาทิเช่น
กฎหมายเศรษฐกิจ
มีข่าวว่า “กระทรวงการคลัง”จ่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยนอกจากต้องแก้พรบ.ร่วมทุนฯแล้วยังต้องเสนอร่างพรบ.ใหม่และปรับปรุงร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรบ.ร่วมทุนฯในลักษณะเป็นแพคเกจล็อตเดียวร่วม 8 ฉบับ แต่หัวใจสำคัญคือพรบ.ร่วมทุนฯ ที่จะแก้ไขเพื่อให้มีการตั้ง”คณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ”โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ซึ่งบอร์ดชุดนี้มีอำนาจหน้าที่สำคัญคือกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนและเห็นชอบในหลักการของโครงการลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท หรือหากไม่ถึงหนึ่งพันล้านบาทก็ต้องเป็นโครงการที่คณะกรรมการเห็นความจำเป็นให้เดินหน้าทำโครงการ และจะมีการกำหนดเวลาในขั้นตอนการพิจารณาโครงการแต่ละช่วงไว้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาโครงการ เช่นการตรวจสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาภายใน45วัน หลังได้รับร่างสัญญาการลงทุน เป็นต้น
ขณะที่ “กระทรวงอุตสาหกรรม”ก็มีข่าวก.อุตสาหกรรมจะเสนอให้สนช.แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง 4 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ที่จะแก้ไขเรื่องการจดทะเบียนชาวไร่อ้อย โดยจะเปิดจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อยจากเดิม 2 ปี เป็นทุกปี และแก้ไขกฎหมายให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นผู้ประกาศให้มีการจดทะเบียนชาวไร่อ้อยได้ตลอดทั้งปีตามความเหมาะสม เป็นต้น
ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชนก็มีการขยับกันแล้วในการจะเสนอให้สนช.พิจารณาแก้ไขกฎหมายบางฉบับ ที่น่าสนใจก็เช่นที่ ”อิสระ ว่องกุศลกิจ”ที่สวมหมวกสองใบคือเป็นสนช.กับประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า จำเป็นต้องแก้ไขและออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจจำนวนร่วม 20 ฉบับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการทำธุรกิจเพื่อให้ทันต่อการแข่งขันทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ พร้อมกับลิสต์ชื่อมาเช่น กฎหมายศุลกากร เพราะเมื่อมีการเปิดเออีซีแล้ว การส่งสินค้าข้ามชายแดนอาจมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการตีความพิกัดสินค้าที่ไม่ตรงกัน ภาคธุรกิจจึงจะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายศุลกากรเพื่อให้มีคณะกรรมการกำหนดและตีความเรื่องนี้โดยเฉพาะ หรือพรบ.ผังเมือง ที่ควรต้องแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น เป็นต้น
กฎหมายด้านสังคม
เช่นกฎหมายอุ้มบุญ ซึ่งที่ประชุมคสช.เห็นชอบไปแล้วและคาดว่าคงเป็นร่างกฎหมายเร่งด่วนที่สนช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว โดยมีสาระสำคัญคือให้เอาผิดการทำอุ้มบุญที่ผิดกฎหมายได้ทั้งขบวนการ และห้ามไม่ให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วนเอเยนซี โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ร่างกฎหมายด้านสังคม-สิ่งแวดล้อมอีกฉบับที่น่าสนใจคือ “ร่างพ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือร่างกฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อม” พบว่าเป็นร่างที่กระทรวงการคลังตั้งแท่นรอเสนอครม.และสนช.ไว้แล้ว หลักการคือให้ภาคเอกชนมาร่วมรับภาระด้วยการจ่ายภาษีเพื่อนำไปใช้ในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนำเอา ภาษีที่เก็บจากผู้ก่อมลพิษมาใช้โดยตรง
ร่างพรบ.ที่เกี่ยวกับการเมือง-องค์กรภาครัฐที่สำคัญ
พบว่ามีหลายองค์กรกำลังเตรียมหาลู่ทางเสนอสนช.กันอยู่เมื่อสบโอกาส อย่างเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ตั้งแท่นจะเสนอ”ร่างพรบ.การชุมนุมในที่สาธารณะ” มีสาระสำคัญคือยังให้สิทธิประชาชนในการชุมนุมแต่ก่อนการชุมนุมต้องแจ้งให้ตำรวจรู้ล่วงหน้า ก่อนเริ่มการชุมนุม48 ชั่วโมง เพื่อจะได้จัดตำรวจไปดูแลความสงบเรียบร้อย และยังเขียนไว้ด้วยว่าการชุมนุมดังกล่าวต้องไม่กีดขวางการเข้าออกหรือการเปิดทำการตามปกติของสถานที่บางแห่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเช่นรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล –สถานที่ราชการ เป็นต้น
หรือกรณี”สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ”ก็เตรียมจะเสนอสนช.แก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอายุความคดีทุจริตคอรัปชั่นเป็น 30 ปี และขอขยายเวลาการอายัดทรัพย์สินผู้ถูกป.ป.ช.ไต่สวน โดยขยายจาก 1 ปีเป็น 2 ปี
ขณะที่เสียงเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งหากเป็นภาวะปกติที่มีส.ส.-สว.มาจากการเลือกตั้ง ยากจะทำได้สำเร็จเช่น กฎหมายภาษีมรดก-กฎหมายควบคุมการซื้อที่ดินเก็งกำไร พบว่ายังไม่มีเสียงขานรับดังมาจากสนช.เท่าที่ควร โดยสนช.บางส่วนบอกว่า ที่เงียบไม่ใช่ไม่เอาด้วยแต่คงรอให้สภาปฏิรูปฯไปศึกษาเรื่องพวกนี้มาก่อน แล้วเสนอเป็นร่างพรบ.มาให้สนช.ถึงตอนนั้นค่อยมาว่ากัน
ขณะที่ความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองอย่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ ที่ให้นิรโทษเฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมการเมือง แล้วโดนคดีเช่น ฝ่าฝืนพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ แต่ต้องไม่นิรโทษแกนนำหรือคนทำผิดคดีอาญา ก็พบว่ามีสนช.บางคนก็เห็นด้วยที่ต้องออกกม.นิรโทษกรรม แต่ขอรอจังหวะบางอย่างอยู่
ก้าวย่างสภานิติบัญญัติฯ ที่สนช.บางคนเรียกว่าเป็น”สภาสัตบุรุษ” นับจากนี้ จะเร่งปั้มกฎหมายออกมาเพื่อสนองตอบต่อบุคคลบางกลุ่ม ที่ตั้งให้เป็นสนช. หรือจะให้ความเห็นชอบร่างพรบ.ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง รอให้ทำงานไปอีกสักระยะ ผลงานจะบอกตัวตน