สภาพัฒนาการเมืองคัดออกองค์กรจดแจ้งขาดคุณสมบัติ
หลังจากที่สภาพัฒนาการเมืองถูกจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 และทางสภาฯได้ดำเนินการเชิญชวนองค์กรภาคประชาสังคมจดแจ้งการจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคมและเสนอชื่อผู้แทนเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ระหว่างวันที่ 17 เมษายน – 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีองค์กรต่างๆทั่วประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
ผลปรากฏว่ามีองค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นนิติบุคคล 197 องค์กร เสนอชื่อผู้แทน 179 องค์กร ไม่เสนอชื่อผู้แทน 18 องค์กร องค์กรที่ไม่เป็นนิติบุคคลยื่นจดแจ้งอีก 533 องค์กร เสนอชื่อผู้แทน 477 องค์กร ไม่เสนอชื่อผู้แทน 86 องค์กร ในส่วนของผู้แทนองค์กรที่ถูกเสนอชื่อ 626 คน เป็นชาย 518 คน หญิง 108 คน
นายสมชาย หอมละออ ประธานคณะกรรมการรับจดแจ้งการจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง ให้รายละเอียดว่า
“หลังจากที่องค์กรต่างๆยื่นจดแจ้งมาแล้ว หน้าที่ของคณะกรรมการคือ พิจารณาในเรื่องของคุณสมบัติเป็นหลักว่า มีคุณสมบัติขององค์กรภาคประชาสังคมครบตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือระเบียบหรือไม่ นั่นคือไม่ได้มีจุดประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือ การส่งผู้เข้ารับการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นหรือในระดับชาติ ไม่เป็นองค์กรชุมชนที่ได้จดแจ้งไว้แล้ว ตามกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรชุมชน ต้องมีลักษณะที่มีกฎระเบียบมีการบริหารจัดการตามลักษณะที่เป็นองค์กรตามสมควร และข้อสำคัญคือต้องไม่เป็นองค์กรที่แสวงหากำไรแบบธุรกิจ ที่จะนำผลกำไรมาแบ่งปันกัน”
“ทางคณะกรรมการฯได้ตรวจสอบเอกสารต่างๆที่ยื่นจดแจ้งมาและต้องใช้เวลามากพอสมควร เพราะมีจำนวนถึง 700 กว่าแห่ง เบื้องต้นได้พยายามคัดองค์กรที่ขาดคุณสมบัติออกไป เช่น องค์กรที่แสวงหากำไรทางธุรกิจที่เอากำไรมาแบ่งปันกัน มีลักษณะการรวมหุ้นหรือถือหุ้น มีผลกำไรและแบ่งปันตามสัดส่วน เช่น สหกรณ์ ซึ่งคิดว่าขัดต่อกฎหมาย หรือเครดิตยูเนี่ยน
หรือบางองค์กรที่คาบลูกคาบดอก เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ เครดิตยูเนี่ยนแต่เล็กกว่า ซึ่งก็ได้รับคำชี้แจงว่า ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักในเรื่องการทำกิจการทางธุรกิจ แต่เน้นให้คนมารวมกันเพื่อเรื่องประชาสังคม ยึดโยงกันเพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งตรงนี้คงต้องหารือกับสภาพัฒนาการเมืองอีกทีว่าองค์กรลักษณะเช่นนี้ควรจะรับจดแจ้งหรือไม่”
นายสมชายบอกอีกว่า ยังมีองค์กรอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน นั่นคือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะกิจเหมือนตั้งขึ้นมาชั่วคราวในช่วงที่มีประกาศกฎหมายฉบับนี้ เช่น กลุ่มชมรมนกหัวจุก ซึ่งตั้งขึ้นมาในค่ายทหาร มาจากครอบครัวข้าราชการทหาร ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่าเป็นกลุ่มเฉพาะกิจหรือเปล่า หรือมีกิจกรรมที่จะทำกับสังคมกับภายนอกหรือไม่ ที่จะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มประชาสังคม
“นอกจากนั้นก็มีกลุ่มองค์กรที่หน่วยราชการตั้งมา เช่น ตั้งตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น คณะกรรมการสตรีบางจังหวัด ไม่ได้เกิดจากการริเริ่มของชุมชนเอง อย่างนี้ถือว่าขาดคุณสมบัติ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่ประชาชนตั้งขึ้นมาตามการสนับสนุนของราชการ เช่น กลุ่มสตรีในหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาโดยได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาการชุมชน อย่างนี้ถือว่าเป็นองค์กรภาคประชาสังคม
อีกลักษณะหนึ่งก็คือมีองค์กรจำนวนมากทีเดียวที่เป็นลักษณะองค์กรชุมชน เช่น กลุ่มชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เพื่อชุมชนนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งเราเห็นว่าน่าจะมาจดแจ้งเป็นองค์กรชุมชน ตามพ.ร.บ.องค์กรชุมชนมากกว่า”
หลังจากที่ตรวจสอบคุณสมบัติองค์กรในเบื้องต้นแล้ว ประธานคณะกรรมการจดแจ้ง บอกถึงขั้นตอนต่อไปว่า
“คณะกรรมการจดแจ้งก็มีหน้าที่เพียงแต่รวบรวมข้อมูล และตั้งข้อสังเกตเพื่อส่งให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาต่อไป ทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและสรรหาคนที่จะมาเป็นสมาชิกสภาฯจำนวน 16 คน จากองค์กรเหล่านั้น ซึ่งคาดว่าการสรรหาจะดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม
ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหานั้นเรื่องการบล็อคโหวตน่าจะเกิดได้ยาก เพราะคณะกรรมการมีที่มาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ไม่เหมือนกับการสรรหาที่อาศัยตัวสมาชิกที่มาจดแจ้งหรือสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนมาลงคะแนน ซึ่งอาจมีการจัดตั้งกันมา เช่น กลุ่มที่อยู่เครือข่ายเดียวกัน แต่แยกมาเป็นมาเป็นหลายๆกลุ่ม หรือจัดตั้งขึ้นมาใหม่ และมาสมัครเพื่อจดทะเบียนและบล็อคโหวต”
ในบรรดาองค์กรต่างๆ ที่ยื่นจดแจ้งเข้ามา แม้จะมีที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนรวมอยู่ด้วย แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าพอใจ สำหรับการเริ่มต้นของสภาพัฒนาการเมือง
“ผลของการรับจดแจ้งทั้งหมดนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะในช่วงแรกก็เกรงเหมือนกันว่าจะมีคนมาจดแจ้งน้อย แต่ก็มากันถึง 700 กว่าองค์กรทั้งที่ระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์สั้นมาก อันนี้คิดว่าน่าดีใจที่กลุ่มองค์กรมีความสนใจแสดงถึงความตื่นตัวของภาคพลเมือง เป็นผลของการพยายามหลายๆฝ่าย อย่างเช่น สถาบันพระปกเกล้า กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม หรือองค์กรเอกชนที่กระตุ้นให้เกิดองค์กรภาคประชาชน
แน่นอนว่า แต่ละกลุ่มก็มีวัตถุประสงค์สำคัญต่างกันในการเข้ามาจดแจ้ง บางกลุ่มอาจจะหวังให้ได้รับสถานะให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น บางกลุ่มก็หวังในเรื่องงบประมาณ แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น ที่จะเป็นปัจจัยในการสร้างองค์กรภาคประชาสังคม และการเมืองภาคพลเมืองต่อไป”
ผลจากการดำเนินการในขั้นงานการเมืองภาคพลเมือง ทำให้ประธานคณะกรรมการการจดแจ้งฯ มองเห็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่ง คือ
“หน้าที่อย่างหนึ่งขององค์กรพัฒนาการเมืองในอนาคต คือส่งเสริมให้กลุ่มองค์กรเหล่านี้มีความเข้มแข็ง เพราะสภาพัฒนาการเมืองจะมีบทบาทก็เมื่อองค์ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง
การทำงานในลักษณะองค์กรเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังขาดทักษะและวัฒนธรรม พอมีความคิดเห็นแตกต่างก็จะแยกตัวไปตั้งใหม่ คือในที่สุดก็จะเล็กลงและจะไม่มีลักษณะเป็นองค์กรอะไรมาก คนไทยเรื่องหน้าเรื่องตายังเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นทำอย่างไรจะส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยในองค์กรภาคประชาสังคม และทำอย่างไรจะส่งเสริมทักษะความสามารถในเรื่องการบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้สามารถทำงานตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เรื่องนี้สำคัญมาก
ต่อไปสภาพัฒนาการเมืองอาจจะต้องมีการฝึกอบรม หรือส่งที่ปรึกษาไปให้คำแนะนำองค์กรสมาชิกที่มาจดแจ้ง เพื่อให้มีการพัฒนาสร้างศักยภาพให้กับองค์กร อีกอันหนึ่งคือต้องประสานกันระหว่างองค์กรที่สามารถจะเสริมด้วยกันได้ ซึ่งในส่วนนี้คือข้อดีของสังคมไทยคือวัฒนธรรมในการแข่งขันกันน้อย มีวัฒนธรรมของการร่วมมือมากกว่า อันนี้คือเรื่องดีที่ต้องส่งเสริมต่อ”
ทั้งนี้เพื่อการก้าวที่มั่นคงแข็งแรงของสภาพัฒนาการเมืองนั่นเอง