ชาติอาเซียนร่วมสกัดโซเชียลมีเดีย ปลุกวัยรุ่นมุสลิมแห่ร่วมรบ"ไอซิส"
รัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก กำลังวิตกว่ากลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและชาม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า "ไอซิส" จะเข้ามาชักจูงคนหนุ่มสาวให้ไปเข้าร่วมในการต่อสู้และระดมทุนจากทั้งภูมิภาค
ซิดนีย์ โจนส์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิเคราะห์นโยบายด้านความขัดแย้งในอินโดนีเซีย บุคคลที่มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามเคร่งจารีตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า โดยพื้นฐานแล้วมีคนหนุ่มสาวชาวมุสลิมในภูมิภาคนี้เดินทางไปยังซีเรียตั้งแต่ปลายปี 2555 แม้ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่จากนั้นเป้าหมายก็เริ่มเปลี่ยนไป หันไปเข้าร่วมการสู้รบด้วย
"มีชาวเอเชียจำนวนมากที่เดินทางไปเข้าร่วมในกลุ่มสู้รบใหญ่ๆ ทั้งในซีเรียและอิรัก" เขากล่าว
โจนส์ บอกด้วยว่า ปัจจุบันเครือข่ายผู้สนับสนุนกลุ่มไอซิสในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และชนกลุ่มน้อยในฟิลิปปินส์ เติบโตขึ้นอย่างมาก อาจมีผู้เกี่ยวข้องมากถึงหลายร้อยคนที่เข้าไปช่วยระดมทุน และสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลามนี้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพยายามสกัดกั้นการใช้ช่องทางด้าน "สื่อสังคมออนไลน์" เพื่อชักจูงให้คนหนุ่มสาวเข้าร่วมกลุ่ม และจัดหามาตรการเพื่อยับยั้งการเติบโตของไอซิส โดยเฉพาะในมาเลเซียที่มีการนำกฎหมายด้านความมั่นคงและปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการจับกุมและสกัดกั้นกลุ่มคนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย
เมื่อเดือน เม.ย.และ พ.ค.ที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียจับกุมผู้ต้องสงสัย 11 คนที่เชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระดมทุนให้กลุ่มไอซิส
แม้จะสามารถระบุชื่อผู้ที่เดินทางไปยังประเทศที่มีความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้เพียง 56 คนเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่านับตั้งแต่เกิดความพยายามโค่นล้มการปกครองของ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด แห่งซีเรีย อาจมีนักรบรุ่นเยาว์ราว 100-150 คนเดินทางจากอินโดนีเซียไปยังซีเรียและอิรัก และอีกราว 30-50 คนที่ไปจากมาเลเซีย ไม่รวมนักรบจากองค์กรอื่นๆ อีก 11,000-12,000 คนที่เดินทางจากทวีปยุโรปและออสเตรเลีย เพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มรัฐอิสลามเคร่งจารีตนี้
โจนส์ ชี้ว่า การที่มีชาวมุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางเข้าไปร่วมการสู้รบในตะวันออกกลางไม่มากนัก ส่วนหนึ่งอาจมีปัจจัยมาจากอุปสรรคด้านภาษา เพราะประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่จะไม่พูดภาษาอารบิก แตกต่างจากชาวมุสลิมที่มาจากออสเตรเลียและยุโรป เพราะคนเหล่านั้นมักมาจากครอบครัวชาวอาหรับที่ย้ายถิ่นฐานไป ทั้งเด็กอาหรับในโลกตะวันตกมีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างและแปลกประหลาด ไม่เข้าพวกกับสังคมตะวันตก ซึ่งต่างจากสังคมในเอเชียที่มักมีความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับชุมชนที่ดีกว่า
ขณะที่รายงานในหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ ระบุว่า มีชาวมาเลเซียอยู่ในซีเรียราว 100 คน และผู้แทนถาวรซีเรียประจำสหประชาชาติได้รายงานเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีชาวมาเลเซียถูกสังหารในซีเรีย 15 คน หลังเข้าร่วมปฏิบัติการกับกลุ่มญิฮาด แต่เรื่องนี้ยังไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้
มาเลเซียยังได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มากขึ้น จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อ อาห์หมัด ทาร์มิมิ มาลิกิ อดีตพนักงานโรงงานชาวมาเลเซีย วัย 26 ปี ผู้มีนิสัยเงียบขรึม ปฏิบัติการพลีชีพ ด้วยการขับรถเอสยูวีบรรทุกระเบิดน้ำหนักหลายตันพุ่งชนสำนักงานของหน่วยจู่โจมและอาวุธพิเศษในจังหวัดอัล อันบาร์ของอิรัก สังหารทหารไปได้ 25 นาย หลังจากนั้นกลุ่มไอซิสได้ขึ้นรูปภาพของเขาบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกลุ่ม พร้อมข้อความที่ว่า "นักรบมูจาฮีดินชาวมาเลเซียปฏิบัติการพลีชีพตัวเอง"
ส่วนอินโดนีเซีย มีการบันทึกถึงการเสียชีวิตของพลเมืองตัวเองที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซีเรียเปิดเผยว่า ริซา ฟาร์ดิ นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนอิสลามในอินโดนีเซียเมื่อปี 2549 ถูกกองกำลังฝ่ายรัฐบาลซีเรียยิงเสียชีวิต โดยโรงเรียนที่ฟาร์ดิจบมานั้น เป็นของ อาบู บาคาร์ บาเชียร์ อิหม่ามผู้เคร่งจารีต และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของเจไอ (เจมาห์ อิสลามิยาห์)
อีกทั้งเมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์จาการ์ตา โกลบ ของอินโดนีเซีย ยังรายงานว่า ชาวอินโดนีเซียที่เดินทางไปร่วมการสู้รบในตะวันออกกลางที่เดินทางกลับประเทศกันมาแล้ว พากันมาตั้งสาขาของไอซิส ทั้งในกรุงจาการ์ตา และจังหวัดนูซา เตงการา
โจนส์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิเคราะห์นโยบายด้านความขัดแย้ง ชี้ว่า กลุ่มไอซิสแสดงให้เห็นถึงความชำนาญอย่างผิดปกติในการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการระดมทุนและหาสมาชิก โดยอินโดนีเซียได้พยายามจัดการกับเรื่องนี้ ด้วยการบล็อกคลิปวีดีโอบน YouTube ที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้ชาวมุสลิมเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม และเตือนที่จะดำเนินมาตรการอย่างเด็ดขาดต่อพลเมืองที่สาบานตนจะจงรักภักดีกับไอซิส รวมถึงการยึดหนังสือเดินทางของคนเหล่านั้น
บรรดาผู้นำของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ยังกังวลด้วยว่า พลเมืองที่เดินทางไปร่วมปฏิบัติการในตะวันออกกลาง จะเดินทางกลับมายังบ้านเกิด พร้อมกับแผนที่จะจัดการกับรัฐบาลของตัวเอง แต่โจนส์ชี้ว่า คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเรียกร้องให้มีการก่อตั้งรัฐอิสลามทั่วทั้งภูมิภาค มากกว่าที่จะมาต่อสู้กับรัฐบาลของตัวเอง
ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิเคราะห์นโยบายด้านความขัดแย้งรายนี้ บอกด้วยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานแน่ชัดที่บ่งชี้ว่ากองบัญชาการกลางของไอซิสจัดหาเงินทุนหรือการฝึกสอนให้กับทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความกังวลที่แท้จริงอยู่ที่ว่า กลุ่มนี้อาจเป็นอันตรายต่อภูมิภาคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบนโลกโซเชียลมีเดียมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องถึงการที่สมาชิกไอซิสอาจเดินทางมายังอินโดนีเซีย แม้จะยังไม่มีหลักฐานในเรื่องนี้ก็ตาม
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 ภาพจากทวิตเตอร์ isisnews3
2 เนื้อหาแปลจากสื่อต่างประเทศโดยทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตีพิมพ์ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 16 ส.ค.2557 หน้าโฟกัส
อ่านประกอบ : ตั้ง"รัฐอิสลามเอเชียอาคเนย์" ไฟสุมขอนปะทุหลังอหังการ์"ไอเอสไอแอล"
http://www.isranews.org/south-news/documentary/item/30977-isil.html