นักวิจัย มธ. ชี้คนไทยยังไม่แยกขยะ แนะออกกม.บังคับใช้อย่างจริงจัง
รศ.ดร.กำพล รุจิวิชญญ์ ชี้ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศไทย มาจากคนไทยไม่คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เหตุคนไม่มีวินัย แนะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
วันที่ 14 สิงหาคม 2557 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวเผยผลสำรวจและบทวิจัย ในหัวข้อ "การศึกษาวิจัยอัตราการรีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย" ณ ห้องบอร์ดลูม 4 ชั้น 3 ศูนยฺการประุชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีว่า ปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ซึ่งขยะสามารถนำมารีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ ที่ผ่านมาไม่มีมาตรการในการจัดการกับขยะ การคัดแยกขยะของประชาชนตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงการขาดระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ
“ภาครัฐและเอกชนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายในการจัดการขยะ เพื่อนำมาใช้ใหม่ การศึกษาหาอัตราการรีไซเคิลและสัดส่วนของขยะฝังกลบ ยังไม่มีหน่วยงานใดเคยสำรวจมาก่อน จึงเป็นส่วนช่วยในการกระตุ้นให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและยั่งยืนเพื่อให้หน่วยงานต่างๆช่วยขับเคลื่อนและจัดการกับปัญหาได้อย่างแท้จริง” ประธานอุตสาหกรรมฯ กล่าว
ขณะที่รศ.ดร.กำพล รุจิวิชญญ์ หัวหน้าคณะวิจัย จากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) กล่าวถึงผลการศึกษาเรื่อง โครงการพัฒนาระบบการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับประเทศไทย (ระยะที่ 1) พ.ศ. 2555 – อัตราการรีไซเคิล ว่า จากการสำรวจบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทมีอัตราการรีไซเคิลไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยประเภทอลูมิเนียม เหล็ก และโลหะมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงกว่าที่ประมาณการอ้างอิงในอดีตที่ผ่านมา
นอกจากนั้นข้อมูลการสำรวจภาคสนามยังพบอีกว่า ปัญหาที่แท้จริงมาจาก ขยะที่เป็นเศษอาหาร
จากการสำรวจอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2556 ที่ผ่านมาพบว่า อะลูมิเนียมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่นำมารีไซเคิลมากที่สุดถึงร้อยละ 99.98 รองลงมาคือเหล็กและโลหะร้อยละ 99.81 ,กระดาษร้อยละ 75.22 ,แก้วร้อยละ 75.06 และพลาสติกร้อยละ 50.53 ตามลำดับ
ขณะที่เมื่อสำรวจสัดส่วนขยะ ณ หลุมฝังกลบมีวัสดุรีไซเคิลเพียง ร้อยละ 19.79 เท่านั้น ซึ่งลดลงจากในอดีตที่มีอัตราของขยะรีไซเคิลร้อยละ 42
“แนวทางการดำเนินการต่อไป คือจะพัฒนาแผนระบบการจัดการวัสดุรีไซเคิลโดยการสนับสนุนให้สมาชิกและกลุ่มอุตสาหกรรมช่วยกันรณรงค์การนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมารีไซเคิล ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนผลักดันแนวทางการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาประเทศไทย” หัวหน้าโครงการ TU-RAC กล่าว
สำหรับแนวนโยบายการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับประเทศไทย ได้แก่
1. แนวทางการจัดการปัญหาในระยะสั้น(ในระดับท้องถิ่น)ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ,แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอย และสร้างเครือข่ายประชาสังคมในการจัดการขยะท้องถิ่น
2.แนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืน อาทิ มุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอยให้สามารถนำมาแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ,สร้างความรู้เพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะรีไซเคิล การสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและการการตลาดเพื่อรองรับขยะรีไซเคิลที่คัดแยก ,จัดโครงการซาเล้งชุมชน และจัดโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้รศ.ดร.กำพล กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันคนไทยยังไม่สามารถคัดแยกขยะได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเสรีภาพมากเกินไป ประกอบกับความรับผิดชอบในด้านวินัยไม่มี การที่จะทำได้จึงต้องออกกฎหมายมาบังคับให้มีการแยกขยะอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่มีเพียงกฎหมายรวมถึงการบังคับใช้ด้วย เช่น หากมีการทิ้งขยะไม่เป็นที่ต้องถูกจับหรือปรับ ซึ่งในประเทศไทยมีกฎหมายข้อนี้อยู่ แต่การปฏิบัติตามหรือการจับยังไม่ทำอย่างจริงจัง เป็นต้น