ผอ.สพภ.เตรียมดันผลิตภัณฑ์ ‘ไหม’ สินค้าเด่นเทียบโสม-บัวหิมะ
สพภ.จัดมหกรรมทรัพยากรชีวภาพฯ โชว์สุดยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น 23-24 ส.ค.57 หวังสร้างมูลค่าทรัพยากร-รายได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ‘วีระพงศ์’ ยันผลิตภัณฑ์แตกต่างโอทอป เน้นจัดการยั่งยืน พร้อมดัน ‘ไหม’ เป็นสินค้าเด่นชาติเทียบโสม-บัวหิมะ ระบุเตรียมยื่นร่างกม.พัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพเข้า สนช.
วันที่ 14 สิงหาคม 2557 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) แถลงข่าวจัดมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2557 ภายใต้แนวคิด ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ เติมสุข ปลุกชีวิตคนเมือง’ ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2557 ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผอ.สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือสพภ. กล่าวถึงความหลากหลายทางชีวภาพหมายถึงสิ่งมีชีวิต จำพวก พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ ซึ่งสำนักงานฯ ได้มีการพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเน้นการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ เพราะหากมนุษย์ยังใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยขาดการดูแล นักวิจัยยุโรปคาดการณ์ภายในปี 2060 อาจมีสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์หายไปจากโลก
“ไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพแตกต่างจากพื้นที่อื่นของโลก ฉะนั้นจึงต้องส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์สินค้าควบคู่กับการอนุรักษ์” ผอ.สพภ. กล่าว และว่าต้องผลักดันระดับชุมชนก่อน เพราะมีความใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตให้ได้รับองค์ความรู้และการพัฒนาที่ถูกต้อง โดยยืนยันแตกต่างจากสินค้าโอทอป เพราะเน้นความยั่งยืนเป็นหลัก
ผศ.ดร.วีระพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบและดำเนินธุรกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนจะได้รับตราส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้า เพื่อกำหนดมาตรฐานภายใต้หลักการ 3 ประการ คือ 1.สินค้าต้องผลิตจากทรัพยากรชีวภาพ 2.มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3.เมื่อเกิดรายได้ต้องนำส่วนหนึ่งกลับไปอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพ เพื่อรักษาระบบนิเวศไว้ดังเดิม
ทั้งนี้ ตลาดทั่วโลกให้การยอมรับสินค้าที่ผลิตจากฐานทรัพยากรชีวภาพยั่งยืน แต่ที่มีการแข่งขันกันมากสุด คือ เสื้อผ้า ดังนั้น ไทยจึงพยายามสร้างจุดเด่นให้แก่สินค้าในประเทศ โดยเตรียมผลักดันผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือสกัดจาก ‘ไหม’ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติคิดถึงทุกครั้งเมื่อมาเมืองไทย เช่นเดียวกับบัวหิมะจากจีน โสมจากเกาหลี และรกแกะจากออสเตรเลีย
ส่วนข้อกังวลผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอาจไม่ได้รับการส่งเสริม ผอ.สพภ. ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ป่าหลายชนิดได้รับการส่งเสริมอย่างดี เช่น กวาง จระเข้ ชะมด แต่สำหรับงูนั้นยังติดขัดข้อกฎหมายไม่สามารถส่งออกได้ ซึ่งที่ผ่านมามีหน้าที่เพียงยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนสู่การผลักดันทางเศรษฐกิจของประเทศ
“สำนักงานฯ เตรียมยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)พัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อหวังใช้เป็นกฎหมายแม่บทที่สำคัญ ผ่านศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่” ผศ.ดร.วีระพงศ์ กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า งานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2557 เต็มไปด้วยกิจกรรมมากมายที่จัดแสดงไว้ 5 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 เส้นทางความหลากหลายทางชีวภาพ นำทรัพยากรในชุมชนมาเป็นวัตถุดิบต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ โดยใช้หลักภูมิปัญญาท้องถิ่น โซนที่ 2 ป่าเมืองชีวภาพ ถ่ายทอดเรื่องราวของป่าครอบครัวในรูปแบบภาพยนตร์ 4D โซนที่ 3 ศูนย์รวมชีวภาพภูมิปัญญา เครื่องเรือน เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ โซนที่ 4 ชีวภาพสรรค์สร้างความสุข มีการแสดงความรู้คู่ความบันเทิง โดยได้รับเกียรติจากศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ปาฐกถาพิเศษ ‘ชีวิตคนเมืองกับความหลากหลายทางชีวภาพ’ และโซนที่ 5 เติมพลังกับชีวภาพ สัมมนาสาธิตการชงชา ทำลูกชุบ นวดสปา จับคู่ทางธุรกิจ ให้คำปรึกษา และกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย หรือสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.bedo.or.th .