สงครามข่าวสารกับการรู้เท่าทันสื่อ
ในโอกาสครบรอบ 11 ปีของสภาการหนังสือพิมพ์ ทางสภาฯ ได้จัดสนทนากลุ่มเรื่อง”สงครามข่าวสารกับการรู้เท่าทันสื่อ” ขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์จากสถาบันต่างๆมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย นายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 5 เริ่มต้นเปิดวงสนทนา ว่า “ในระยะเวลา 11 ปีที่สภาการได้ก่อตั้งขึ้น ได้ดำเนินการร่วมมือกับองค์กรสมาชิกสื่อ 56 กิจการหนังสือพิมพ์ รวมถึงสมาพันธ์และสมาคมต่างๆ ในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรสื่อสารมวลชน ทั้งนี้สื่อหนังสือพิมพ์ ถือเป็นสื่อหนึ่ง ที่รายงานเหตุการณ์ในสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งอาจถูกนักการเมืองควบคุม แทรกแซง จนนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไม่ทั่วถึง ที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
จนเกิดปัญหากับคำว่า ‘เป็นกลาง’ ซึ่งคำว่า ‘เป็นกลาง’ ไม่ได้หมายความว่าอยู่เฉยๆ ดังนั้นสื่อต้องเป็นกระจกเพื่อสะท้อนความจริง รวมถึงเป็นตะเกียง เพื่อส่องแสงสว่างให้เกิดปัญญาด้วยด้วยเพราะภาระหลักของสื่อมวลชนคือการให้ข่าวสาร ความรู้ ความคิด เสรีภาพ จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์เป็นสถาบันที่จะทำหน้าที่ควบคุมสื่อด้วยกันเองให้มีจริยธรรมเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า หนังสือพิมพ์จะเสนอข่าวอย่างถูกต้อง เป็นธรรม อย่างแท้จริง” หลังจากนั้นจึงเริ่มสนทนา โดย รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอความคิดเห็นว่า ประเด็นการรู้เท่าทันสื่อถูกพูดถึงกันมาก ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่มีแค่ในประเทศไทย ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มี “สิ่งที่น่ากลัวคือการใช้สื่อเป็นเครื่องมือสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ทั้งนี้เห็นว่าถ้าไม่มีสื่อที่เลือกข้าง บ้านเมืองอาจจะแย่ก็ได้ เพราะจะไม่เกิดประเด็นโต้เถียงกันอย่างเขาพระวิหาร จะไม่เกิดการคุ้มครองของศาล ความเป็นกลางไม่ได้หมายถึงมาวัดว่าเสนอเรื่องของใครมากกว่ากัน แต่หมายถึงความพยายามในการเสนอความเป็นธรรม สื่อต้องมีการเสริมคุณภาพเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับคนในสังคม ต้องกล้าเสนอข่าวสารเพื่อดำรงซึ่งความดี ความงาม ความกล้า ต้องมีจิตวิญญาณในการนำเสนอสิ่งที่ควรรู้ มิใช่เกิดเหตุแล้วถึงมานำเสนอ อย่างเรื่องเขาพระวิหาร หรือ ไข้หวัดนกที่ก่อนหน้านี้ ไม่มีการนำเสนออะไร สื่อต้องช่วยกันผลักดันบริบทแวดล้อมมิใช่เสนอเรื่องแค่บางเรื่องตามกระแสที่เกิดขึ้น”
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมแสดงความเห็นว่า “ทุกวันนี้สังคมอยู่ในบริบทสงครามข่าวสาร ซึ่งสงครามหมายถึงการบรรลุชัยชนะ อันได้แก่ บรรลุชัยชนะในการให้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ฉับไว ชนะโดยการมีข้อมูลที่ดี สามารถทำลายคู่ต่อสู้ ชูประเด็นให้เด่นที่สุด มีความชอบธรรม ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการใช้ข้อมูลข่าวสารกันเยอะ โดยเฉพาะ มีการนำสถาบันมาสื่อสารกันว่าอีกฝ่ายกำลังจะทำลายศรัทธาของสถาบัน ซึ่งเป็นการทำลายโดยอาศัยข่าวสารอย่างหนึ่ง ทั้งนี้สื่อเป็นเสมือนช่องทางสื่อสาร ผู้ทำหน้าที่ต้องไม่มีความเกลียดชัง ไม่มีการเร้าอารมณ์ประชาชน เพราะความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันสื่อยังคงเป็นพื้นที่ของคนชั้นนำ อาทิ นักการเมือง ดารา เพียงอย่างเดียว แต่ยังขาดเสรีภาพอย่างแท้จริง ต้องมีพื้นที่ให้กับคนที่มีเสียงแตกต่าง มิใช่ให้ความเห็นทั้ง 2 ข้างแล้วบอกว่ารอบด้าน ต้องให้ความเห็นอื่นๆ เป็นทางเลือก ไม่ใช่แค่เอาความเห็น 2 ด้านมาทำลายล้าง หรือเป็นช่องทางให้อีกฝ่ายมาทำลายล้างความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย ควรมีความเห็นให้เป็นทางเลือกที่ 3 ต่อเหตุการณ์นั้นๆ ซึ่งก็ให้เกิดความแตกต่างในความคิดที่มีเหตุมีผลอย่างแท้จริง” “สื่อต้องเข้าถึงความจริง เพราะอยู่ใกล้กับความจริงที่สุดแล้วถึงบอกกับประชาชน แต่ถ้าสื่อบิดเบือน ประชาชนก็จะเข้าไม่ถึงและสังคมจะเป็นสังคมที่บิดเบือน สื่อต้องไม่ทำให้สังคมเกลียดชังกัน ปัจจุบันมีสื่อบางประเภทที่รายงานแบบเร้าอารมณ์จน ทำให้อีกฝ่ายถูกลดความเป็นมนุษย์ มีการใช้คำหยาบคายซึ่งไม่สมควร สื่อต้องเป็นทั้งสติและปัญญาชี้ทางให้เห็นในสิ่งที่ถูกที่ควร” มาถึง รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีหลายอย่างที่สื่อยังไม่ได้ทำ คือยังไม่รู้จักบทบาทอย่างเป็นกลางระหว่าง 2 ฝ่าย สื่อต้องมีความนิ่งในการทำงาน ถ้ามีความนิ่งแล้วจะเห็นจะรู้ว่าอะไรแท้อะไรเทียม “สื่อไม่มีหน้าที่ชนะใคร มีหน้าที่เสนอ Fact แล้วประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ นอกจากนี้สื่อต้องทำงานหนักกว่านี้ สื่อบางส่วนยังไม่รู้บทบาท ส่วนมากสื่อที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ ยังรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ที่รายงาน สังเกตได้จากการสัมภาษณ์
ในการทำข่าวสื่อต้องให้ข้อมูลเชิงลึก ต้องทำการบ้านมิใช่ทำงานเหมือน Messenger มีการให้ข้อมูลที่ต่างๆกันรอบๆด้าน ให้มุมมองที่ประชาชนอยากรู้ ในสังคมบริโภคสื่อต้องไม่ให้ความสนใจแต่เรตติ้งอย่างเดียว ไม่ต้องเอาใจผู้ชม หน้าที่สื่อไม่ได้แค่ต้องให้มีคนอ่าน แต่ต้องให้ข้อมูลข่าวสารมากที่สุด เช่น กรณีเขาพระวิหาร ลองดูว่า มีการให้ข้อมูลอื่นๆ หรือเปล่า อาทิ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ มิใช่เสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว” “การจะเป็นผู้นำทางความคิดได้สื่อต้องมีการกรองว่าควรจะเสนออะไร ไม่เสนออะไร มีพื้นที่ในการให้ข้อมูลเชิงลึกให้เกิดการถกเถียงกันลึกซึ้งขึ้น ไม่ใช่เสนอแต่ว่าผู้นำคนนี้พูดจาหยาบคาย ต้องนำเสนอเหตุผลที่แท้จริงเพื่อทำให้คนเลือกข้างที่ถูกต้องได้ อย่าดูถูกประชาชน คนที่เป็นเป้าให้สื่อทำงานไม่ใช่รัฐบาล ฝ่ายค้าน แต่คือประชาชน ต้องยึดประชาชนเป็นหลัก อย่าอินกับเรื่องที่ตัวเองทำหรือก๊อปปี้กันมา การนำเสนอข่าวสื่อต้องจัดสรรสัดส่วนพื้นที่ให้เหมาะสม ทั้งเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ ควรรู้ หรือต้องการจะรู้ ทั้ง 3 อย่างให้มีสัดส่วนที่ไปด้วยกันได้ ทั้งนี้การให้ข้อมูล จัดสรรพื้นที่สัดส่วนอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้น สื่อต้องมีหน้าที่คัดกรองข้อมูลและจัดลำดับความสำคัญแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้เสนอสิ่งที่ไม่ดีเลย เพราะสิ่งที่ไม่ดีที่จะพัฒนาให้เป็นสิ่งที่ดีได้ก็ต้องเสนอ เช่น กรณีอาจารย์-นักศึกษา ที่จะก่อให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ในสังคม” รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเป็นคนสุดท้ายว่า จากการที่ได้ติดตามสื่อบางทีอ่านแล้วรู้สึกว่าบางคอลัมน์ยังไม่ดี ไม่มีความรอบด้าน อ่านแล้วขัดแย้งกับความจริง เพราะข้อมูลมีไม่มากพอ ขณะที่บางคอลัมน์คนเขียนก็มีการทำงานหนักมีคุณภาพ ในการนำเสนอเรื่องของรสนิยมบางเรื่องไม่มีถูกผิด หากแต่กับเรื่องบางอย่างมีถูกผิดชัดเจน มีขาวมีดำ มิใช่อะไรก็เว้นว่างให้ประชาชนคิดเอง มันไม่ถูกต้อง แบบนี้เท่ากับสื่อไม่ได้ทำอะไรเลย สื่อต้องชี้ให้ประชาชนเห็น ต้องอยู่ข้างกับสิ่งที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นสังคมก็จะไม่มีการเลือกอะไร ที่สำคัญคือสื่อต้องหาให้ได้ก่อนว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง