วิศวกรรมสถานฯ วิเคราะห์สาเหตุอาคารคอนโด 6 ชั้น คลอง 6 พังถล่ม
นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ชี้อาคารยูเพลสคอนโดมิเนียมพังถล่ม ภาพรวมสาเหตุอาจเกิดได้จาก 3 ประเด็น ที่ต้องตรวจสอบทางวิชาการวิศวกรรมอีกครั้ง
จากเหตุอาคาร ยูเพลสคอนโดมิเนียม ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พังถล่มราบลงมาขณะทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2557 เวลา 16.20 น. ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ลงสำรวจพื้นที่พิบัติภัยอาคารคอนโดที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมาในวันที่ 11-12 ส.ค. ที่ผ่านมา และได้นำแบบแปลนก่อสร้างของโครงการนี้มาประกอบเพื่อศึกษาวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ตึกถล่มลงมา
ศ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า อาคารยูเพลสคอนโดมิเนียม เป็นอาคารที่พักอาศัยสูง 6 ชั้น มีจำนวน 4 หลัง สร้างเสร็จแล้ว 2 หลัง โดยอาคาร 4 ได้พังถล่มลงมา ภาพรวมของปัญหาสาเหตุของอาคารถล่มครั้งนี้ มี 3 ประเด็น ที่ต้องตรวจสอบทางวิชาการวิศวกรรมโดยละเอียด คือ
1. แบบอาคาร การรับน้ำหนักบรรทุกและการกำหนดมิติของโครงสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมหรือไม่
2. วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างมีคุณภาพ และมาตรฐานหรือไม่
3. วิธีการก่อสร้าง ขั้นตอนการก่อสร้าง การควบคุมงาน ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่
ทั้งนี้ในประเทศไทย โดย วสท. ได้จัดทำมาตรฐานการออกแบบ การควบคุมงาน ความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้าง และจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด
รองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า “จากการสำรวจโครงสร้างของอาคาร และตรวจสอบแบบแปลนแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ที่เสาอาคารมุมอาคารด้านหนึ่ง ซึ่งในอาคารที่สร้างเสร็จแล้วมีร่นขอบแผ่นพื้นคอนกรีตอัดแรงท้องเรียบเข้าภายในอาคาร เพื่อเมื่อติดตั้งแผงคอนกรีตสำเร็จรูปแล้วจะเติมเต็มตามขอบแผ่นพื้น ซึ่งการดำเนินการนี้อาจมีผลกระทบกับกำลังรับแรงเฉือนเจาะ (punching shear) ของแผ่นพื้น ประกอบกับเสามุมรับน้ำหนักบรรทุกน้อย แต่ต้องรับการบิด (torsion) ทั้งสองแกนของเสา ซึ่งประกอบกับการเทคอนกรีตบริเวณนั้น อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่ำทำให้คอนกรีตสดอาจกองอยู่บริเวณนั้น ทั้งนี้กรณีที่มีนั่งร้านค้ำยันในการก่อสร้างแผ่นพื้นนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้เสาต้นดังกล่าวมีการสูญเสียตำแหน่งอย่างมาก และพังทลายลง และน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดที่เสาต้นนี้เคยรับจะส่งไปที่เสาข้างเคียง และมีการวิบัติอย่างต่อเนื่อง (progressive collapse) จนอาคารทั้งหลังวิบัติทั้งหมด (total collapse)
ทั้งนี้การจะได้อาคารที่ดี ควรประกอบด้วย 1. การออกแบบดี 2. การมีข้อกำหนดด้านวัสดุที่ดี และเพียงพอ เหมาะสม 3. การก่อสร้าง และ 4. การบำรุงรักษา และซ่อมแซม” รองศาสตราจารย์ อเนกกล่าว