รวมวิวาทะ! สนช.แจ้ง-ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินฯ? คำตอบอยู่ที่ ป.ป.ช.
จับตาการประชุม ป.ป.ช. ปมยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ สนช. เมื่อเกิดวิวาทะ ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์หนัก จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯหรือไม่ ? ขณะที่บางฝ่ายงัด ม.41 รธน.ชั่วคราวปี 57 สู้ กลัวขัดคุณสมบัติต้องห้ามนักการเมือง
กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมกำลังจับตา ภายหลังเกิดข้อถกเถียงกันของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าเท็จจริงแล้วสมควรยื่น “บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน” ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ ?
สนช. บางรายในสายเอ็นจีโอ เช่น “ครูหยุย” หรือนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อถึงกรณีดังกล่าว ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ต้องเถียงเลยว่ากฎหมายกำหนดให้ยื่นหรือไม่ แต่ในฐานะ สนช. ที่เข้าสู่วงจรการเมือง ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่จะต้องแจ้งอยู่แล้ว และยิ่งมีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยิ่งต้องเปิดเผย
พร้อมหล่นวาทะเด็ดไว้ว่า “ไม่เช่นนั้นจะไปชี้หน้าว่านักการเมืองได้อย่างไร”
ซึ่งคล้ายคลึงกับความเห็นของ สนช. ในสาย “ท็อปบู้ต” หลายราย เช่น พล.ท.กัมนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนหากมีการแจ้งให้แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ยินดีเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯต่อสาธารณะ เพราะไม่มีอะไรปกปิด เหมือนกับ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ระบุว่า พร้อมเปิดเผยเช่นกัน
นอกจากนี้ท่าทีของแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักวิชาการ ต่างเห็นดีเห็นงามที่ สนช. จะต้องแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ไม่ว่าจะเป็น นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ระบุว่า เพื่อแสดงความโปร่งใส และจริงใจในการใช้อำนาจรัฐ
ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวนิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่า สนช. ควรแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ
รวมไปถึงนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่ยืนยันว่า ต้องเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ แม้ว่าที่ผ่านมาในอดีตจะไม่ได้ทำให้การทุจริตลดลง แต่เชื่อว่าหากมีการเปิดเผยให้ประชาชนตรวจสอบได้ ย่อมป้องกันในกรณีที่คณะรัฐมนมตรีถือหุ้นและมีสัมปทานโครงการรัฐได้
อย่างไรก็ดียังมี สนช. บางส่วน ที่เห็นว่าการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯนั้น จะส่งผลกระทบต่อความยุ่งยากในหน้าที่การงาน และคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากเข้ามาทำหน้าที่แค่เพียงชั่วคราว และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมืองแต่อย่างใด
พร้อมทั้งอ้างอิงไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 41 ที่บัญญัติว่า กรณีมีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะ คสช. สนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่างบอกเป็นเสียงเดียวพร้อมเพรียงกันว่า สนช. ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ เนื่องจากต้องนำมาเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 ที่ขณะนั้นกำหนดให้ สนช. ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯหลังจากเข้ารับตำแหน่งภายใน 30 วัน แต่จะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบหรือไม่ ต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หารือในประเด็นสำคัญนี้ในวันที่ 14 สิงหาคม 2557
พร้อมยืนยันว่า แม้ สนช. หลายคนจะเป็นห่วงเรื่องการถือครองหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัมปทานรัฐ ที่ถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ประชุม ป.ป.ช. ก็พร้อมจะหารือในประเด็นนี้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเห็นว่า ถ้ามีรายละเอียดจุกจิกมากมาย ก็คงไม่มีใครอยากมาเป็น สนช.
ทั้งหมดนี้คือ “วิวาทะ” ระหว่าง สนช. ด้วยกันเองชงมาถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าแท้จริงแล้ว สนช. สมควรยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯหรือไม่ ประการใด ?
และหากยึดตาม “ประเพณี” รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 จริง แล้วจะไม่เปิดเผยเหมือนเดิม หรือพร้อมเปิดเผยให้สาธารณชนตรวจสอบด้วยหรือไม่ ?
สุดท้ายจะได้ข้อสรุปอย่างไร จับตาการประชุมในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ เท่านั้น !