เรื่องเศร้าวันแม่ที่ชายแดนใต้...เสียงร้องไห้ดังแทรกควันระเบิด
"วันแม่"ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันที่ปัญหาความไม่สงบยังคงไม่คลี่คลาย จึงยังมีเรื่องเล่ามากมายที่อาจไม่ได้เปี่ยมล้นไปด้วยความสุขเหมือนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศนี้
ที่น่าวิตกไปกว่าสถานการณ์รุนแรงรายวันก็คือ "ปัญหาสังคม" ที่เป็นผลพวงสืบเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบอีกที เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง รัฐก็ประกาศใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับในพื้นที่ เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ และทำให้บุคคลตกเป็นผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงได้ง่ายยิ่งกว่าง่าย
ถ้ารัฐจับกุมได้ถูกตัวทุกกรณีก็ดีไป แต่ในสถานการณ์จริงที่ฝุ่นตลบยิ่งกว่าลมพายุพัดหอบดินแล้ง ย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดกรณีกวาดจับเอาไว้ก่อน หรือแม้แต่มีการสร้างข่าวลือจากผู้ไม่หวังดีว่ารัฐกำลังจะจับกุมคนนั้นคนนี้ ทำให้ในพื้นที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความประหวั่นพรั่นพรึง
ตลอด 9 ปีเต็มของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกว่า 10 ปีของการใช้กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหมายจับหรือมีข้อหา แม้ว่าผลด้านหนึ่งจะทำให้การติดตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งทำให้ชายฉกรรจ์จำนวนมากอยู่บ้านไม่ได้ บ้างก็หนีเข้าป่า บ้างก็หนีไปทำงานที่มาเลเซีย
ข่าวร้ายข่าวลือเรื่องคนนั้นถูกขึ้นแบล็คลิสต์ คนนี้ถูกออกหมายจับ ฯลฯ กลายเป็นข่าวสารประจำวันที่พูดกันตามร้านน้ำชาเกือบทุกแห่ง หลายกรณีทำให้คนหัวใสใช้เป็นช่องทางในการเรียกเงินชาวบ้านเพื่อไป "ปลดหมาย" หรือ "ลบชื่อออกจากแบล็คลิสต์"
เมื่อผู้ชายในฐานะ "เสาหลักของครอบครัว" อยู่บ้านไม่ได้ ทำให้ผู้หญิงผู้เป็น "แม่" ต้องทำหน้าที่นั้นแทน
ซ้ำร้ายในบางครอบครัวได้กลายเป็นเงื่อนไขทำให้สมาชิกในบ้านไม่ได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า...
ดังเช่นครอบครัวของ วาฮีดา วัยเพียง 10 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ป.4) ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
"ตามหลักหนูต้องเรียนชั้น ป.5 แล้ว แต่ที่ผ่านมาต้องหยุดเรียนไป 1 ปีตอนไปอยู่กับแม่ที่มาเลเซีย ต่อมาน้าสาวชวนให้กลับมาอยู่ที่บ้านกับน้า ส่วนน้อง 2 คน คนหนึ่งอายุ 1 ขวบ กับอีกคนอายุ 1 เดือนยังอยู่กับแม่ หนูต้องแยกกับแม่มาอยู่กับน้าเพราะต้องเรียนหนังสือ"
ครอบครัวของ วาฮีดา ประสบเคราะห์กรรมไม่ต่างจากอีกหลายครอบครัวที่ชายแดนใต้ กล่าวคือ พ่ออยู่บ้านไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่มีข่าวคราวไม่ค่อยดีที่เกี่ยวพันกับพ่อ ทำให้พ่อตัดสินใจหนีข้ามฝั่งไปทำงานที่มาเลเซีย ก่อนจะพาครอบครัวตามไปอยู่ด้วย ทั้งแม่ของเธอ ตัวเธอ และน้องๆ ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก เพราะไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน
วาฮีดา ต้องหยุดเรียน 1 ปีช่วงตามแม่ไปอยู่มาเลเซีย แต่ด้วยความที่ญาติฝ่ายแม่อยากให้เธอได้เรียนต่อ จึงขอให้เธอกลับมาอยู่ที่รือเสาะ เพื่อเริ่มชีวิตในห้องเรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ
"วันแม่ปีนี้อยากกอดแม่เหมือนเพื่อนๆ ที่เขามีแม่อยู่ด้วยกัน แต่แม่เราต้องไปทำงานที่มาเลเซีย อยากบอกรักแม่ หนูรู้ว่าแม่ไปทำงานที่นั่นเพราะแม่ทำเพื่อหนู แม่ทำทุกอย่างให้หนูมีความสุข มีเสื้อผ้าใส่ ให้หนูอยู่สุขสบาย ให้เรียนหนังสือ หนูจะได้เป็นคนดี มีอนาคต" เป็นเสียงเล็กๆ ของวาฮีดา พร้อมคำสัญญาที่ฝากไปให้แม่ที่อยู่ไกลถึงมาเลเซีย
"ถึงแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่หนูก็รู้ว่าแม่รักหนู จึงตั้งใจว่าวันแม่ปีนี้จะทำสิ่งดีๆ เรียนให้เก่งๆ เพื่อให้แม่ได้รู้ว่าสิ่งที่แม่หวัง หนูทำได้ เพราะหนูก็รักแม่ ตั้งแต่เล็กจนโตแม่ทำเพื่อหนูมากแล้ว คิดว่าปีนี้อายุหนู 10 ปี โตพอที่จะทำเพื่อแม่บ้าง อยากตอบแทนความรักและตอบแทนบุญคุณที่แม่ทำให้หนูมาตลอด"
วาฮีดา กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของเธอไม่ใช่ของเล่นหรือตุ๊กตา แต่เป็นการได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูกเหมือนครอบครัวอื่นๆ
ความหวังของวาฮีดายังมีโอกาสเป็นจริง แต่สำหรับ รอฮานา ตาและ วัย 17 ปี ไม่มีวันเป็นจริงได้อีกแล้ว เพราะแม่ของเธอเพิ่งจากเธอกับน้องๆ ไปช่วงก่อนวันแม่ไม่นาน ทำให้วันนี้เธอต้องเป็นทั้งพี่และ "แม่" ให้กับน้องๆ ของเธอ
หากเป็นครอบครัวที่พรั่งพร้อม ภารกิจนี้ก็คงไม่ลำบากกระไรนัก แต่ครอบครัวของรอฮานาแร้นแค้นถึงขนาดแม้แต่บ้านก็ยังไม่มีอยู่ ทำให้วันนี้เธอต้องรับภาระอันหนักอึ้ง
"เราไม่มีบ้านเป็นหลักแหล่ง ได้แต่ย้ายตามแม่ไปทุกที่ ปัตตานีก็ไปอยู่หลายอำเภอ ยะลาก็เหมือนกัน ตอนนี้มาอาศัยอยู่ที่ อ.ยะหา"
รอฮานา เล่าว่า เธอมีพี่น้อง 6 คน พี่สาวคนโตแต่งงานได้สามีเป็นคน จ.นราธิวาส จึงไปอยู่นราธิวาสกับครอบครัวใหม่ ส่วนตัวเธอเองเป็นลูกคนที่สอง หย่าขาดกับสามีแล้วจึงกลับมาดูแลน้องๆ อีก 4 คน เพราะหลังจากที่แม่จากไป น้อง 2 คนที่เป็นผู้ชายก็เลยไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ส่วนน้องสาวอีก 2 คนยังเรียนอยู่ชั้นประถมคนหนึ่ง และมัธยมอีกคน
"วันแม่ปีนี้รู้สึกเศร้ากว่าปีไหนๆ เพราะเราไม่มีแม่แล้ว ทั้งยังต้องมาทำหน้าที่แทนแม่ ด้วยการดูแลน้องๆ แม้ที่ผ่านมาเราจะลำบาก แต่เราก็อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ถึงจะอดพร้อมกันทุกคน แต่พวกเราก็มีความสุข ทว่าปีนี้เศร้าจนบอกไม่ถูก ไม่รู้จะบอกใครดี ลำพังตัวเองพอจะเก็บความรู้สึกได้บ้าง แต่น้องๆ ที่ยังเล็ก เขาได้แต่ร้องไห้เวลาคิดถึงแม่"
ชีวิตของรอฮานาเหมือนตกอยู่ในห้วงทุกข์ ท่ามกลางปัญหาสังคมที่ถูกซุกอยู่ใต้พรม และไม่ค่อยมีหน่วยงานรัฐที่ไหนให้ความสนใจ เนื่องจากมุ่งแก้เฉพาะปัญหาความรุนแรง กระทั่งผู้รู้หลายคนบอกว่าสังคมชายแดนใต้กำลังถูกกัดกร่อนจากปัญหายาเสพติดและการศึกษาจนใกล้ล่มสลายเต็มที
"ชีวิตเหมือนถูกแกล้งให้ลำบาก แล้วยังมาเจอปัญหาครอบครัวอีก ก่อนหน้านี้แม่ให้ฉันแต่งงานกับผู้ชายที่ยี่งอ (อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส) จนได้ลูกสาว 1 คนอายุ 2 ขวบ แต่แล้วก็ต้องมาเลิกกันเพราะเขาติดยา ฉันพาลูกกลับมาอยู่บ้าน แต่พอกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นานแม่ก็จากเราไป"
วันนี้หน้าที่ทุกอย่างที่แม่เคยทำ ตกมาอยู่ที่รอฮานา โดยที่สภาพจิตใจของเธอก็ยังไม่สมบูรณ์
"ปัญหาหลายอย่างเข้ามา ฉันเองสามารถส่งให้น้องเรียนหนังสือได้แค่ 2 คน ส่วนอีก 2 คน (น้องชาย) เขาไม่อยากเรียน เพราะเขาบอกว่า สงสารเรา เลยออกมาช่วยเรากรีดยาง"
"ชีวิตทุกวันนี้ก็ไม่มีอะไรมาก แต่ละวันตื่นนอนขึ้นมาก็ถีบจักรยานออกไปกรีดยาง ได้วันหนึ่งไม่ถึงร้อยบาท แต่ก็พอเอามาซื้อข้าวสารและกับข้าวได้ โชคดีที่น้องๆ เข้าใจ เขาจะกินเท่าที่พอจะหามาได้ ส่วนลูกของฉันเอง หลายครั้งไม่มีเวลาดูแล โดยเฉพาะช่วงที่เราทิ้งเขาไปกรีดยาง ลูกไปเล่นน้ำมันทอดปลาที่ร้อนๆ จนถูกน้ำมันลวกตัว เพราะก่อนไปกรีดยางตอนเช้าจะหุงข้าวทอดปลาให้น้องๆ กิน แต่ลูกเราซนไปเล่นจนทำให้น้ำมันลวก บางวันก็เล่นจนไฟช็อต"
"ส่วนน้องถัดจากฉัน 2 คน ก็จะดูแลน้องสองคนเล็ก แต่งตัวน้องแล้วพาไปส่งโรงเรียน พอกลับมาก็จะรับจ้างเพื่อนบ้านทำงานทุกอย่าง ได้เพิ่มอีก 20-30 บาทก็สามารถเอามาซื้อกับข้าวในวันนั้นกินได้ ส่วนขี้ยางที่กรีดทิ้งไว้ จะเก็บมาขาย อาทิตย์หนึ่งได้ 300-400 บาท ก็พอเอามาซื้อข้าวสาร และเก็บให้น้องๆ ไปโรงเรียน"
6 ชีวิตในวัยกำลังกินกำลังนอนกับรายรับเดือนละไม่ถึง 5 พันในวันที่ไม่มีแม่...นี่คืออีกหนึ่งในหลายๆ ความจริงที่ชายแดนใต้ ความจริงที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจ เพราะไม่เกี่ยวอะไรกับความรุนแรง สันติภาพ และงบประมาณ!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สามคนแรกคือ รอฮานาขณะกำลังอุ้มลูกน้อยวัย 2 ขวบ และน้องๆ ของเธอ ส่วนภาพสุดท้ายคือ วาฮีดา