ข้าวเพื่อนชาวนาโครงการช่วยชาวนาแบบยั่งยืน?
“วันนี้เราสามารถที่จะสร้างพลังจากผู้บริโภคโดยที่ไม่ต้องรอคอยนโยบายจากผู้ปกครองบ้านเมือง ถ้าหากมาช่วยกันในลักษณะนี้เราสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตชาวนาได้ ”
“การจะเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ไม่ต้องใช้อะไรมาก ใช้ความกล้าอย่างเดียว กล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะลงทุน กล้าที่จะยอมรับว่าในช่วง1-3 ปีแรกจะได้ผลผลิตและมีรายได้น้อย” นี่คือคำบอกกล่าวจากพ่อมณี แสงแก้ว ชาวนาจากที่ราบสูงจังหวัดยโสธรที่พลิกผันตัวเองจากชาวนาเคมีมาสู่เกษตรอินทรีย์มาแล้วกว่า 20 ปี
หลายปีที่ผ่านมาแม้รัฐจะพยายามออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนา ทว่าการช่วยเหลือนั้นไม่อาจสร้างหลักประกันและความยั่งยืนให้กับชาวนาได้อย่างแท้จริง เนื่องจากชาวนาต้องรับภาระในการแบกรับต้นทุนของการผลิตที่ค่อนข้างสูงทั้งในส่วนของปุ๋ย การจ้างไถ่ หรือที่เขาเรียกกันว่า ยุคชาวนามือถือ
เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กลุ่มบิ๊กทรี และร้านโบ.ลาน จัดงาน “เราอิ่ม ชาวนายิ้ม” ณ ร้านโบ.ลาน ซ.สุขุมวิท 53 เพื่อเปิดตัวโครงการ “ข้าวเพื่อนชาวนา” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิออร์แกนิก คัดพิเศษ100% โดยการซื้อตรงจากชาวนาในรูปแบบสมัครสมาชิกรายปี
"ธวัชชัย โตสิตระกูล" หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และผู้บุกเบิกเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชาวนามีความยากลำบากต้องเสี่ยงกับปัจจัยน้ำท่วมน้ำแล้ง ต้นทุนการผลิต หรือบางครั้งผลผลิตข้าวดีแต่ก็ต้องมาเสี่ยงกับราคาผลผลิต ดังนั้นโครงการที่จัดขึ้นเรามุ่งหวังที่ชวนให้ผู้บริโภคหันมาซื้อข้าวอินทรีย์ด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้าให้ชาวนา และเห็นว่าเป็นการค้าที่เป็นธรรมและยังเป็นการการันตีเพื่อที่จะได้ชวนเกษตรกรหน้าใหม่ให้หันมาปลูกข้าวอินทรีย์ เพราะโครงการที่จัดขึ้นเรารับประกันการรับซื้อข้าวเปลือกด้วยตันละ 2,000 บาท ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องตลาด และเงินที่จ่ายมาจะถูกจัดสรรในชาวนาส่วนหนึ่ง คือทุกๆ 1กิโลกรัมหรือ 100 บาทจะหัก 20 บาทเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงให้ชาวนาและกองทุนส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
“เราทำโครงการนี้มา 20 ปี และสิบปีที่ผ่านมาพยายามทุ่มกำลังคนเพื่อที่จะขยายสมาชิก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2547 ชาวนาเกษตรอินทรีย์มีถึง 900 ครอบครัว แต่ ณ วันนี้เหลือเพียง 450 ครอบครัวเท่านั้น แต่พอเราตั้งโครงการโดยการชักชวนให้ผู้บริโภคจ่ายเงินล่วงหน้าและประกันราคาข้าวให้ชาวนา 1 ปีที่ผ่านมาทำให้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการสูงถึง 100 ครัวเรือน”
ธวัชชัย บอกว่า กิจกรรมนี้เรียกได้ว่า คือการปฏิรูปการเกษตร เพราะเป็นโครงการที่ช่วยให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแบบยั่งยืนและมีนัยยะเชื่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มีความใกล้ชิดกัน ดังนั้นเราสามารถที่จะสร้างพลังจากผู้บริโภคโดยที่ไม่ต้องรอคอยนโยบายจากผู้ปกครองบ้านเมือง ถ้าหากมาช่วยกันในลักษณะนี้เราสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตชาวนาได้ตั้งแต่วันนี้
“ที่สำคัญในเรื่องของสุขภาพคือชาวนาที่ใช้ปุ๋ยเคมีป่วยกันเยอะ แต่ไม่ปรากฏในข้อมูลสาธารณะสุขเนื่องจากไม่ได้เป็นการป่วยโดยเฉียบพลัน แต่เหมือนเป็นการสะสมมานานแล้วถึงเริ่มมีอาการ ถ้าสังเกตคือจะพบชาวนาป่วยเป็นมะเร็งตับเยอะมาก ฉะนั้นวันนี้เริ่มปฏิรูปเกษตรและขยายเกษตรอินทรีย์ให้เพิ่มขึ้นในประเทศไทยกันดีกว่า”
ส่วนมุมมองของหนุ่มใหญ่ผู้ฝ่าฝันทำเกษตรอินทรีย์มาแล้ว 20 ปีอย่างพ่อมณี แสงแก้ว บอกถึงสาเหตุที่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่กล้าหันมาปลูกแบบอินทรีย์ เนื่องจากกลัวรายได้ลดลง เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงแรกที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ผลผลิตลดลงจริง แต่ในมุมมองเขาก็ยังมีความเชื่อว่า หากปีนี้ลดลงปีต่อไปต้องเพิ่มขึ้น คือต้องบอกจริงๆ ว่า "มันต้องกล้าเสี่ยง ใครกลัวไม่กล้านี่ทำไม่ได้"
ที่สำคัญการทำเกษตรอินทรีย์เราสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ ในขณะที่การปลูกแบบใช้สารเคมีเราควบคุมไม่ได้ เพราะราคาปุ๋ย ราคาสารกำจัดศัตรูพืช นับวันยิ่งมีราคาแพงขึ้น
“ลุงปลูกข้าวแบบอินทรีย์ไม่ได้ใช้สารเคมีเลยสักอย่าง ข้าวก็ไม่ต้องกลัวแมลงมากิน เพราะรอบๆเราจะปลูกพืชกันชนไว้ เช่นพวกตะไคร้แมลงอยากกินก็ให้กินไปซะให้พอ แล้วก็ใช้วิธีการทำคันนาให้สูง พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ว่านในปีต่อไป ไถ่กลบซังข้าวให้เป็นปุ๋ยปลูกพืชผักสวนครัวไว้กิน เรียกได้ว่า อยู่แบบพอเพียง ตอนนี้ลุงไม่ได้มุ่งหวังกำไรมากเอาแค่พออยู่พอกินไม่เป็นหนี้ก็พอแล้ว”
พ่อมณียังบอกอีกว่า เกษตรกรคนไหนที่เคยลองทำแบบอินทรีย์แล้วเจอปัญหาเรื่องแมลงก็ให้ใช้วิธีปลูกพืชกันชนแทน เพราะบางพื้นที่ที่รอบๆใช้แต่สารเคมีแมลงจะดื้อยา แต่ถ้าปลูกพืชกันชนไว้เยอะๆรับรองไม่มีทางได้กินรวงข้าวเราแน่นอน
พร้อมกันนี้เขาเห็นว่า โครงการเพื่อนชาวนายังเป็นเหมือนมิติใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างชาวนากับผู้บริโภค และสัญญาว่าจะพยายามชักชวนหาสมาชิกให้มากขึ้น
ด้านผู้บริโภคข้าวเกษตรอินทรีย์ที่ยอมตกลงจ่ายเงินล่วงหน้าปีละ 10,000 บาท อย่างเชฟโบ ดวงพร ทรงวิศวะ เจ้าของร้านโบ.ลาน บอกถึงเหตุผลที่สนับสนุนเกษตรกรกลุ่มนี้ว่า นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือชาวนาแบบยั่งยืน ตัวเราเองก็ยังได้ทานข้าวที่ปลอดภัย
เธอจึงเชื่อว่า หากคนไทยหันมาสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกลุ่มนี้จะไม่มีข่าวชาวนาต้องฆ่าตัวตายเพราะไม่ได้รับเงินจากโครงการ ชาวนาจะไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้เรายังได้ช่วยชาวนาให้ปลอดภัยจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง มีข้าวออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานคุณภาพระดับโลก
สำหรับใครที่สนใจจะสมัครเป็นสมาชิกโครงการ “ข้าวเพื่อนชาวนา”สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 081-643-9240 หรือติดต่อไปที่อีเมล์ [email protected]
คงจะไม่มีใครช่วยชาวนาแบบยั่งยืนได้นอกจากคนไทยทุกคนถ้าเราอิ่ม ชาวนาก็ยิ้มได้