ข้าว 5 สี 15 ข้าวหอม คุณค่าจากพันธุ์พื้นบ้าน
ข้าวถือเป็นพืชอาหารหลักประจำวันของคนในสังคมไทยมาตั้งแต่อนาคตจนถึงปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าข้าวเป็นพืชที่สำคัญต่อคนไทยทั้งประโยชน์ต่อร่างกายผู้บริโภค และด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
การทำนาปลูกข้าวของชาวนาจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยีการทำนาไปจากเดิม จากเทคโนโลยีการทำนาแบบพื้นบ้านพึ่งพาตนเอง ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำนาด้วยเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เน้นการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเกษตรจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตและวิถีชีวิตของชาวนา จากการผลิตเพื่อพึ่งพาตนเองนำไปสู่การผลิตเพื่อการตลาด ย่อมส่งผลกระทบต่อพันธุ์ข้าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ผู้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับข้าวมานาน บอกว่า เรื่องพันธุ์พืชถือเป็นหัวใจของระบบเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวที่เราและคนในหลายประเทศยังบริโภคข้าวกันเป็นอาหารหลัก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ใช้ในการผลิตนำไปสู่ปัญหาของระบบอาหารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ความไม่หลากหลายทางสายพันธุ์พืช
ช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือในยุคที่เรียกว่า “ปฏิวัติเขียว” กระแสการใช้สารเคมีถาโถมเข้ามาจนชาวนาหันไปพึ่งพา เมล็ดพันธุ์ขาดการพัฒนาทำให้อ่อนแอ ก็ต้องมีการใช้ปุ๋ยใช้ยาตอบสนองให้กับพันธุ์ข้าว เมื่อเกษตรกรต้องการยกระดับความเป็นอยู่จึงหันไปปลูกข้าวเพื่อขายให้ได้ราคาดี จึงโหมปลูกข้าวสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมหรือได้ผลผลิตที่สูง
กลายเป็นการปลูกข้าวเชิงเดี่ยว หรือปลูกเพียงไม่กี่สายพันธุ์
ส่วนสายพันธุ์ที่ไม่ได้รับความต้องการทางตลาดเกษตรกรก็ไม่ปลูก จนส่งผลให้พืชพันธุ์รวมไปถึงข้าวหลายๆ สายพันธุ์เสี่ยงสูญหาย
มูลนิธิชีววิถี เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรรายย่อย ซึ่งเป็นเครือข่ายในท้องถิ่น ร่วมกันอนุรักษ์และรวบรวมสายพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้โดยเฉพาะข้าว สนับสนุนให้มีการปรับปรุง พัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งชาวนาต้องเป็นชาวนาที่ผสมพันธุ์ข้าวได้ ตลอดจนการปรับจากการทำนาข้าวเชิงเดี่ยวมาสู่การทำนาข้าวหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น โดยมีเครือข่ายโรงเรียนชาวนาเป็นผู้ขับเคลื่อน
“ปัจจุบันเกษตรกรได้เรียนรู้จากปัญหาของการปฏิวัติเขียว จึงหันมาสู่การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เน้นคุณภาพข้าวและคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลัก ตลอดจนสามารถแข่งขันได้” วิฑูรย์ เน้น และชี้ว่า เป็นที่น่ายินดีว่าช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นการขยายตัวการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น หน่วยงานรัฐก็หันมาสนับสนุนมากขึ้น มียุทธศาสตร์เพื่อเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ซึ่งพลังของผู้บริโภคที่ตระหนักร่วมกันจะเกิดพลังใหญ่สามารถที่จะกระตุ้นการผลิตแบบนี้ให้มากขึ้น
“ปกติเรามักจะบริโภคข้าวเจ้ากับข้าวเหนียวซึ่งมีสีขาวเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้ว ข้าวมีสีที่หลากหลายถึง 5 สี ได้แก่ ข้าวสีขาว ข้ามก่ำหรือสีนิล ข้าวสีแดง ข้าวสีเหลือง และข้าวสีน้ำตาล หรือจะเป็นข้าวสีเขียวจากข้าวเม่าด้วยเช่นกัน ซึ่งข้าวแต่ละสีเกิดจากกระบวนการขัดสีที่ให้สีแตกต่างกัน
ส่วนข้าวหอมนอกจากข้าวหอมมะลิที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีข้าวหอมอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมสังข์หยด ข้าวหอมนิล ข้าวหอมดอย ข้าวหอมชลสิทธิ์ ข้าวหอมมะลิแดง เป็นต้น หรือข้าวหอมลืมที่เกษตรกรผสมพันธุ์ข้าวด้วยตัวเอง” วิฑูรย์ แนะนำ
ทั้งนี้ข้าวนานาชนิดนี้อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ และแร่ธาตุ ช่วยป้องกันโรคต่างๆ อีกทั้งยังมี่สารต่อต้านอนุมูลอิสระ อย่างในส่วนข้าวหอมนิลนั้นจะมีโปรตีนเป็น 2 เท่าของข้าวหอมมะลิ และประกอบไปด้วยแร่ธาตุ เหล็ก สังกะสี ทองแดง โปรแทสเซียม และวิตามิน ซีหลายชนิด หรือข้าวสีเหลืองจะมีสารลูทีนซึ่งเป็นสารอาหารเพื่อสุขภาพดวงตา ป้องกันการเกิดตาต้อกระจกได้ เป็นต้น