ไขปมที่ดินอดีตรองนายกฯ ในอุทยานฯสิรินาถ ก่อนค้าง 12 ปีใน ป.ป.ช.
ย้อนรอยที่ดินอดีตรองนายกฯ โผล่ออกโฉนดในเขตอุทยานฯสิรินาถ จ.ภูเก็ต เกี่ยวพัน บิ๊ก กรมที่ดิน ผู้ว่าฯ จนท. ก่อน ป.ป.ช.ใช้เวลาสอบกว่าทศวรรษ ยังไม่เสร็จ คสช.ว่าไง?
กรณีการครอบครองโฉนดที่ดินของนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (หาดในยาง) จ.ภูเก็ต มีปัญหาว่าออกเอกสารสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้
กรณีนี้มีที่มาอย่างไร? สำนักข่าวอิศรา www.isranews. org เรียบเรียงข้อมูลมาแสดงให้เห็นดังนี้
23 พ.ย. 38 นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ มอบอำนาจให้นายอุดล ลีนานนท์ ยื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยหลักฐาน น.ส.3 ก. 2 แปลง เลขที่ 1448 เนื้อที่ 3-0-80 ไร่ และ 1449 เนื้อที่ 5-3-90 ไร่ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
19 ธ.ค.39 สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ขอความร่วมมือสำนักงานป่าไม้ ตรวจสอบที่ดิน น.ส.3 ก.ว่าอยู่ในเขตป่าสงวน หรือไม่
11 ก.พ.40 สำนักงานป่าไม้จังหวัดภูเก็ตแจ้งผลตรวจสอบ ระบุว่าที่ดินอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดในยาง
30 ก.ย.40 นายอำเภอถลาง ทำหนังสือถึงที่ดินจังหวัดภูเก็ต แจ้งผลการตรวจสอบว่าที่ดินไม่อยู่ในความดูแลของฝ่ายปกครอง และไม่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์
18 พ.ย.40 คณะกรรมการพิสูจน์ที่ดิน สรุปสภาพที่ดินเป็นที่ลาด มีการทำประโยชน์เต็มพื้นที่
20 มี.ค.41 จังหวัดภูเก็ตทำหนังสือหารือถึงกรมที่ดินขอความเห็นว่า สามารถออกโฉนดให้นายพิทักษ์ได้หรือไม่ เพราะ น.ส.3ก. ของนายพิทักษ์ (ซื้อต่อมาจากบุคคลอื่น) ออกภายหลังจากมีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหาดในยาง (น.ส.3 ก.ออกเมื่อ 17 ม.ค.28 แต่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหาดในยางวันที่ 1 กรกฎาคม 2524 )
22 ต.ค.41 กรมที่ดินมีหนังสือตอบข้อหารือกรณีที่ดินนายพิทักษ์ว่า ไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดได้ และให้ดำเนินการเพิกถอน น.ส.3 ก.ทั้ง 2 แปลง
17 มิ.ย.42 จังหวัดภูเก็ตมีความเห็นแย้งว่า “ออกโฉนดได้”
1 ก.ค.42 กรมที่ดินมีหนังสือถึงจังหวัดภูเก็ตให้ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของที่ดินนายพิทักษ์เพิ่มเติมอีกครั้ง
31 ส.ค.42 จังหวัดภูเก็ตรายงานผลการตรวจสอบให้กรมที่ดิน
27 ม.ค.43 กรมที่ดินยืนยันความเห็นเดิมว่า ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ และให้เพิกถอน น.ส.3 ก.ทั้ง 2 แปลง
22 มี.ค.43 สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตมีหนังสือเวียนถึงอำเภอถลาง แจ้งผลความเห็นของกรมที่ดิน
2 ส.ค.43 อำเภอถลางไม่เพิกถอน น.ส.3 ของนายพิทักษ์ และยืนยันจะออกโฉนดให้ผู้ขอ
8 ธ.ค.43 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตส่งเรื่องให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) จังหวัดพิจารณา
16 ก.พ.43 กบร.มีมติไม่รับพิจารณา เพราะเห็นว่ากรมที่ดินพิจารณายุติแล้ว
17 ก.พ.44 นายพิทักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ
10 พ.ค.44 ที่ดินภูเก็ตทำหนังสือถึงกรมที่ดินพิจารณาทบทวนเรื่องราวการออกโฉนดที่ดินรายนายพิทักษ์อีกครั้ง โดยอ้างว่า “มีเหตุขัดข้องเกิดความล่าช้าในการดำเนินการให้แก่ผู้ขอเป็นเวลานาน จึงขอให้กรมที่ดินพิจารณาทบทวนแก้ไขระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”
13 ก.ค.44 กรมที่ดินมีหนังสือที่ มท.0729.4/16720 ลงวันที่ 13 ก.ค.44 (นายสมบัติ เอี่ยมไธสง รองอธิบดีกรมที่ดิน ทำหน้าที่แทนอธิบดี) ทำแจ้งว่า
“จากการพิจารณาเรื่องราวทั้งหมด ที่จังหวัดส่งไป เห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่แจก น.ส.3 ก.ให้แก่ผู้นำเดินสำรวจ ออก น.ส.3 ก.ไปแล้วนั้น ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ก็ไม่กระทบกระเทือนสิทธิครอบครองในที่ดินของบุคคลซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนพระราชบัญญัติออกโฉนด(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479 และได้นำเดินสำรวจ ออก น.ส.3 ก. ตามประมวลที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนประกาศให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแต่อย่างใด”
3 ส.ค.44 นายประจิม จันทร์ช่วย เจ้าพนักงานที่ดินภูเก็ต ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ ขออนุมัติออกโฉนดให้แก่นายพิทักษ์
6 ส.ค.44 นายพงศ์โพยม วาศภูติ ผู้ว่าฯ ให้ความเห็นชอบ บันทึกข้อความของฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต วันที่ 7 ส.ค.44 ระบุว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ทราบเรื่องราวดังกล่าวแล้ว และเห็นชอบให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้ผู้ขอต่อไป”
7 ส.ค.44 นายประจิม จันทร์ช่วย แทงความเห็นสั่งการหัวหน้าฝ่ายทะเบียน แจ้งให้ผู้ขอมารับโฉนดที่ดิน
นายพิทักษ์ได้รับโฉนดที่ดินเลขที่ 10023 เนื้อที่ 8-3-44.1/10 ไร่ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.44
7 ก.พ.45 นายพิทักษ์นำโฉนดที่ดินแปลงนี้และที่ดินอีกแปลง เนื้อที่ 36 ไร่ ไปค้ำประกันเงินกู้ จำนวน 69 ล้านบาทจาก บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายหลังออกโฉนด 6 เดือน
13 พ.ค. 45 พรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องต่อ ประธาน กรรมการ ป.ป.ช.ผ่านประธานวุฒิสภา (พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร) ขอให้ถอดถอนนายพิทักษ์ รองนายกฯ ออกจากตำแหน่ง โดยมีข้อกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยให้กรมที่ดินทบทวนกลับคำวินิจฉัยเดิม และออกโฉนดให้แก่ตนเอง ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถออกโฉนดได้
18 ก.พ.46 คณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า
“พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน และผู้เกี่ยวข้องข้างต้น ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ ตามครรลองของข้าราชการที่จะพึงกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของทางราชการ หากแต่การไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏถ้อยคำของพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานอื่นใดที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกล่าวหาได้ใช้อำนาจหน้าที่สั่งการไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมให้กรมที่ดินทบทวนและกลับคำวินิจฉัยเดิม เพื่อให้มีการออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ถูกกล่าวหา”
และ ระบุว่า
“คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกลาวหาตกไป สำหรับเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า ได้พิจารณาทบทวนความเห็นตามหนังสือลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 โดยกลับความเห็นเดิมว่า น.ส.3ก. เลขที่ 1448 และ เลขที่ 1449 ของนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ ออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช. แยกเรื่องเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก”
นับจาก 18 ก.พ.46 จนขณะนี้ผ่านไป 12 ปี กรณีที่ดินของนายพิทักษ์ก็ยังไม่ปรากฏผลสอบสวน จาก ป.ป.ช.
และถ้ามีผู้เข้าข่ายกระทำผิดทางอาญา คดีจะขาดอายุความหรือไม่ ?