โฟกัสรัฐธรรมนูญ 2550 (1) ประตูใหม่ปกป้องสิทธิในชีวิตและร่างกาย
แม้จะถูกจับจ้องจากรัฐบาลว่าจะต้องแก้ไขในบางส่วน แต่หากพิจารณากันอย่างจริงจังรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นับเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับที่พยายามสร้างมิติใหม่ๆ ในเรื่องของประชาธิปไตยและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆเป็นอย่างมาก
แนวทางหนึ่งในการบัญญัติกฎหมายที่ถูกกำหนดไว้ก็คือ คุ้มครอง ส่งเสริม และขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ เช่น เพิ่มประเภทสิทธิและเสรีภาพให้มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพง่ายขึ้นกว่าเดิม ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพมีประสิทธิภาพและมีมาตรการคุ้มครองที่ชัดเจน
ในการทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพง่ายขึ้นกว่าเดิมนั้นดำเนินการโดย
ตัดคำว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออกจากท้ายบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพทั้งหลาย เพื่อส่งสัญญาณว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นทันทีตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่ตามกฎหมาย
สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองไว้ แม้ว่าไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับ ประชาชนก็สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นได้ทันที โดยการร้องขอต่อศาล และต้องส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วยมาตรา 28 ลดจำนวนประชาชนในการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาจาก 50,000 ชื่อ เหลือเพียง 10,000 ชื่อ (มาตรา 142 และมาตรา 271 )
การใช้เสรีภาพที่ง่ายขึ้นกว่าเดิมโดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายอื่นรองรับนั้น ระบุไว้ในมาตรา 28 วรรคสอง ว่า
...บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ...
วิชา มหาคุณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างการเปิดช่องให้ใช้สิทธิเสรีภาพที่กว้างขึ้นผ่านเรื่องของสิทธิในชีวิตและร่างกาย ในมาตรา 32 ว่า
“เรื่องการที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เป็นสิทธิส่วนที่เป็นรูปธรรมที่สุด เพราะว่าประชาชนจะถูกกระทบสิทธิในด้านนี้ง่ายและมากที่สุด โดยเฉพาะจากอำนาจรัฐ ตำรวจ เพราะอาจถูกกกลั่นแกล้งได้ จากกระบวนการเดิมที่ต้องไปอาศัยประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งต้องไปอาศัยอำนาจรัฐอีก แต่นี่เราต้องการให้เขามาถึงศาลได้โดยตรง โดยใช้หลักรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
มาตรา 32 ระบุว่า
...บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
การทรมาน การทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาล หรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามที่บัญญัติไว้ตามความในวรรคนี้
การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติ
ในกรณีที่มีการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนัก อัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับ หรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้...
ความสำคัญที่นับเป็นช่องทางใหม่ในการใช้สิทธิก็คือในวรรคสุดท้าย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้ใช้สิทธิในการปกป้องตนเองได้รวดเร็ว สะดวก และกว้างขวางขึ้น เพราะเมื่อถูกกระทำก็สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายอาญา หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งต้องดูก่อนว่าเหตุที่เกิดขึ้นเข้าตามบทบัญญัติของกฎหมายเหล่านี้หรือไม่
“การใช้สิทธิในลักษณะนี้ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสามัญ ที่ผ่านมาจะไม่มีใครใช้สิทธิทางนี้ เช่น คนอาจถูกล่วงละเมิดไม่ว่าทางหนึ่งทางใด ถูกเอาตัวไปคุมขังไว้ในบ้าน หรือคนเอาตัวผู้หญิงไว้โดยอ้างว่าเป็นภรรยาของตัวเอง หรือผู้ชายอ้อนวอนให้ผู้หญิงไปนอนด้วย หญิงไม่ยอมแล้วใช้วิธีบังคับขู่เข็ญ ผู้เสียหายหรือญาติสามารถไปยื่นคำร้องต่อศาลว่า การกระทำนั้นละเมิดต่อสิทธิในร่างกายเขาเพราะฉะนั้นให้เพิกถอนหรือระงับการกระทำ ไม่ให้ชายผู้นั้นมายุ่มย่ามอีกต่อไปเพราะมาตรานี้พูดไว้อย่างกว้างเลยว่า กระทบต่อสิทธิเสรีภาพก็คือกระทบต่อชีวิตร่างกาย ไม่ว่าอันหนึ่งอันใด
หรือจะให้มีการเยียวยาความเสียหายก็รวมถึงให้ชดใช้ค่าเสียหาย หรือเป็นรูปแบบอื่นก็ได้ เช่น คนมาพังบ้านแล้วเอาตัวเจ้าของบ้านออกไป จะให้มาซ่อมบ้านก็ได้ ที่สำคัญคือไม่ต้องดูว่ามีกฎหมายอะไรรองรับหรือไม่ คือใช้รัฐธรรมนูญได้โดยตัวของมันเองเลย”
“ที่ผ่านมาคนต้องไปอาศัยกฎหมายวิฯอาญา หรือกฎหมายอาญา ถ้าอยากได้ค่าเสียหายก็ต้องไปฟ้องละเมิดทางแพ่งเอา คือไปใช้กฎหมายแต่ละฉบับที่ให้การคุ้มครองอยู่ ไม่ใช่การใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง เรื่องการเยียวยาก็เป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติไว้เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นความก้าวหน้าในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน”
มาตรานี้มีความเกี่ยวข้องกับพนักงานอัยการอยู่มาก กุลพล พลวัน อัยการอาวุโส บอกเล่าถึงการเตรียมการว่า ขณะนี้ทางอัยการได้ร่างระเบียบของพนักงานอัยการเพื่อรองรับมาตรา 32 ไว้แล้ว ซึ่งให้พนักงานอัยการสามารถดำเนินการร้องต่อศาลได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้มาร้องขอ
“มาตรานี้บัญญัติการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพไว้ 2 กรณี คือ กระทบต่อสิทธิในชีวิต เช่น วิสามัญฆาตกรรมโดยมิชอบ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงคนตายโดยอ้างวิสามัญฆาตกรรม หรือแพทย์ทำให้คนไข้ถึงแก่ความตายโดยประมาท หรือการฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่อ้างว่าเป็นการกระทำโดยไม่ปรากฏว่า ผู้ใดเป็นผู้กระทำ (ฆ่าตัดตอน) หรือเจ้าหน้าที่พายามฆ่าโดยอ้างว่ากระทำโดยประมาทในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กระทบต่อสิทธิในร่างกาย เช่น ควบคุม คุมขังโดยมิชอบ”
ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐที่จะต้องเกี่ยวข้องโดยตรง อัยการอาวุโสมีข้อสังเกตถึงปัญหาที่จะต้องพิจารณาในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนยื่นคำร้อง คือ
1.คดีอยู่ระหว่างการสืบสวน สอบสวน ของพนักงานสอบสวนจะสามารถขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสอบสวนที่มีกรณีถูกกล่าวหาได้หรือไม่
2.พนักงานอัยการสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่จำต้องมีผู้มาร้องขอ ซึ่งจะเป็นมาตรการตรวจสอบโดยพนักงานอัยการที่จะกระทำได้อย่างกว้างขวางและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความขัดแย้งกันระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 32 นี้ กับการปฏิบัติหน้าที่แก้ต่างคดีให้กับเจ้าพนักงานและหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนกล่าวหา ตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 ว่ากรณีที่พนักงานอัยการกำลังดำเนินการตามมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ขณะเดียวกันเจ้าพนักงาน หรือหน่วยงานถูกผู้เสียหายฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครองได้ขอให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดีให้พนักงานอัยการควรดำเนินการอย่างใดต่อไป
ประเด็นเหล่านี้คงเป็นเรื่องที่ต้องหาวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องกันต่อไป แต่สิ่งที่เริ่มขึ้นแล้วก็คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายด้วยมาตรฐานสากลจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2550