คุ้ย “เรื่องลับๆของท่านผู้พิพากษา” จุดเริ่มต้นมติลงโทษบิ๊กตุลาการ 7 ราย
"...มีการยืนยันข้อมูลว่า ก่อนหน้าที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) จะมีคำสั่งลงโทษทางวินัยผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 7 ราย ดังกล่าวออกมา ในช่วงปี 2553 มีผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติการณ์ฉันชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้วและเรียกรับผลประโยชน์ และกรณีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่นำไปสู่การขยายผลตรวจสอบข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในเรื่องต่างๆ และขยายผลมาถึงข้อมูลในส่วนของผู้พิพากษา 7 นายที่ถูกลงมติลงโทษทางวินัย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไป.."
นับเป็นข่าวใหญ่ในรอบหลายปีของวงการยุติธรรมประเทศไทย!
เมื่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติสั่งลงโทษทางวินัยผู้พิพากษาชั้นใหญ่ 7 นาย ที่ถูกกล่าวหาว่าให้ประกันตัวจำเลยในคดีข่มขืนกระทำชำเรา และคดียาเสพติดผิดระเบียบและกฎหมาย
ประกอบไปด้วย
1. นายองอาจ โรจนสุพจน์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตรองประธานศาลฎีกา,นายสิงห์พล ละอองมณี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ไล่ออก)
2.ให้ นายอดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ,นายสิทธิชัย พรหมศร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ให้ออก)
3. ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้พิพากษาศาลฎีกา 2 นาย
4.ให้ภาคทัณฑ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1(อดีตรองอธิบดีศาลอาญา)
ทั้งนี้ ทันทีที่ข่าวชิ้นนี้หลุดรอดออกมา คนในแวดวงยุติธรรม ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า การให้ไล่ออก – ให้ออกผู้พิพากษาจากการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ถือ เป็นการลงโทษทางวินัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งและเป็นผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งสูงซึ่งศาลยุติธรรมมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรมมากขึ้นว่า เป็นไปอย่างซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม มีการยืนยันข้อมูลว่า ก่อนหน้าที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) จะมีคำสั่งลงโทษทางวินัยผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 7 ราย ดังกล่าวออกมา
ในช่วงปี 2553 มีผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติการณ์ฉันชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้วและเรียกรับผลประโยชน์
และกรณีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่นำไปสู่การขยายผลตรวจสอบข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในเรื่องต่างๆ และขยายผลมาถึงข้อมูลในส่วนของผู้พิพากษา 7 นายที่ถูกลงมติลงโทษทางวินัย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไป
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในหนังสือ "เมนูคอร์รัปชัน และการแสวงหาผลประโยชน์" ที่เรียบเรียงจากโครงการ ‘คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์’ ที่จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
พบว่า มีการระบุถึงข้อมูล “เรื่องลับๆ ของท่านผู้พิพากษา” เอาไว้ด้วย
หนังสือเล่มนี้ให้ปูมหลังว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 สบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เพื่อพิจารณาลงมติกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า สมศักดิ์ จันทกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีพฤติการณ์ฉันชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้วและเรียกรับผลประโยชน์
โดยที่ประชุม ก.ต.เห็นว่า สมศักดิ์กระทำผิดวินัยร้ายแรงตามที่มีผู้ร้องเรียนจริง จึงมีมติให้ไล่ออกจากราชการ โดยให้สำนักงานศาลยุติธรรมทำหนังสือเสนอโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นยศ พร้อมกับพิจารณาเรื่องการดำเนินคดีอาญา
รายงานการสอบสวน
คณะกรรมการสอบสวนเริ่มต้นจากการวินิจฉัยว่า สมศักดิ์ จันทกุล มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้วจริงหรือไม่
นาง ก. ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนางสาว น. คือผู้กล่าวหาว่า สมศักดิ์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาว น. โดยนาง ก. ให้การว่า ตนทำหน้าที่เป็นเลขานุการของนางสาว น. มีหน้าที่ช่วย จัดทำเอกสาร ติดต่องาน และช่วยเลี้ยงบุตรของนางสาว น. ต่อมา เมื่อนาง ก. รับรู้ว่า สมศักดิ์และนางสาว น. เข้าไปในโรงแรมด้วยกัน จึงนำทะเบียนสมรสของนางสาว น. กับสามี รวมทั้งสูติบัตรของบุตรนางสาว น. กับสามี ให้สมศักดิ์ดู เนื่องจากสงสารสามีของนางสาว น. และบุตร ก่อนที่ตนจะถูกนางสาว น. ไล่ออกจากงานในสำนักงานกฎหมาย ซึ่งมีที่ทำการอยู่ภายในอู่รถของนางสาว น. และสามี
กรณีดังกล่าวคณะกรรมการสอบสวนวินิจฉัยว่า สมศักดิ์รู้ว่านางสาว น. มีสามีแล้ว ประกอบกับแผ่นบันทึกภาพ (ดีวีดี) ของนักสืบที่รับจ้างติดตามพฤติกรรมของนางสาว น. ก็ปรากฏภาพรถของนางสาว น. โดยมีสมศักดิ์เป็นผู้ขับพาเข้าไปในโรงแรมม่านรูด หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง รถ คันดังกล่าวจึงออกจากโรงแรม และเมื่อพิจารณาร่วมกับพฤติกรรมที่แสดงถึงความสนิทสนมและความไว้วางใจระหว่างสมศักดิ์กับนางสาว น. คณะกรรมการสอบสวนจึงเห็นว่าสมศักดิ์กับนางสาว น. มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งเกินกว่าในฐานะลูกค้ากับเจ้าของอู่รถ (ตามที่สมศักดิ์ให้ถ้อยคำ)
กรณีสืบเนื่องจากเรื่องชู้สาว คือพฤติการณ์เรียกรับผลประโยชน์จากคู่ความในคดี เพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือในคดีความ โดยสมศักดิ์ถูกกล่าวหาว่าให้นางสาว น. เป็นผู้ติดต่อในการเรียกและรับเงินสินบน
กรณีดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่นางสาว จ. ทนายความ ซึ่งมีสำนักงานกฎหมายที่พัทยา รับดำเนินการขอประกันตัว ‘คาร์ล’ ชาวต่างชาติรายหนึ่ง ซึ่งถูกดำเนินคดี 3 คดี โดยนางสาว จ. ยื่นขอประกันตัว 3-4 ครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาต คาร์ลจึงต้องการหาทนายความคนใหม่
นางสาว น. ให้ถ้อยคำว่า ได้รับการติดต่อจากนางสาว จ. ให้ช่วยหาทนายความประกันตัวคาร์ล โดยนางสาว น. ตอบตกลง จากนั้นจึงมีการทำบันทึกข้อตกลง ใจความว่า คาร์ลได้โอนเงินจำนวน 3.5 ล้านบาท ให้นางสาว จ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการยื่นขอประกันตัวในคดีอาญา 3 คดี ซึ่งนางสาว จ. นำเงินจำนวนดังกล่าวฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารแห่งหนึ่ง และระบุชื่อหลานของนางสาว น. เป็นเจ้าของบัญชีร่วม โดยหากสามารถดำเนินการให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ทั้ง3 คดี นางสาว จ. จะร่วมลงลายมือชื่อถอนเงินทั้งหมดให้แก่หลานของนางสาว น. ทันที
ต่อมา หลังจากคาร์ลได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็มีการถอนเงินจำนวน 3.4 ล้านบาท(ก่อนหน้านั้นมีการถอนเงินไปแล้ว 100,000 บาท) จากบัญชีของนางสาว จ. และหลานของนางสาว น. ก่อนที่เงินจำนวนนี้จะถูกฝากเข้าบัญชีของนางสาว น. ในเวลาต่อมา
จากการสอบสวนของคณะกรรมการ พบว่า ในสำนักงานกฎหมายของนางสาว น. มีภาพถ่ายของสมศักดิ์ในเครื่องแบบข้าราชการตุลาการประดับสายสะพายติดไว้อย่างเปิดเผย โดยนางสาว น. รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านคดีให้แก่ลูกความทั้งที่ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย แต่ทำบันทึกข้อตกลงรับประกันตัวคาร์ลซึ่งเป็นจำเลยคดีอาญา 3 คดี ในอัตราค่าจ้างสูงถึง3.5 ล้านบาท (ซึ่งเป็นค่าจ้างที่สูงผิดปกติสำหรับการขอประกันตัวจำเลยในคดีอนาจารเด็ก ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน) และมีข้อตกลงว่าหากไม่สามารถประกันตัวได้จะคืนเงินให้ โดยก่อนหน้านั้นไม่มีทนายความคนใดดำเนินการให้ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ แสดงว่าต้องมีผู้รู้กฎหมายให้คำปรึกษาแนะนำ ทำให้นางสาว น. มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการให้ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ และข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าคาร์ลได้รับการประกันตัว โดยมีสมศักดิ์เป็นผู้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 2 คดี คณะกรรมการสอบสวนจึงเชื่อว่า สมศักดิ์เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำนางสาว น. ในการดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
เมื่อพิจารณาประกอบกับความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาวน. จึงเชื่อได้ว่า สมศักดิ์เป็นผู้สนับสนุนนางสาว น. ในการเรียก รับผลประโยชน์จากคาร์ล เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อันเกิดจากคำสั่งอนุญาตของสมศักดิ์
คณะกรรมการสอบสวนจึงเห็นว่า การกระทำของสมศักดิ์ “เป็นการไม่รักษาความลับของทางราชการมิให้รั่วไหล ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ไม่เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดอยู่ในกรอบศีลธรรม จริยธรรม และประเพณีอันดีงามของตุลาการให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบ รับประโยชน์จากบุคคลอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา และเป็นการคบหาสมาคมกับบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนได้เสียและผลประโยชน์เกี่ยวกับคดีความอันกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไปในการประสาทความยุติธรรมของผู้พิพากษา ดังนี้ เป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่รักษาวินัยโดยเคร่งครัด ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหายแก่ราชการ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม ไม่รักษาชื่อเสียงมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว และไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการและจริยธรรมของข้าราชการตุลาการตามที่คณะกรรมการตุลาการกำหนด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาลยุติธรรมและทางราชการอย่างร้ายแรง”
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมของผู้พิพากษาบางคน บางกลุ่ม ในวงการยุติธรรมของเมืองไทย ที่คนในสังคมไทย อาจจะยังไม่เคยรับรู้มาก่อน!
แต่เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว อาจจะต้องอึ้งไปตามๆ กัน