น้ำมันเถื่อนโยงก่อความไม่สงบ?
มุมมองปัญหาไฟใต้ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชัดเจนว่าให้น้ำหนักการสร้างสถานการณ์ไปที่ "ภัยแทรกซ้อน" ซึ่งหมายถึงธุรกิจผิดกฎหมาย ค้าน้ำมันเถื่อน ยาเสพติด ตลอดจนความขัดแย้งส่วนตัว ชู้สาว และการเมืองท้องถิ่น มากยิ่งกว่าปฏิบัติการของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเสียอีก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เอง ก็เคยพูดเอาไว้ เมื่อครั้งลงพื้นที่ชายแดนใต้ก่อนการยึดอำนาจการปกครองไม่นาน
ถึงวันนี้ทุกหน่วยในสังกัดจึงรับลูกกัน "พรึ่บพรั่บ" ล่าสุด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กดตัวเลขคดีความมั่นคง ซึ่งหมายถึงคดีที่เกี่ยวข้องหรือเป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เหลือเพียง 3% กว่าๆ จากคดีอาญาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในพื้นที่
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ส.ค.57 มีการแถลงเรื่องนี้โดย พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. พร้อมทีมงาน ระบุว่าสถิติคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 31 ก.ค.2557 มีคดีอาญารวม 273,120 คดี แยกเป็นคดีอาญาทั่วไป 263,242 คดี คิดเป็น 96.45% เป็นคดีด้านความมั่นคง 9,696 คดี คิดเป็น 3.55%
ถือเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบหลายปีที่เคยแถลงออกมาจากหน่วยงานความมั่นคง เพราะก่อนหน้านี้ตัวเลขสัดส่วนคดีความมั่นคงต่อคดีอาญาทั่วไป อยู่ที่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ และฝ่ายตำรวจเคยแยกแยะคดีจนเหลือราวๆ 8% ซึ่งก็ถือว่าน้อยแล้ว แต่คราวนี้น้อยลงไปอีกมาก
สถานการณ์ความรุนแรงจำนวนหนึ่ง ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่ามาจากขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ซึ่งเป็นขบวนการใหญ่โตในพื้นที่ เพราะมีนักธุรกิจ นักการเมือง ผู้ทรงอิทธิพล และผู้นำระดับสูงในท้องถิ่นเกี่ยวพันกันครบ ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่เข้ายึดอำนาจการปกครองและประกาศใช้กฎอัยการศึกครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ คสช.จึงมีปฏิบัติการ "ตัดไม้ข่มนาม" ทั้งเรียกรายงานตัวทั้งควบคุมตัวผู้ที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนหลายราย
สาเหตุสำคัญที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเม็ดเงินจาก "น้ำมันเถื่อน" เชื่อมโยงถึงกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็เพราะมีข้อมูลว่ามีการแบ่งสรรผลประโยชน์กันระหว่างกลุ่มแกนนำที่ซ่อนตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านกับเครือข่ายผู้ค้าน้ำมันเถื่อน ข้อมูลบางแหล่งอ้างว่ามีการให้หุ้นกันเลยทีเดียว โดยฝ่ายกองกำลังของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ (บางส่วน) มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและให้ความคุ้มครองเครือข่ายผู้ค้าน้ำมันเป็นการตอบแทน
สำหรับคดีความมั่นคงบางคดีที่เชื่อมโยงกับปมน้ำมันเถื่อนอย่างชัดเจนนั้น จากการวิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคง ก็เช่น เหตุการณ์บุกโจมตีฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารราบที่ 15121 (ร้อย ร.15121) หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 หรือฐานพระองค์ดำ ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค.54 ซึ่งจากพยานหลักฐานและพยานบุคคลที่ได้จากการสืบสวนและกระบวนการซักถาม ชี้ชัดว่าเหตุโจมตีฐานดังกล่าวเกิดจากความไม่พอใจของกลุ่มผู้ประกอบการค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่ถูกจับกุมอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการจ่ายรายการ (ส่วย) เพื่อเคลียร์เส้นทางไปแล้ว
และ อ.รือเสาะ ก็มีนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลรายหนึ่งพัวพันกับน้ำมันเถื่อนอย่างชัดเจน
ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านั้น เมื่อปี 52 เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้นบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี ซึ่งถูกซัดทอดจากผู้ต้องหาเจ้าของเต็นท์รถมือสองที่เกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดว่า บริษัทแห่งนี้เป็นผู้จัดหารถยนต์ให้ทีมประกอบระเบิดหลายครั้ง แต่เมื่อเข้าไปตรวจค้นกลับพบหลักฐานเกี่ยวกับการค้าน้ำมันหลบเลี่ยงภาษี มีเครือข่ายขนส่งไปถึงประเทศเมียนมาร์ ด้วยการใช้วิธีขนส่งทางรถยนต์จาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยัง จ.ระนอง และส่งต่อเข้าเมียนมาร์อีกที
เมื่อหลักฐานเชื่อมโยงชัดเจนแบบนี้ จึงขึ้นกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ว่าจะกวาดล้างจริงจังขนาดไหน เพราะหลายฝ่ายกำลังจับจ้อง เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า "ส่วยน้ำมันเถื่อน" จ่ายกันคล่องทุกหน่วย ทุกสี จนอิ่มหมีพีมันกันทั้งภาค งานนี้จึงเป็นงาน "วัดใจ" คสช.ว่าจะเป็น "ของจริง" หรือ "สิ่งเทียมของจริง" เหมือนที่ผ่านๆ มา?!?
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แผนภาพแสดงเครือข่ายผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
2 แผนภาพจุดรับ-ส่งน้ำมันเถื่อนหลังเข้ามาในน่านน้ำอ่าวไทย
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ