สมาคมสถาปนิกสยาม ดันย่านราชประสงค์ นำร่อง “สี่แยกใจดี” เพื่อคนทั้งมวล
สมาคมสถาปนิกสยามฯ จับมือ สสส. ผลักดันโครงการ สี่แยกใจดี นำร่องพื้นที่ย่านราชประสงค์สร้างภูมิทัศน์ที่ดีต่อสาธารณะ ด้านตัวแทน กทม. ขานรับโครงการฯ วอนทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อน
กราฟฟิกตัวอย่างทางเท้าหลังปรับปรุง
วันที่ 7 สิงหาคม 2557 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว “โครงการพัฒนากลไกสนับสนุนการออกแบบและการสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพื่อคนทั้งมวล(โครงการสี่แยกใจดี) พื้นที่นำร่อง ย่านราชประสงค์” ณ โรงแรมเรเนสซองส์ กรุงเทพฯ
พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ประดับสุข อุปนายก สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานโครงการพัฒนากลไกสนับสนุนการออกแบบและการสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพื่อคนทั้งมวล(โครงการสี่แยกใจดี) กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะหลายแห่งยังไม่ได้ทำการปรับปรุงหรือออกแบบให้รองรับการใช้งานของคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น เด็ก คนแก่ ผู้พิการ และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่มีผู้คนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ตามแยกต่างๆ ทางเดินเท้า ฯลฯ คณะทำงานโครงการฯ จึงได้ทำการออกแบบการสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เป็นสากล (Universal Design) ขึ้น โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ๆทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งในเบื้องต้นได้เลือกพื้นที่ย่านราชประสงค์จำนวน 200 เมตร นำร่องจัดทำโครงการสี่แยกใจดี เพื่อเป็นต้นแบบให้มีการขยายผล นำไปใช้กับพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ต่อไป
“ในวันนี้ทางสมาคมฯ ได้ให้รายละเอียดการจัดทำโครงการกับ กทม. ในบางส่วนแล้ว ซึ่งโครงการดังกล่าวก็สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่จะใช้พื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์” ประธานโครงการสี่แยกใจดี กล่าว และว่า โครงการนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่กำหนดให้ดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2558 เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
สำหรับโครงการสี่แยกใจดี จะมีการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ย่านราชประสงค์ด้วยการดำเนินการ 5 อย่างได้แก่ 1.Removing เคลื่อนย้านยสิ่งก่อสร้างที่ไม่จำเป็นออกจากพื้นที่ 2.Refiningกำหนดเขตทางเท้าและระยะผ่อนผัน 1.5 เมตร 3.Leveling ปรับระดับทางลาดให้มีความเสมอกันเพื่อสะดวกต่อผู้ผู้พิการ และประชาชนทั่วไป 4.Greening สร้างพื้นที่สีเขียวให้ริมทางเท้าแบบแนวตั้ง แนวนอน และแบบแขวนให้พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่รับน้ำเพิ่มการซึมซับในเมือง 5. Installing ใช้พื้นที่กำหนดเป็นจุดผ่อนผันและติดตั้งสาธารณูปโภค
ขณะที่นางประภาพรรณ จันทร์นวล ผู้อำนายการกองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ในเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว แต่อยากให้ส่งหนังสือส่งมายัง กทม. เพื่อพิจารณาและกำหนดวาระการหารือก่อน ทั้งนี้ กทม. อยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวต่อไป
“โครงการสี่แยกใจดีนี้ถ้าทุกฝ่ายเห็นด้วย ทาง กทม. เห็นด้วย ก็น่าจะปฏิบัติและดำเนินโครงการไปได้จริง ทั้งถ้าหากย่านราชประสงค์ที่เป็นพื้นที่นำร่องประสบความสำเร็จในอนาคตอาจจะมีขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ” ผอ.กองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง กทม.กล่าว