ผ่าเครือข่ายน้ำมันเถื่อนภาคใต้ ผลประโยชน์หมื่นล้าน-ส่วยทะลัก
ปัญหาขบวนการค้าน้ำมันหลบเลี่ยงภาษี หรือที่เรียกว่า "น้ำมันเถื่อน" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมานาน แต่มาฮือฮาในระยะหลังเมื่อมีการควบคุมตัว นายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือ "เสี่ยโจ้" เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) สหทรัพย์ทวีค้าไม้ เมื่อ 17 มิ.ย.57 ช่วงหลังการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.
ครั้งนั้นตามข่าวที่ปรากฏทางหน้าสื่อ ระบุว่าเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานใน ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อหาหลักฐานเชื่อมโยงกับการค้าน้ำมัน
ระยะหลังฝ่ายความมั่นคงให้ความสำคัญกับเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน เพราะเชื่อว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวโยงเกื้อหนุนกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้ายแรงยิ่งขึ้น โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เรียกกลุ่มปัญหาดังกล่าวว่า "ภัยแทรกซ้อน" มีการตั้งชุดปฏิบัติพิเศษปราบปรามภัยแทรกซ้อนต่อความมั่นคงเป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ดี ต้องให้ความเป็นธรรมกับ "เสี่ยโจ้" ว่า จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถดำเนินคดีในความผิดฐานลับลอบค้าหรือขนส่งน้ำมันหลีกเลี่ยงภาษีกับเขาได้ รวมทั้งธุรกิจทำไม้ที่หลายฝ่ายจับตามองด้วย ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้น หจก.สหทรัพย์ทวีค้าไม้ เที่ยวล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นการบังคับคดีหลีกเลี่ยงภาษีของ "เสี่ยโจ้" ซึ่งถูกศาลพิพากษาล้มละลาย ผู้แทนจากกรมสรรพากรและกรมบังคับคดีจึงต้องตามเข้ายึดอายัดทรัพย์เพื่อนำไปจ่ายภาษีจำนวน กว่า 400 ล้านบาท
การตรวจค้นสำนักงานอีกรอบ ทำให้พบทรัพย์สินมีค่ามากมาย รวมทั้งทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ และเพชร เมื่อบวกกับเงินสดหลายสกุลแล้ว ตีมูลค่าคร่าวๆ กว่า 100 ล้านบาท กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในพื้นที่
เปิดเครือข่าย"บิ๊ก"ค้าน้ำมัน
แม้การสอบสวนเอาผิด "เสี่ยโจ้" ในคดีเกี่ยวกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนจะยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก และยังต้องถือว่า "เสี่ยโจ้" เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน เพราะข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกาะติดเรื่องนี้มาหลายปีชี้ชัดว่า ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่มีอยู่จริง และเป็นเครือข่ายใหญ่เชื่อมโยงเกือบทั้งภาคใต้ เลยไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน
เครือข่ายดังกล่าวนี้มีทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ผู้นำในพื้นที่ และบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย
1.นาย ส. เป็นเครือข่ายใหญ่ที่สุด เป็นตัวกลางออกหน้าเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ
2.นาย น. นักการเมืองท้องถิ่นของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
3.นาย ม. จากบริษัท อ./ฟ. มีฐานอยู่ใน จ.ปัตตานี เคยถูกทหารและดีเอสไอเข้าตรวจค้นเมื่อหลายปีก่อน
4.นาย ม. เจ้าของบริษัท อ. ในอำเภอพื้นที่สีแดงของ จ.นราธิวาส
5.เครือข่ายนายมะ เชื่อมโยงกับยาเสพติด
6.เครือข่ายนาย จ. เจ้าของกิจการเกี่ยวกับน้ำมัน มีเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่
7.บริษัท ก. กับ บริษัท ต. ตั้งอยู่ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
8.สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งหนึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้
ทั้งนี้ บริษัท อ./ฟ. ที่มีฐานอยู่ใน จ.ปัตตานี มีความเกี่ยวโยงกับบริษัท ต.ที่ตั้งอยู่ในรัฐกลันตัน เพราะผู้บริหารบริษัทบางส่วนเป็นชุดเดียวกัน บางคนเป็นเครือญาติกัน โยงถึงครอบครัวของ "คนมีสี" ที่เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงใน จ.ปัตตานีด้วย
จากนราธิวาสถึงเพชรบุรี
การทำงานของเรือบรรทุกน้ำมันในเครือข่ายนี้ คือจะมีเรือใหญ่ หรือเรือบาร์จ (เรือขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับเคลื่อนย้ายสินค้า และมีเรือที่ใช้ขนน้ำมันเป็นการเฉพาะ) เดินทางไปรับน้ำมันที่น่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน นอกน่านน้ำไทย โดยแหล่งที่มาของน้ำมันมี 2-3 แหล่ง คือ ซื้อน้ำมันราคาถูกจากประเทศบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ (ราคาน้ำมันถูกกว่าไทยมาก) และซื้อจากเรือของแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่ลักลอบนำมาขาย
วิธีการรับ-ส่งน้ำมันจะมีการนำน้ำมันประมาณ 700,000 ถึง 2,000,000 ลิตรต่อครั้งเคลื่อนย้ายเข้ามาในอ่าวไทย โดยจะจอดเรือใหญ่บริเวณรอยต่อน่านน้ำไทยกับน่านน้ำสากล เพื่อถ่ายน้ำมันลงเรือเล็ก ซึ่งเครือข่ายผู้ค้ามีเรือประมงดัดแปลงสำหรับบรรทุกน้ำมันโดยเฉพาะจำนวนมากกว่า 50 ลำไปรับน้ำมัน และมีรถบรรทุกอีกจำนวนหนึ่งคอยรับช่วงต่อตามชายฝั่งเพื่อขนส่งทางบกไปยังเป้าหมายต่างๆ ด้วย
เรือประมงดัดแปลงที่ว่านี้ บรรทุกน้ำมันได้ลำละ 30,000 ถึง 200,000 ลิตร โดยจะคอยรับถ่ายน้ำมันจากเรือใหญ่บริเวณรอยต่อน่านน้ำ เพื่อนำไปส่งตามจุดนัดหมายบริเวณชายฝั่ง ตั้งแต่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ยาวไปจนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี สมุทรสาคร และบางครั้งไปถึงรอยต่อน่านน้ำไทยในเขต จ.ระยอง
จุดที่เจ้าหน้าที่มีหลักฐานว่าเป็นจุดขนถ่ายน้ำมัน คือ ในอ่าวไทยใกล้ทะเลสงขลา ใกล้ จ.นครศรีธรรมราช เหนือเกาะสมุยและเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี ใกล้ทะเลชุมพร ใกล้ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทะเลใกล้ จ.ระยอง กับ จ.ตราด
นอกจากนั้น ยังมีเรือประมงดัดแปลงลอยลำขายน้ำมันให้กับเรือประมงที่ผ่านไป-มาในทะเลอ่าวไทยตั้งแต่ จ.ปัตตานี ถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ที่ปรากฏข้อมูลมากที่สุดคือบริเวณอ่าวปัตตานี
เรือประมงดัดแปลงเหล่านี้ นอกจากทำหน้าที่รับน้ำมันจากเรือบาร์จ ขนเข้ามาในน่านน้ำไทยแล้ว ยังมีหน้าที่ลำเลียงเงินสดส่งไปยังเรือใหญ่และเรือบาร์จด้วย เม็ดเงินหมุนเวียนวันละ 60-210 ล้านบาท
ผลประโยชน์เฉียดหมื่นล้าน
ที่มาของน้ำมันหลบเลี่ยงภาษีจำนวนหนึ่ง มาจากโครงการช่วยเหลือเรือประมงของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีเป้าหมายช่วยเหลือเรือประมงที่มีอยู่จริง ประมาณ 200 ลำ แต่ด้วยอิทธิพลของบริษัทที่เป็นเครือข่ายค้าน้ำมันเถื่อนกับ นาย ส. ซึ่งเป็นบุคคลระดับสูงในรัฐกลันตัน จึงมีการนำเรือเถื่อนมาสวมทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิการช่วยเหลืออีกประมาณ 400 ลำ และนำน้ำมันที่ได้ไปขายต่อเพื่อกินส่วนต่าง
หน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินว่า ปริมาณการค้าน้ำมันเถื่อนจากทุกช่องทางของเครือข่ายนี้มีประมาณ 100-150 ล้านลิตรต่อเดือน คิดมูลค่าเป็นเงินไทยประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท โดยทางเครือข่ายได้รับผลประโยชน์เป็นกำไรเน็ตๆ จากการค้าน้ำมันรวมๆ แล้วเดือนละประมาณ 600-800 ล้านบาท ปีละเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และมีการจัดสรรไปยังผู้เกี่ยวข้องในเครือข่าย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขราวๆ 1 หมื่นล้านบาทนี้ เป็นตัวเลขเฉพาะ "กำไร" แต่หากนับเงินหมุนเวียนในธุรกิจค้าน้ำมัน ซึ่งเคยมีการตรวจพบหลักฐานทางบัญชี ปรากฏว่ามีตัวเลขสูงระดับ 5 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
ส่อรับน้ำมัน"แบล็คลิสต์"
บริษัทที่อยู่นอกประเทศไทยแต่ร่วมอยู่ในเครือข่ายค้าน้ำมันหลบเลี่ยงภาษี นอกจาก 2 บริษัทในมาเลเซียที่กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีบริษัทในประเทศเมียนมาร์อีก 1 แห่งด้วย โดยตัวละครสำคัญมีทั้งนักธุรกิจใหญ่ ผู้นำที่ได้รับการยอมรับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักการเมืองระดับท้องถิ่น รวมทั้งผู้มีอิทธิพลระดับสูงของมาเลเซียในรัฐที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากสถานทูตของชาติตะวันตก ระบุว่า เครือข่ายค้าน้ำมันในภาคใต้ของไทยอาจเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ค้าจากประเทศในตะวันออกกลางที่ถูกชาติตะวันตกขึ้นบัญชีห้ามค้าขายน้ำมัน เพราะมีพฤติการณ์สนับสนุนขบวนการก่อการร้าย แต่ประเทศเหล่านี้ปล่อยน้ำมันออกสู่ตลาดมืดผ่านขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในประเทศมุสลิมประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วกระจายต่อมายังเครือข่ายภาคใต้ของไทย โดยน้ำมันจากแหล่งนี้มีรายงานว่าส่งขายไปยังเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทยด้วย
เงินส่วยว่อนทุกสี-(แทบ)ทุกด่าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เครือข่ายค้าน้ำมันหลบเลี่ยงภาษีดำรงอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงมีข้อมูลหลักฐานค่อนข้างละเอียดเช่นนี้ เนื่องจากมีการจ่ายสินบนในลักษณะ "ส่วยรายเดือน" ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วย เกือบทุกระดับ
เงินส่วยส่วนใหญ่จ่ายให้กับ "คนมีสี" ตั้งแต่ระดับสูงถึงระดับปฏิบัติ ทั้งในน้ำและบนบก ทุกพื้นที่ตั้งแต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นไปจนถึง จ.ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี มูลค่าเงินส่วยเท่าที่มีการยืนยันประมาณ 25 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ไม่นับการจ่ายเงินในลักษณะ "อำนวยความสะดวก" หรือ "ดูแล" เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจระดับสูงอีกต่างหาก
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เคยร่วมตรวจสอบข้อมูลส่วยน้ำมันเถื่อน เคยให้ข่าวว่า "หากจะย้ายเจ้าหน้าที่ในภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับเงินน้ำมันเถื่อนแล้วล่ะก็ คงต้องย้ายเกือบหมดทั้งภาค"
ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เล่าว่า เคยนำกำลังชุดเฉพาะกิจลงไปตั้งด่านสกัดการขนยาเสพติดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าเจอรถขนส่งน้ำมันเถื่อนขับเข้าด่าน เมื่อรถจอด คนในรถรีบวิ่งลงมาถามว่า "ยังขาดตกบกพร่องหน่วยไหนอยู่อีกหรือครับ?"
ทำให้เจ้าหน้าที่จากนอกพื้นที่ถึงกับตกใจ เพราะสะท้อนว่าการจ่ายส่วยน้ำมันเถื่อนในพื้นที่เป็นไปอย่างกว้างขวางจริงๆ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แผนภาพแสดงจุดรับน้ำมันเถื่อนนอกน่านน้ำไทย ก่อนกระจายไปส่งยังจุดรับน้ำมันริมชายฝั่งจังหวัดต่างๆ
2 แผนภาพแสดงเครือข่ายผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งโยงใยไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ